ผลการประเมินหมวดธรรมชาติ

ผลการประเมินในปี พ.ศ. 2566 พบว่า มีธนาคารพาณิชย์ 6 แห่งได้รับคะแนนในหมวดนี้ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาต ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาตได้รับคะแนนจากการประกาศไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับธุรกิจที่มีกิจกรรมส่งผลกระทบต่อพื้นที่ซึ่งมีคุณค่าสูงต่อการอนุรักษ์ (High Conservation Values) (ข้อ 2) ซึ่งเป็นปีแรกที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารทหารไทยธนชาตประกาศใช้นโยบายดังกล่าว

ธนาคารกรุงไทยและธนาคารกสิกรไทยได้คะแนนจากการประกาศไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับธุรกิจที่ก่อให้เกิดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำลายหรือบุกรุกระบบนิเวศที่สำคัญ รวมไปถึงพื้นที่คุ้มครองของ International Union for Conservation of Nature: IUCN (IUCN Protected Area Category) (ข้อ 3)

ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาต ได้รับคะแนนจากการกำหนดนโยบายการให้สินเชื่อโดยนำปัจจัยด้านการพิจารณาความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของสินเชื่อโครงการในพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage) (ข้อ 4) และพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Convention on Wetlands) (ข้อ 5) มาใช้เป็นปัจจัยในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ รวมไปถึงมีการระบุนโยบายไม่ให้การสนับสนุนสินเชื่อในกิจกรรมค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ซึ่งขัดต่อข้อกำหนดในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) (ข้อ 7) โดยธนาคารกรุงเทพได้ประกาศนโยบายที่สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินในข้อย่อยที่ 4 เป็นปีแรก ธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงศรีอยุธยามีการประกาศนโยบายที่สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินในข้อย่อยที่ 5 ในปีนี้เป็นปีแรกเช่นเดียวกัน

ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับคะแนนเพิ่มเติมจากการประกาศจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ (The Equator Principles Association: EP) และได้นำหลักการ EP 10 ประการมาใช้ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ของธนาคารซึ่งมีการกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยผลกระทบโดยรวมของโครงการขนาดใหญ่ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างน้อยตามแนวทางที่ระบุในมาตรฐาน GRI 304: Biodiversity 2016 หรือมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ข้อ 13) 

อย่างไรก็ตาม คะแนนรวมจากการประเมินในหมวดธรรมชาติของธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาตปรับตัวลดลง เนื่องจากการประเมินในปีนี้มีการปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมโดยนำเกณฑ์ในข้อ 7 และ 8 ของการประเมินในปี พ.ศ. 2565 ออก ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ธนาคารได้รับคะแนนในการประเมินในปีก่อนหน้า ส่งผลให้คะแนนรวมของทั้ง 5 ธนาคารปรับตัวลดลง


หมวดธรรมชาติประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 15 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน

1. สถาบันการเงินวัดและเปิดเผยรอยเท้าความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity footprint) ของพอร์ตสินเชื่อและพอร์ตลงทุน

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

2. บริษัทป้องกันผลกระทบทางลบต่อพื้นที่ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์สูง (High Conservation Value - HCV - areas) ภายในเขตปฏิบัติการของบริษัทและพื้นที่ที่บริษัทบริหารจัดการ

3. บริษัทป้องกันผลกระทบทางลบต่อพื้นที่ระดับ I-IV ตามการจัดหมวดขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature - IUCN) ภายในเขตปฏิบัติการของบริษัทและพื้นที่ที่บริษัทบริหารจัดการ

4. บริษัทป้องกันผลกระทบทางลบต่อพื้นที่มรดกโลกยูเนสโก (UNESCO World Heritage) ภายในเขตปฏิบัติการของบริษัทและพื้นที่ที่บริษัทบริหารจัดการ

5. บริษัทป้องกันผลกระทบทางลบต่อพื้นที่อนุรักษ์ตามอนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Convention on Wetlands) ภายในเขตปฏิบัติการของบริษัทและพื้นที่ที่บริษัทบริหารจัดการ

6. บริษัทป้องกันผลกระทบทางลบต่อประชากรสัตว์ที่อยู่ในบัญชีแดงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของไอยูซีเอ็น (IUCN Red List of Threatened Species)

7. การค้าพืชและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เป็นไปตามเงื่อนไขในอนุสัญญาไซเตส (CITES)

8. การผลิตหรือการซื้อขายสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากประเทศผู้นำเข้าสินค้าและปฏิบัติตามข้อกำหนดของพิธีสารคาร์ตาเฮนา

9. บริษัทป้องกันการนำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (invasive alien species) (พืชหรือสัตว์) เข้าสู่ระบบนิเวศ

10. สถาบันการเงินไม่ยอมรับการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก (deep sea mining)

11. บริษัทจัดทำการประเมินภาวะขาดแคลนน้ำ และป้องกันผลกระทบเชิงลบในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ

12. บริษัทไม่ริเริ่มปฏิบัติการใหม่ในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาขาดแคลนน้ำ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะแย่งน้ำกับชุมชน

13. บริษัทจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยผลกระทบโดยรวมของโครงการขนาดใหญ่ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างน้อยตามแนวทางที่ระบุในมาตรฐาน GRI 304: Biodiversity 2016 หรือมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

14. บริษัทบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านธรรมชาติเข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการของบริษัท

15. บริษัทใส่หลักเกณฑ์ด้านธรรมชาติเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า