ผลการประเมินในปี พ.ศ. 2567 พบว่า ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคาร 4 แห่ง ที่ได้รับคะแนนในหมวดนี้จากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 8 แห่ง
ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทยธนชาต ได้คะแนนในข้อ 1 เป็นปีแรกจากการประกาศว่า ธนาคารปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่ระบุว่า ในกรณีที่กรรมการ/ผู้บริหารกระทำการหรือละเว้นกระทำการอันเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 บริษัทสามารถเรียกคืนประโยชน์จากกรรมการและผู้บริหาร (Clawback) ตามมาตรา 89/18 และ 89/19
ธนาคาร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต ได้รับคะแนนจากการมีนโยบายการตั้งเงินโบนัสตั้งอยู่บนการปรับปรุงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของการปฏิบัติงานการจัดการและการปฏิบัติการภายใน (ข้อ 8) โดยธนาคารทหารไทยธนชาตเป็นเพียงธนาคารแห่งเดียว ที่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นในข้อนี้ จากการกำหนดให้โบนัสของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้บริหารและพนักงานเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับการปฏิบัติงานการจัดการและการปฏิบัติการภายใน เช่น การลดการใช้ทรัพยากรพลังงาน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ ธนาคารทั้ง 4 แห่งยังได้รับคะแนนจากการประกาศนโยบายการตั้งเงินโบนัสตั้งอยู่บนการปรับปรุงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน (ข้อ 9) โดยธนาคารทหารไทยธนชาตได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นในข้อนี้จากการกำหนดให้โบนัสของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้บริหารและพนักงานเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน เช่น การให้สินเชื่อที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงบวก และยอดการรวบหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ของครัวเรือน ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับคะแนนในข้อนี้เป็นครั้งแรก จากการกำหนดให้ค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงพิจารณารวมตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนของการให้บริการทางการเงินกล่าวคือ ตัวชี้วัดด้านการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (sustainable finance)