ผลการประเมินหมวดความโปร่งใสและความรับผิด

ผลการประเมินธนาคารในปี พ.ศ. 2567 พบว่า ธนาคารทุกแห่งได้คะแนนในหมวดนี้ โดยในภาพรวม ธนาคารส่วนใหญ่ยังคงได้รับคะแนนต่อเนื่องจากปีที่แล้วในเรื่อง การอธิบายกรอบการออกเงินสนับสนุนและการลงทุนขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (ข้อ 1) การเผยแพร่สถิติการออกเสียง (ข้อ 16) และการเผยแพร่รายงานความยั่งยืนที่ทำตามมาตรฐาน GRI 2021 (ข้อ 17 และ 18) ทั้งนี้ มีธนาคารเพียง 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาต ที่จัดให้มีการตรวจทานรายงานความยั่งยืนโดยบุคคลที่สาม (ข้อ 19)

ธนาคาร 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยชื่อรัฐบาลที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไปลงทุน ทำให้ได้รับคะแนนในข้อ 2 เป็นปีแรก

ในหมวดนี้มีการปรับปรุงการให้คะแนนในข้อ 3 กล่าวคือ หากธนาคารเปิดเผยชื่อบริษัทบางส่วนที่ธนาคารลงทุนก็จะได้คะแนนบางส่วนในข้อนี้ ทำให้ธนาคาร 8 แห่งได้รับคะแนนในข้อนี้เป็นปีแรก โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้รับคะแนนจากการเปิดเผยชื่อของบริษัทบางส่วนที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ลงทุน ส่วนธนาคารกรุงเทพ และธนาคารทหารไทยธนชาตได้รับคะแนนจากการเผยแพร่ชื่อกิจการต่าง ๆ ที่ธนาคารถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป

ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแห่งเดียวที่ได้รับคะแนนในเรื่อง การเผยแพร่จำนวนบริษัทที่องค์กรเคยมีส่วนร่วมด้วยในประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม (ข้อ 11) จากการที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ (บลจ. ไทยพาณิชย์ เปิดเผยรายงานจำนวนบริษัทที่ บลจ. ไทยพาณิชย์เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม

ธนาคารทุกแห่งมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนสำหรับปัจเจกบุคคลและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบทางลบจากกิจกรรมของสถาบันการเงิน (ข้อ 24) อย่างไรก็ตาม มีธนาคารเพียง 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต ที่ได้คะแนนเต็มในข้อนี้ จากการจัดให้กลไกรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวครอบคลุมถึงผลกระทบทางลบจากกิจกรรมที่สถาบันการเงินให้การสนับสนุนทางการเงินด้วย

ธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารแห่งเดียวที่มีการระบุชัดเจนถึงการจัดให้มีกระบวนการการร่วมมือกันระงับข้อพิพาทโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ครอบคลุมทั้งการระงับข้อพิพาทภายในและภายนอก โดยเป็นไปตามมาตรฐานของกระบวนการระงับข้อพิพาทนั้น ๆ ทำให้เป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ได้รับคะแนนในเรื่องของการยินดีให้ความร่วมมือในกระบวนการร้องทุกข์ที่เกิดขึ้นในรัฐ เมื่อกรณีที่สถาบันการเงินมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยต้องเข้าสู่กระบวนการร้องทุกข์ดังกล่าว (ข้อ 27)


หมวดความโปร่งใสและความรับผิดประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 27 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน

1. สถาบันการเงินอธิบายกรอบการออกเงินสนับสนุนและการลงทุนขององค์กร ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และอธิบายว่าองค์กรจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขในนโยบายขององค์กร

2. สถาบันการเงินเผยแพร่ชื่อของรัฐบาลที่ตนไปลงทุน (เช่น ลงทุนในกองทุนบำนาญของประเทศนั้นๆ เป็นต้น)

3. สถาบันการเงินเผยแพร่ชื่อของบริษัทที่ตนไปลงทุน

4. สถาบันการเงินเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีที่ผ่านมา บนเว็บไซต์ของสถาบันการเงิน

5. สถาบันการเงินเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อทั้งหมด (เก่าและใหม่) บนเว็บไซต์ของสถาบันการเงิน

6. สถาบันการเงินเผยแพร่ชื่อสินเชื่อโครงการ (project finance) และสินเชื่อธุรกิจทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รวมถึงข้อมูลที่กำหนดในมาตรฐานอีเควเตอร์ (Equator Principles 4)

7. สถาบันการเงินเผยแพร่พอร์ตสินเชื่อตามภูมิภาค ขนาด และอุตสาหกรรม

8. สถาบันการเงินเผยแพร่พอร์ตสินเชื่อในตารางไขว้ (crosstable) โดยผสมข้อมูลสินเชื่อรายอุตสาหกรรมกับข้อมูลสินเชื่อรายภูมิภาค

9. สถาบันการเงินตีพิมพ์เผยแพร่พอร์ตสินเชื่ออย่างละเอียด เช่น โดยใช้มาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลสองหลักแรกของ NACE และ ISIC

10. สถาบันการเงินตีพิมพ์เผยแพร่พอร์ตสินเชื่ออย่างละเอียด เช่น โดยใช้มาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลสี่หลักของ NACE และ ISIC

11. สถาบันการเงินเผยแพร่จำนวนบริษัทที่องค์กรเคยมีส่วนร่วมด้วยในประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม

12. สถาบันการเงินเผยแพร่ชื่อบริษัทที่องค์กรเคยมีส่วนร่วมด้วยในประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม

13. สถาบันการเงินเผยแพร่ผลของการมีส่วนร่วมในประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อมตามข้อ 12. รวมถึงหัวข้อ เป้าหมาย และเส้นตาย

14. สถาบันการเงินเผยแพร่ชื่อของบริษัทที่ตัดสินใจไม่ลงทุนและไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินเนื่องจากประเด็นด้านความยั่งยืน รวมถึงเผยแพร่เหตุผลที่ไม่ลงทุนและไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน

15. สถาบันการเงินเปิดเผยนโยบายการออกเสียง ซึ่งรวมแนวปฏิบัติว่าจะออกเสียงอย่างไรในวาระการประชุมผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

16. สถาบันการเงินเผยแพร่สถิติการออกเสียง

17. สถาบันการเงินเผยแพร่รายงานความยั่งยืน

18. สถาบันการเงินเผยแพร่รายงานความยั่งยืนที่ทำตามข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลทั่วไป (General Disclosures) ในส่วนข้อมูลพื้นฐานการรายงานของมาตรฐาน GRI 2021 (GRI Universal Standard 2021) หรือสอดคล้องกับกรอบการรายงานด้านความยั่งยืนอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับ

19. รายงานความยั่งยืนของสถาบันการเงินได้รับการตรวจทานจากบุคคลที่สาม

20. สถาบันการเงินรายงานการปรึกษาหารือกับองค์กรภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ

21. สถาบันการเงินเปิดเผยการจำแนกสินทรัพย์ แบ่งเป็นสินทรัพย์ที่บริหารภายใน และสินทรัพย์ที่บริหารโดยบุคคลภายนอก

22. สถาบันการเงินเปิดเผยรายชื่อของผู้บริหารสินทรัพย์ภายนอก

23. สถาบันการเงินจัดตั้งกลไกเพื่อสร้างหลักประกันว่า ผู้บริหารสินทรัพย์ภายนอกจะมีส่วนร่วมกับบริษัทที่เข้าไปลงทุนและออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้น ตามนโยบายความยั่งยืนของสถาบันการเงิน

24. สถาบันการเงินมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนสำหรับปัจเจกบุคคลและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบทางลบจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน และกลไกนั้นรวมถึงกิจกรรมที่สถาบันการเงินให้การสนับสนุนทางการเงินด้วย

25. สถาบันการเงินมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่เข้าถึงได้ง่าย และอธิบายกระบวนการรับมือกับข้อร้องเรียนอย่างชัดเจน

26. สถาบันการเงินรายงานความคืบหน้าและผลลัพธ์ของกลไกรับเรื่องร้องเรียน

27. สถาบันการเงินต้องเคารพและยินดีให้ความร่วมมือในกระบวนการร้องทุกข์ที่เกิดขึ้นในรัฐ ทั้งที่มีและไม่มีการพิจารณาคดี เมื่อกรณีที่สถาบันการเงินมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยต้องเข้าสู่กระบวนการร้องทุกข์ดังกล่าว

 

หมายเหตุ: ธนาคารไม่ได้รับการประเมินในข้อที่ 21-23 เนื่องจากธนาคารทั้ง 11 แห่ง ไม่มีสินทรัพย์ที่บริหารโดยบุคคลภายนอก

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

-