ผลการประเมินหมวดสิทธิแรงงาน

ผลการประเมินหมวดสิทธิแรงงานในปีนี้พบว่าธนาคารส่วนใหญ่ 7 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีคะแนนรวมที่ลดลงเนื่องจากเกณฑ์ประเมิน FFGI ฉบับปี 2023 มีหัวข้อการประเมินที่เพิ่มขึ้น โดยมีเพียง 2 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารเกียรตินาคินภัทรที่ได้คะแนนรวมเพิ่มขึ้น

ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ได้คะแนนเต็มในเกณฑ์ข้อ 3 จากการประกาศนโยบายที่สอดคล้องกับสาระสำคัญหลักในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (Maternity Protection Convention) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ครบทุกเงื่อนไข ดังนี้ การให้สิทธิพนักงานหญิงที่ลาคลอดได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนในช่วงก่อนและหลังคลอดรวมกันสูงสุด 98 วัน โดยได้สิทธิในการกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งที่ได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าเดิม และการจัดให้มีพื้นที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพนักงานที่เป็นคุณแม่สำหรับปั๊มน้ำนม ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ได้คะแนนบางส่วน เนื่องจากนโยบายที่ธนาคารประกาศครอบคลุมเนื้อหาเพียงบางเงื่อนไขจากสาระสำคัญหลักของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา

ธนาคารเกียรตินาคินภัทรได้คะแนนในหมวดสิทธิแรงงานเป็นปีแรก โดยมีการประกาศนโยบายที่เกี่ยวกับการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด โดยระบุช่องทางในการแจ้งข้อมูล ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสของพนักงานรวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ซึ่งครอบคลุมในประเด็นการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการจ้างงานของพนักงาน กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ได้รับจากการแจ้งเบาะแส อีกทั้งแสดงแผนผังกลไกการร้องเรียนผ่านช่องทางต่าง ๆ (ข้อ 4)

ธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุดในหมวดนี้ โดยเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่มีนโยบายที่กำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องจัดให้มีสภาพการทำงานที่เหมาะสม และปฏิบัติต่อพนักงาน รวมถึงพนักงานที่เป็นแรงงานต่างชาติและแรงงานนอกระบบอย่างเท่าเทียมกัน (ข้อ 14)


หมวดสิทธิแรงงานประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 19 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน

1. สถาบันการเงินเคารพในคำประกาศของ ILO ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work)

2. สถาบันการเงินอย่างน้อยมีการบูรณาการมาตรฐานแรงงานตามคำประกาศของ ILO ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) เข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการขององค์กร

3. สถาบันการเงินเคารพในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (Maternity Protection Convention) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

4. สถาบันการเงินมีขั้นตอนชัดเจนในการจัดการกับข้อร้องเรียนของพนักงานและแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยควรให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

5. บริษัทรับรองสิทธิในการรวมกลุ่มและตระหนักอย่างมีประสิทธิผลในสิทธิในการรวมกลุ่มต่อรอง

6. บริษัทไม่ยอมรับการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบ

7. บริษัทไม่ยอมรับการใช้แรงงานเด็ก

8. บริษัทไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและในที่ทำงาน

9. บริษัทประกาศว่าจะจ้างงานอย่างเป็นธรรม (fair recruitment practices)

10. บริษัทจ่ายค่าแรงที่เลี้ยงชีพและครอบครัวได้ (living wage) แก่พนักงาน

11. บริษัทกำหนดเพดานเวลาทำงาน (สูงสุด 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และทำงานล่วงเวลาสูงสุด 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)

12. บริษัทมีนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยที่ดี

13. บริษัทเคารพในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (Maternity Protection Convention) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

14. บริษัทรับประกันได้ว่าแรงงานข้ามชาติและแรงงานนอกระบบจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และมีสภาพการทำงานที่เท่าเทียมกับลูกจ้างคนอื่น ๆ

15. บริษัทกำหนดสภาพการทำงานที่ดีสำหรับผู้รับงานมาทำที่บ้าน (homeworkers)

16. บริษัทมีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนในการติดตาม และถ้าจำเป็นก็แก้ไข การปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานตามกฎหมายแรงงาน

17. บริษัทจัดตั้งกระบวนการรับและจัดการกับเรื่องร้องเรียนจากพนักงาน เพื่อแก้ไขข้อพิพาทและการละเมิดต่างๆ โดยควรปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้อง

18. บริษัทบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิทธิแรงงานเข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการของบริษัท

19. บริษัทใส่หลักเกณฑ์ด้านสิทธิแรงงานเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า