สถานการณ์หนี้ภาค SMEs ไทยและทางไปต่อ

14 ธันวาคม 2563

แม้จะผ่านช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาได้หลายเดือนแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวของบางธุรกิจยังคงเป็นไปได้ช้า อย่างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ฟื้นตัวเพียง 26% ของช่วงก่อนโควิด-19
.
ในวันที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมกำลังฟื้นตัว มาตรการพักชำระหนี้ก็ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา คำถามคือทางไปต่อหลังจากนี้ สถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการรองรับอย่างไรเพื่อไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องชะงัก...
.
Fair Finance Thailand ชวนทุกคนมาร่วมอ่าน ร่วมคิด และหาทางออกไปด้วยกัน…
จากช่วงมาตรการพักชำระหนี้ทั่วไปที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลว่ามีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าร่วมมาตรการรวมทั้งสิ้น 1.05 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ธนาคารรัฐ 4 แสนล้านบาท และลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank 9.5 แสนล้านบาท
.
ในฐานะที่ SME เป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากที่สุด การออกแนวทางและมาตรการช่วยเหลือจะเป็นเหมือนอาหารเสริมที่ช่วยเร่งฟื้นฟูสุขภาพทางการเงินของคนกลุ่มนี้ โดยต้องควบคู่ไปพร้อมกับการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้รายย่อยเพื่อให้มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะพาเศรษฐกิจประเทศฟื้นกลับมาดีขึ้นในที่สุด
สำหรับระยะเวลาหลังจากหมดช่วงมาตรการพักชำระหนี้ทั่วไป สถาบันการเงินจะหารือกับลูกหนี้ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคำนึงถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจและการชำระหนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย
.
กลุ่มลูกหนี้ที่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ หมายความว่ามีรายได้และมีกำลังในการชำระหนี้แล้ว สามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อกลับเข้าระบบชำระหนี้ตามปกติหลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ได้
.
การกลับไปชำระหนี้ นอกจากจะช่วยลดภาระหนี้และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนแล้ว ยังทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ยังได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 ได้ด้วย
กลุ่มลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัว
.
เป็นกลุ่มที่มีกำลังชำระหนี้ได้บางส่วนด้วยรายได้ที่ไม่แน่นอน สถาบันการเงินจะเข้าเจรจากับลูกหนี้เพื่อใช้มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมทั้งปรับเงื่อนไขการชำระหนี้โดยสามารถให้คงสถานะลูกหนี้ไม่ให้เป็น NPL ระหว่างการเจรจาได้ถึงสิ้นปี 2563
กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนไม่สามารถกลับไปดำเนินธุรกิจได้ สถาบันการเงินมีหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลือจนกว่าลูกหนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากพอที่จะชำระหนี้ได้ โดยอาจเสนอมาตรการเช่น พิจารณาขยายระยะเวลาชะลอการชำระหนี้เป็นรายกรณีต่อไปอีก โดยไม่ควรเกิน 6 เดือน นับจากสิ้นปี 2563
.
และกลุ่มที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน ควรติดต่อกลับไปเพื่อหาทางออกร่วมกัน ป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสีย หรือหากมีปัญหาการติดต่อสถาบันการเงินหรือยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ สามารถแจ้งความต้องการผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” ที่ลิงก์นี้ https://www.1213.or.th/App/DebtCase
.
ทุกปัญหาย่อมมีทางออก อย่าปล่อยให้ปัญหาหนี้บานปลาย เพราะนอกจากจะส่งผลเสียกับตัวเอง ยังส่งผลถึงสภาพคล่องของสถาบันการเงิน ลามไปถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ การหันหน้าคุยกันเพื่อหาทางออกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราผ่านความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน