ในปี พ.ศ. 2567 พบว่า ธนาคารทุกแห่งได้คะแนนในหมวดนี้ โดยธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาต ได้รับคะแนนจากการเปิดเผยรายได้ กำไร อัตรากำลังพนักงาน เงินอุดหนุนจากรัฐ เงินภาษีที่จ่ายรัฐ และสินทรัพย์รวมสำหรับกิจการในทุกประเทศที่เปิดให้บริการ และรายงานในทางที่สอดคล้องกับงบการเงินรวม (ข้อ 1-3) ขณะที่ธนาคาร 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารทิสโก้ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีเฉพาะสาขาในประเทศไทย และเปิดเผยข้อมูลตามที่เกณฑ์กำหนด จึงได้คะแนนในข้อ 1-3 ด้วยเช่นกัน
ธนาคาร 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยรายงานที่สำคัญ ได้แก่ รายได้ กำไร อัตรากำลังพนักงาน เงินอุดหนุนจากรัฐ และเงินภาษีที่จ่ายรัฐ สำหรับกิจการในแต่ละประเทศที่สถาบันเปิดให้บริการ ไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของประเทศทั้งหมด และ/หรือไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมด และรายงานในทางที่สอดคล้องกับงบการเงินรวม (ข้อ 1) ทำให้ได้รับคะแนนในหมวดนี้เป็นปีแรก
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารเกียรตินาคินภัทร เป็นธนาคารเพียงสองแห่งที่ได้คะแนนจากการประกาศว่า ธนาคารจะไม่ใช้โครงสร้างทางภาษีที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขจัดหรือลดภาระทางภาษีผ่านการวางแผนหรือโครงสร้างที่ซับซ้อน และไม่ใช้ประโยชน์จากกฎหมายภาษีในการดำเนินธุรกิจที่ไม่สอดคล้องต่อหลักการและเจตนาของกฎหมายภาษีทั้งธุรกรรมในประเทศและต่างประเทศ (ข้อ 5)
ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับคะแนนจากการเปิดเผยว่า ธนาคารไม่ได้รับคำตัดสินทางภาษีที่มีนัยสำคัญใด ๆ จากหน่วยงานกำกับดูแลภาษีในปีที่ผ่านมา (ข้อ 6) นอกจากนี้ ธนาคารเฉพาะกิจทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้รับคะแนนในข้อดังกล่าวเช่นกัน จากการได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมาย
ธนาคารทิสโก้ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นธนาคาร 5 แห่งที่มีสาขาเฉพาะในประเทศไทย ทำให้ได้รับคะแนนจากการไม่มีบริษัทในเครือ สาขา หรือบริษัทร่วมลงทุนใด ๆ ในเขตอำนาจศาล (jurisdiction) ที่ไม่มีภาษีเงินได้ (ข้อ 7)