ในปีนี้ธนาคาร 7 แห่ง จาก 11 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้น แม้เกณฑ์ประเมิน FFGI ฉบับปี 2023 ในหมวดความเท่าเทียมทางเพศมีเกณฑ์การประเมินใหม่เพิ่มขึ้น 3 ข้อ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของธนาคารไทยในประเด็นด้านนโยบายหรือแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ
ผลการประเมินหมวดความเท่าเทียมทางเพศในปีนี้ พบว่า ธนาคารส่วนใหญ่ได้คะแนนจากการประกาศนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเพศทุกรูปแบบ (zero-tolerance policy) ในกระบวนการจ้างงานและในการปฏิบัติงาน ที่ชัดเจนว่าคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ (ข้อ 1) และประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ (zero-tolerance policy) ในที่ทำงาน ซึ่งรวมการคุกคามทางวาจา ทางร่างกาย และทางเพศ (ข้อ 2)
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน เป็นธนาคารเพียงสองแห่งที่มีสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งคณะกรรมการ คณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารระดับสูง ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในทุกตำแหน่ง โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยมีสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งดังกล่าว ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในทุกตำแหน่ง (ข้อ 6) และธนาคารออมสิน มีสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งดังกล่าว ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ในทุกตำแหน่ง (ข้อ 7)
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารเดียวที่มีการเปิดเผยสัดส่วนการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของเทียบกับการสนับสนุนทางการเงินแก่ MSMEs ทั้งหมด (ข้อ 9) โดยมีการออกผลิตภัณฑ์ สินเชื่อจากพันธบัตรเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสตรี (Krungsri Women SME Bond) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการหญิงเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น
ธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่มีนโยบายกำหนดให้ลูกค้าต้องมีการจ้างงานที่ต้องให้ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าลูกค้าต้องมีการบริหารการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม (ข้อ 14) จึงทำให้ได้คะแนนในข้อนี้บางส่วน