ผลการประเมินหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี พ.ศ. 2567 พบว่า ภาพรวมคะแนนในหมวดนี้เพิ่มขึ้นจาก 0.82 คะแนน ในปี พ.ศ.2566 เป็น 1.10 คะแนน ในปี พ.ศ. 2567 (เพิ่มขึ้น 0.28 คะแนน) โดยธนาคารส่วนใหญ่ได้คะแนนจากการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม (ข้อ 1) โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารออมสิน ได้คะแนนเต็มในข้อนี้ เนื่องจากการกำหนดเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้คะแนนบางส่วน เนื่องจากธนาคารเหล่านี้กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารทิสโก้ และธนาคารออมสินจัดทำและเปิดเผยรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อแนะนำของ Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) เป็นปีแรก (ข้อ 6) (ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ได้คะแนนในข้อนี้อยู่แล้ว) อย่างไรก็ตาม การจัดทำรายงานดังกล่าวของแต่ละธนาคารยังมีระดับการเปิดเผยข้อมูล ที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อมโยงกับพอร์ตบางส่วนที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงินหรือลงทุน (ข้อ 2) ซึ่งพบการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในรายงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต สำหรับธนาคารกรุงไทย ในปีนี้ไม่พบว่ามีการเปิดเผยข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อมโยงกับพอร์ตบางส่วนที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงินหรือลงทุน จึงทำให้ไม่ได้คะแนน
ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารออมสินมีการกำหนดรายการสินเชื่อที่ธนาคารไม่ประสงค์ให้กู้หรือให้การสนับสนุนทางการเงิน (Exclusion List) สำหรับธุรกิจเหมืองถ่านหิน (ข้อ 7) และโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ข้อ 8) (ยกเว้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา) แต่ยังไม่มีธนาคารใดที่กำหนดรายการสินเชื่อที่ธนาคารไม่ประสงค์ให้กู้หรือให้การสนับสนุนทางการเงินครอบคลุมถึงบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจเหมืองถ่าน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน
นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทยได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจากจากการมีผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนให้ลูกค้าเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน (ข้อ 22) โดยธนาคารกรุงเทพมีสินเชื่อสนับสนุนการลงทุนให้ลูกค้าเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ปั๊มความร้อน และธนาคารกสิกรไทยมีสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากการใช้พลังงานหลักจากถ่านหิน มาเป็นการใช้พลังงานสะอาดทดแทน
สำหรับธนาคารที่ได้รับคะแนนลดลงในหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้แก่ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยมีสาเหตุจากการไม่พบนโยบายรายการสินเชื่อที่ธนาคารไม่ประสงค์ให้กู้หรือให้การสนับสนุนทางการเงิน เช่น รายการสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ (ข้อ 8) และโครงการเกษตรกรรมที่แปลงมาจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่กักเก็บคาร์บอนในระดับสูง (high-carbon stock) (ข้อ 24) (เป็นข้อที่ธนาคารเคยได้คะแนนในปีก่อน แต่ไม่ได้คะแนนในปีนี้)