ผลการประเมินหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลการประเมินในปี พ.ศ. 2566 พบว่า มีธนาคาร 8 แห่ง ที่ได้รับคะแนนในหมวดนี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารทิสโก้ และธนาคารออมสิน โดยสำหรับธนาคารทิสโก้และธนาคารออมสินได้รับคะแนนในหมวดนี้เป็นปีแรกจากการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ข้อ 1) อย่างไรก็ตาม ธนาคารทิสโก้มีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จึงทำให้ได้รับคะแนนเต็มในข้อนี้ ขณะที่ธนาคารออมสินประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จึงทำให้ได้รับคะแนนบางส่วน

ในภาพรวมหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีคะแนนเฉลี่ยลดลงจาก 0.86 คะแนน ในปี พ.ศ. 2565 เป็น 0.82 คะแนน ในปี พ.ศ. 2566 (ลดลง 0.04 คะแนน) เนื่องจากเกณฑ์ Fair Finance Guide Methodology ฉบับปรับปรุง ค.ศ. 2023 หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีการยกเลิกเกณฑ์การประเมินเดิม 12 ข้อ และเพิ่มเกณฑ์การประเมินใหม่ 14 ข้อ ส่งผลให้ธนาคารหลายแห่งมีคะแนนลดลง 

สำหรับธนาคารที่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมีทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย โดยสำหรับธนาคารกสิกรไทยถือเป็นธนาคารที่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในปีนี้ (เพิ่มขึ้น 68.18%) จากการวัดและเปิดเผยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางที่แนะนำโดย TCFD ซึ่งมีการเปิดเผยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1, 2, และ 3 แบบสัมบูรณ์ (absolute) ในพอร์ตโฟลิโอและสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมดของธนาคาร (ข้อ 2, 3, และ 6) ตลอดจนการประกาศนโยบายที่สอดคล้องกับหัวข้อการประเมินใหม่ อาทิ การกำหนดนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงเหมืองถ่านหิน ธุรกิจค้าถ่านหิน และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับถ่านหิน (ข้อ 7 และ 8) การกำหนดกลยุทธ์และกรอบเวลาที่ชัดเจนในการยกเลิกการสนับสนุนถ่านหิน ที่สอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (ข้อ 12)


 

หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 28 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้สำคัญสำหรับนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน

1. สถาบันการเงินกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สามารถวัดได้ ซึ่งสอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

หัวข้อต่อไปนี้สำคัญสำหรับนโยบายเกี่ยวกับการจัดการพอร์ตสินเชื่อและพอร์ตการลงทุนของสถาบันการเงิน

2. สถาบันการเงินเปิดเผยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 2 และ 3 แบบสัมบูรณ์ (absolute) ที่เชื่อมโยงกับพอร์ตบางส่วนที่สถาบันการเงินให้การสนับสนุนทางการเงินหรือลงทุน

3. สถาบันการเงินเปิดเผยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 2 และ 3 แบบสัมบูรณ์ (absolute) ที่เชื่อมโยงกับพอร์ตทั้งหมดที่สถาบันการเงินให้การสนับสนุนทางการเงินหรือลงทุน

4. สำหรับสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ สถาบันการเงินประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (climate risks) เป็นข้อมูลประกอบการประเมิน

5. สำหรับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ให้การสนับสนุนทางการเงินหรือลงทุน สถาบันการเงินกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่วัดได้แบบสัมบูรณ์ (absolute) และสอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

6. สถาบันการเงินวัดและเปิดเผยผลกระทบที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางที่แนะนำโดย Task Force on Climate-related Financial Disclosures

 

หัวข้อต่อไปนี้สำคัญสำหรับนโยบายเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ของสถาบันการเงิน

7. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุน กับบริษัทที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเหมืองถ่านหินชนิดให้ความร้อน (thermal coal) แห่งใหม่

8. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุน กับบริษัทที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่

9. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุน กับบริษัทที่มีธุรกิจเหมืองถ่านหินชนิดให้ความร้อน (thermal coal) มากกว่าร้อยละ 20 ของกิจกรรมทั้งหมดของบริษัท (เช่น วัดจากรายได้รวม)

10. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุน กับบริษัทที่มีธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหิน มากกว่าร้อยละ 20 ของกิจกรรมทั้งหมดของบริษัท (เช่น วัดจากรายได้รวม)

11. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุน กับบริษัทที่ผลิตถ่านหินชนิดให้ความร้อน (thermal coal) มากกว่า 10 ล้านตันต่อปี และ/หรือมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินมากกว่า 5 กิกะวัตต์

12. สถาบันการเงินมีกลยุทธ์การยกเลิกการสนับสนุนถ่านหินที่มีกรอบเวลาชัดเจน และสอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

13. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุน กับบริษัทที่มีธุรกิจถ่านหินชนิดให้ความร้อน (thermal coal) และ/หรือ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

14. บริษัทที่มีส่วนร่วมในการสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ จะไม่ได้รับการลงทุนและการสนับสนุนทางการเงิน

15. สถาบันการเงินมีกลยุทธ์การยกเลิกการสนับสนุนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีกรอบเวลาชัดเจน และสอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

16. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุน กับบริษัทที่มีธุรกิจการสกัดน้ำมันจากทรายน้ำมัน (tar sands)

17. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุน กับบริษัทที่มีธุรกิจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติคิดเป็นรายได้มากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้รวมของบริษัท

18. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุน กับบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

19. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุนอย่างสิ้นเชิง กับบริษัทที่มีธุรกิจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และ/หรือการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

หัวข้อต่อไปนี้สำคัญสำหรับนโยบายเกี่ยวกับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

20. บริษัทเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 2 และ 3

21. บริษัทลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 2 และ 3 ซึ่งสอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

22. บริษัทเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน

23. บริษัทมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าปฐมภูมิ (zero deforestation of primary forest)

24. สถาบันการเงินจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการเกษตรกรรมที่แปลงมาจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่กักเก็บคาร์บอนในระดับสูง (high-carbon stock)

25. การผลิตวัสดุชีวภาพ (biomaterials) เป็นไปตามหลักการ 12 ข้อ ของ Roundtable on Sustainable Biomaterials (RSB)

26. บริษัทไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการล็อบบี้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม (พยายามส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของหน่วยงานกำกับดูแล) ที่พุ่งเป้าไปยังการทำให้นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอ่อนแอลง

27. บริษัทบูรณาการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการของบริษัท

28. บริษัทใส่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า