ผลการประเมินหมวดสิทธิแรงงาน

ในปี พ.ศ 2567 พบว่าธนาคารส่วนใหญ่ 7 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารออมสิน และธนาคารเกียรตินาคินภัทร  มีคะแนนรวมเพิ่มขึ้น

ธนาคารที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย โดยพบว่าธนาคารทั้ง 3 แห่ง มีประกาศนโยบายที่กำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านสิทธิแรงงานที่ครอบคลุมในประเด็นแรงงานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับการประเมินในปีก่อน รวมถึงการรับหลักการสากลมาเป็นแนวปฏิบัติ ดังนี้

  • ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้คะแนนเพิ่มในหมวดสิทธิแรงงานจากการประกาศนโยบายแนวทางการให้สินเชื่อและบริการทางการเงินอย่างยั่งยืน (Sustainable Finance & Advisory Statement) โดยกำหนดรายการสินเชื่อต้องห้าม (Exclusion List) ที่ระบุว่าจะไม่ให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีการแสวงหาประโยชน์จากการใช้แรงงานบังคับหรือแรงงานเด็ก (ข้อ 6 และ 7) นอกจากนี้ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ ส่งผลให้ธนาคารต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของบริษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ในด้านมาตรฐานการดำเนินงานด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (PS) และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัย (Environmental, Health, and Safety - EHS) ซึ่งระบุถึงการกำหนด    แนวปฏิบัติของธนาคารต่อลูกค้า อาทิ การกำหนดให้ลูกค้ามีนโยบายสุขภาพและความปลอดภัย (ข้อ 12) ลูกค้าประกันการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมของแรงงานข้ามชาติและแรงงานนอกระบบ และการมีสภาพการทำงานที่เท่าเทียมกับลูกจ้างคนอื่น ๆ (ข้อ 14) ลูกค้ามีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนในการติดตาม การปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานตามกฎหมายแรงงาน (ข้อ 16) จัดตั้งกระบวนการรับและจัดการกับเรื่องร้องเรียนจากพนักงาน (ข้อ 17) และการกำหนดให้ลูกค้าบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิทธิแรงงานเข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการของบริษัท (ข้อ 18) จึงทำให้ได้คะแนนพื้นฐานและคะแนนในขอบเขตสินเชื่อโครงการในข้อเหล่านี้ด้วย
  • ธนาคารกรุงไทย ได้คะแนนเพิ่มจากการประกาศนโยบายการว่าจ้างที่สอดคล้องกับคำประกาศของ ILO   ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) (ข้อ 1) และมีการเปิดเผยขั้นตอนชัดเจนในการจัดการกับข้อร้องเรียนของพนักงานและแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน (ข้อ 4) รวมถึงการประกาศเข้าร่วมรับหลักการข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UNGC) ส่งผลให้ธนาคารได้คะแนนเพิ่มขึ้น (คะแนนพื้นฐาน) ในเกณฑ์การประเมิน ข้อ 5 และ 8
  • ธนาคารกสิกรไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลให้ครอบคลุมใจความสำคัญในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (Maternity Protection Convention) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) (ข้อ 3) และเปิดเผยนโยบายด้านการลงทุนของธนาคารเพิ่มเติม โดยมีการพิจารณาประเด็นด้านสิทธิแรงงานซึ่งคาดหวังให้ธุรกิจที่ธนาคารจะเข้าไปลงทุนแสดงความรับผิดชอบของธุรกิจในด้านสิทธิแรงงาน อาทิ การรับรองสิทธิในการรวมกลุ่มและตระหนักอย่างมีประสิทธิผลในสิทธิในการรวมกลุ่มต่อรอง การไม่ยอมรับการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบ ไม่ยอมรับการใช้แรงงานเด็ก และไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและในที่ทำงาน (ข้อ 5-8) รวมไปถึงการมีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนในการติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานตามกฎหมายแรงงาน (ข้อ 16)


หมวดสิทธิแรงงานประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 19 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน

1. สถาบันการเงินเคารพในคำประกาศของ ILO ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work)

2. สถาบันการเงินอย่างน้อยมีการบูรณาการมาตรฐานแรงงานตามคำประกาศของ ILO ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) เข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการขององค์กร

3. สถาบันการเงินเคารพในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (Maternity Protection Convention) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

4. สถาบันการเงินมีขั้นตอนชัดเจนในการจัดการกับข้อร้องเรียนของพนักงานและแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยควรให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

5. บริษัทรับรองสิทธิในการรวมกลุ่มและตระหนักอย่างมีประสิทธิผลในสิทธิในการรวมกลุ่มต่อรอง

6. บริษัทไม่ยอมรับการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบ

7. บริษัทไม่ยอมรับการใช้แรงงานเด็ก

8. บริษัทไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและในที่ทำงาน

9. บริษัทประกาศว่าจะจ้างงานอย่างเป็นธรรม (fair recruitment practices)

10. บริษัทจ่ายค่าแรงที่เลี้ยงชีพและครอบครัวได้ (living wage) แก่พนักงาน

11. บริษัทกำหนดเพดานเวลาทำงาน (สูงสุด 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และทำงานล่วงเวลาสูงสุด 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)

12. บริษัทมีนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยที่ดี

13. บริษัทเคารพในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (Maternity Protection Convention) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

14. บริษัทรับประกันได้ว่าแรงงานข้ามชาติและแรงงานนอกระบบจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และมีสภาพการทำงานที่เท่าเทียมกับลูกจ้างคนอื่น ๆ

15. บริษัทกำหนดสภาพการทำงานที่ดีสำหรับผู้รับงานมาทำที่บ้าน (homeworkers)

16. บริษัทมีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนในการติดตาม และถ้าจำเป็นก็แก้ไข การปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานตามกฎหมายแรงงาน

17. บริษัทจัดตั้งกระบวนการรับและจัดการกับเรื่องร้องเรียนจากพนักงาน เพื่อแก้ไขข้อพิพาทและการละเมิดต่างๆ โดยควรปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้อง

18. บริษัทบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิทธิแรงงานเข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการของบริษัท

19. บริษัทใส่หลักเกณฑ์ด้านสิทธิแรงงานเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า