ผลการประเมินหมวดสุขภาพ

ผลการประเมินหมวดสุขภาพปี พ.ศ. 2567 พบว่า ภาพรวมคะแนนในหมวดนี้เพิ่มขึ้นจาก 0.55 คะแนน ในปี พ.ศ. 2566 เป็น 0.72 คะแนน ในปี พ.ศ. 2567 (เพิ่มขึ้น 0.17 คะแนน) ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นของธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารกสิกรไทย โดยธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจากการรับหลักการ Equator Principles ซึ่งต้องปฏิบัติตาม IFC Performance Standards และ IFC Environmental, Health, and Safety Guidelines โดยการรับหลักการดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นในหลายข้อ เช่น การกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารเคารพในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการผลิตและใช้สารพิษและสารอันตรายตามที่ระบุใน Montreal Protocol (สารที่ทำให้   ชั้นโอโซนเป็นรู) ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการผลิตและใช้สารพิษและสารอันตรายตามที่ระบุใน Stockholm Convention (ว่าด้วย Persistent Organic Pollutants - POPs) ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสารเคมีและของเสียเคมี ตามข้อตกลง Basel Convention และข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสารเคมีและของเสียเคมี ตามข้อตกลง Rotterdam Convention (ข้อ 4-7)

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (ได้คะแนนในหมวดสุขภาพเป็นปีแรก) และธนาคารกสิกรไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก  การมีรายการสินเชื่อที่ธนาคารไม่ประสงค์ให้กู้หรือให้การสนับสนุนทางการเงิน (Exclusion List) ในกิจกรรมการผลิตหรือการค้ายาสูบ (ข้อ 14) อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินของธนาคารกรุงไทยลดลง เนื่องจากไม่พบนโยบายรายการสินเชื่อที่ธนาคารไม่ประสงค์ให้กู้หรือให้การสนับสนุนทางการเงิน (Exclusion List) ของธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารป้องกันไม่ให้สุขภาพของลูกจ้าง ลูกค้า และชุมชนใกล้เคียงถูกลิดรอนโดยผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตของบริษัท (ตามหลักความรอบคอบ - precautionary principle) (ข้อ 1) และการกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องเคารพในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการผลิตและใช้สารพิษและสารอันตรายตามที่ระบุใน Stockholm Convention (ข้อ 5) รวมถึงข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสารเคมีและของเสียเคมี ตามข้อตกลง Rotterdam Convention (ข้อ 7) (ธนาคารเคยได้คะแนนในปีก่อน แต่ไม่ได้คะแนนในปีนี้) 

 


หมวดสุขภาพประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 16 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน

-

หัวข้อต่อไปนี้สำคัญสำหรับนโยบายเกี่ยวกับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

1. บริษัทป้องกันไม่ให้สุขภาพของลูกจ้าง ลูกค้า และชุมชนใกล้เคียงถูกลิดรอนโดยผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตของบริษัท (ตามหลักความรอบคอบ - precautionary principle)

2. บริษัทมีนโยบายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ครอบคลุม

3. บริษัทจัดหาเครื่องแบบ และ/หรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่เหมาะสมและคำนึงถึงเพศสภาพให้กับพนักงานทุกคน

4. บริษัทเคารพในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการผลิตและใช้สารพิษและสารอันตรายตามที่ระบุใน Montreal Protocol (สารที่ทำให้ชั้นโอโซนเป็นรู)

5. บริษัทเคารพในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการผลิตและใช้สารพิษและสารอันตรายตามที่ระบุใน Stockholm Convention (ว่าด้วย Persistent Organic Pollutants - POPs)

6. บริษัทเคารพในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสารเคมีและของเสียเคมี ตามข้อตกลง Basel Convention

7. บริษัทเคารพในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสารเคมีและของเสียเคมี ตามข้อตกลง Rotterdam Convention

8. บริษัทลดการปล่อยสารอันตรายออกสู่ผิวดิน น้ำ และอากาศ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่มี (best available technologies - BAT)

9. บริษัทจำกัดการใช้สารเคมีที่มีข้อสงสัยในงานวิจัยวิทยาศาสตร์ว่าอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และถ้าใช้ก็ใช้อย่างระมัดระวังที่สุด (ตามหลักความรอบคอบ)

10. บริษัทยาสร้างความมั่นใจว่าผู้ป่วยที่มีโรคที่สามารถหลีกเลี่ยงได้และรักษาให้หายได้ จะได้เข้าถึงยา

11. บริษัทใช้ยาปฏิชีวนะอย่างระมัดระวังในมนุษย์ เพื่อลดอาการดื้อยาปฏิชีวนะให้เหลือน้อยที่สุด

12. บริษัทผู้ผลิตนมผงทำตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าด้วยการโฆษณานมผง

13. บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ทำตาม WHO Framework Convention on Tobacco Control และประกาศอื่นๆ ของ WHO ว่าด้วยการพิทักษ์สุขภาพของคนและคนรุ่นหลังจากควันบุหรี่

14. บริษัทไม่ยอมรับการผลิตบุหรี่และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาสูบ

15. บริษัทบูรณาการเกณฑ์ด้านสุขภาพในนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและการปฏิบัติการ

16. บริษัทรวมเงื่อนไขทำตามหลักเกณฑ์ด้านสุขภาพ เข้าไปในสัญญาที่ทำกับผู้รับเหมาและคู่ค้า