ผลการประเมินหมวดการขยายบริการทางการเงิน

ผลการประเมินธนาคารในปี พ.ศ. 2567 พบว่า ธนาคารทุกแห่งได้คะแนนในหมวดนี้ โดยในภาพรวม คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ในหมวดนี้มีการปรับปรุงการให้คะแนนในข้อ 10 กล่าวคือ หากธนาคารไม่กำหนดเงินคงเหลือ ในบัญชีขั้นต่ำ (minimum balance) สำหรับบัญชีเงินฝากพื้นฐาน โดยมีเงื่อนไขคือ บัญชีต้องมีการเคลื่อนไหวภายใน 1 ปี ก็จะได้คะแนนบางส่วนในข้อนี้ ทำให้ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้คะแนนบางส่วนในข้อนี้เป็นปีแรก ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นเพียงธนาคารเดียวที่ได้คะแนนเต็มในข้อนี้ จากการมีผลิตภัณฑ์ Kept by krungsri ที่ไม่กำหนดเงินคงเหลือในบัญชีขั้นต่ำและไม่มีเงื่อนไข

ในหมวดการขยายบริการทางการเงิน ธนาคารทุกแห่งได้รับคะแนนใน 6 ข้อ ดังนี้

  • สถาบันการเงินมีนโยบาย บริการ และผลิตภัณฑ์ที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนจนและคนชายขอบ หรือ MSME อย่างเฉพาะเจาะจง (ข้อ 1)
  • สถาบันการเงินมีสาขาในเขตชนบท ไม่ใช่เฉพาะในเมือง (ข้อ 2)
  • สถาบันการเงินมีบริการธนาคารทางมือถือ (mobile banking) และบริการไร้เงินสด (e-money) (ข้อ 3)
  • สถาบันการเงินเผยแพร่เงื่อนไขของบริการทางการเงินในภาษาท้องถิ่น (ข้อ 7)
  • สถาบันการเงินมีนโยบายปรับปรุงความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) ของลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มชายขอบ กลุ่มเปราะบาง และ MSME (ข้อ 8)
  • สถาบันการเงินมีบริการรับหรือโอนเงินในประเทศที่เหมาะสม สะดวก และลูกค้ารายย่อยมีกำลังซื้อ     (ข้อ 12)

นอกจากนี้ ธนาคารส่วนใหญ่ยังได้คะแนนในเรื่อง การมีสัดส่วนสินเชื่อที่ปล่อยให้กับ MSME มากกว่าร้อยละ 10 ของสินเชื่อทั้งหมด (ข้อ 4) การไม่กำหนดว่า MSME ต้องมีหลักประกันในการกู้ (ข้อ 5) และการมีมาตรฐานระยะเวลาการพิจารณาสินเชื่อ และเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ (ข้อ 11)

ทั้งนี้ มีเกณฑ์บางข้อที่มีธนาคารเพียงไม่กี่แห่งได้คะแนน อาทิ ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารเพียงสองแห่งที่ได้รับคะแนนจากการมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย (ข้อ 13)

ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารสองแห่งที่ได้รับคะแนนเต็มจากการมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยให้สตรีและผู้ประกอบการสตรีเข้าถึงการเงินและบริการของธนาคารได้มากขึ้น (ข้อ 14) โดยผลิตภัณฑ์ของธนาคารไทยพาณิชย์คือ สินเชื่อเพื่อโลก เพื่อเรา (Green Forward) ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับธุรกิจที่มีผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนผลิตภัณฑ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา คือ พันธบัตรสำหรับผู้ประกอบการหญิงในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Women SME Bond) นอกจากนี้ ธนาคารทหารไทย ธนชาต ได้รับคะแนนบางส่วนในข้อนี้จากการมีผลิตภัณฑ์สำหรับคู่รัก LGBTQ+ ที่ต้องการกู้ซื้อบ้านและซื้อคอนโดร่วมกัน


หมวดการขยายบริการทางการเงินประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 14 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายของสถาบันการเงินที่สัมพันธ์กับลูกค้ารายย่อย

1. สถาบันการเงินมีนโยบาย บริการ และผลิตภัณฑ์ที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนจนและคนชายขอบอย่างเฉพาะเจาะจง

2. สถาบันการเงินมีสาขาในเขตชนบท ไม่ใช่เฉพาะในเมือง

3. สถาบันการเงินมีบริการธนาคารทางมือถือ (mobile banking) และบริการไร้เงินสด (e-money)

4. สถาบันการเงินมีสัดส่วนสินเชื่อที่ปล่อยให้กับธุรกิจขนาดจิ๋วจนถึงขนาดกลาง (Micro to SME - MSME) มากกว่า 10% ของสินเชื่อทั้งหมด

5. สถาบันการเงินไม่กำหนดว่า MSME ต้องมีหลักประกันในการกู้

6. สถาบันการเงินมีนโยบายเปิดเผยสิทธิของลูกค้า และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์หรือบริการ (รวมถึงความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เกินตัว) สำหรับลูกค้าที่ไม่รู้หนังสือและ MSME

7. สถาบันการเงินเผยแพร่เงื่อนไขของบริการทางการเงินในภาษาท้องถิ่น

8. สถาบันการเงินมีนโยบายปรับปรุงความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) ของลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มชายขอบ กลุ่มเปราะบาง และ MSME

9. สถาบันการเงินไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน หรือคิดค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อยที่สมเหตุสมผล

10. สถาบันการเงินไม่กำหนดเงินคงเหลือในบัญชีขั้นต่ำ (minimum balance) สำหรับบัญชีเงินฝากพื้นฐาน

11. สถาบันการเงินมีมาตรฐานระยะเวลาการพิจารณาสินเชื่อ และเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ

12. สถาบันการเงินมีบริการรับหรือโอนเงินในประเทศที่เหมาะสม สะดวก และลูกค้ารายย่อยมีกำลังซื้อ

13. สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย

14. สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยให้สตรีและผู้ประกอบการสตรีเข้าถึงการเงินและบริการของธนาคารได้มากขึ้น

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

-