ปัญหาหนี้เกินตัว ธนาคารช่วยแก้ได้อย่างไร

14 กุมภาพันธ์ 2563

หากบอกว่าเรื่องหนี้ เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่สุดของคนไทยก็คงไม่ผิด

หลายคนถึงขั้นทำร้ายร่างกายตัวเอง และผู้อื่น บางคนต้องไปกู้ตรงนั้นมาจ่ายตรงนี้ จนกลายเป็นภาระผูกพัน ไม่สามารถจัดการได้

ปัจจัยหนึ่งมาจากการใช้เงินในอนาคต โดยไม่มีแผนรองรับว่าจะจัดการอย่างไรต่อ เพื่อไม่ให้คนไทยตกอยู่ในสภาวะหนี้เกินตัว สถาบันการเงินจึงต้องมีบทบาทช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ หรือหากเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีมาตรการจัดการไม่ปล่อยให้สถานการณ์ลุกลามหรือเลวร้ายลง

Fair Finance Thailand จึงอยากชักชวนทุกคนมาทำความเข้าใจว่า ธนาคารไทยควรจะมีวิธีรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

รู้หรือไม่ ทุกวันนี้ คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น-มากขึ้น-นานขึ้น

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี” ปรับตัวสูงขึ้นจาก 53.5% เมื่อปี 2552 เป็น 78.7% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2562 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค รวมแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 13 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

หนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยก่อหนี้เกินตัว มาจากความย่อหย่อนของนโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน

เนื่องจากทุกวันนี้ หลายธนาคารต่างพยายามหาลูกค้าใหม่ๆ ด้วยการสร้างแคมเปญเพื่อจูงใจลูกค้ารายย่อย เช่น เสนอวงเงินสูงแบบดาวน์ต่ำ หรือไม่ต้องมีเงินดาวน์ ทั้งขยายเวลาผ่อนชำระยาว

สถาบันการเงินบางแห่งยอมปล่อยกู้ โดยไม่คำนึงว่าเงินกู้นั้นจะมากถึง 50-60 % ของรายได้ที่มี ขอเพียงมีแค่หลักประกัน อย่าง รถแลกเงิน หรือเงินแลกบ้าน ก็เพียงพอแล้ว จนหลายครั้งผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามนัด และกลับมากระทบต่อธนาคารอีกทอดหนึ่ง

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ทุกวันนี้คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น อายุ 29 ปี ก็กลายเป็น NPL แล้ว (หนี้เสีย) แถมยังมีหนี้เยอะ โดยเฉลี่ยตกหัวละ 552,499 บาท และแม้จะเข้าสู่วัยเกษียณ ภาระหนี้ก็ไม่ลดลงแต่อย่างใด

โดยที่มาของหนี้ หากเป็นวัยเริ่มทำงาน มักมีปัญหาเรื่องบัตรเครดิต เพราะใช้เงินเกินตัว ทั้งที่ไม่มีกำลังจ่ายคืน รองลงมาก็จะเป็นทรัพย์สินอย่างบ้าน หรือรถ ส่วนผู้สูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ประจำ มักมีปัญหาที่ชอบหยิบยืมเงินในอนาคตที่คาดว่าจะได้แน่นอน อย่างเงินบำเหน็จบำนาญมาใช้ ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คิดไว้ จนกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด (https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/Publications/DobLib_Loan/ConsultationPaperRL_Directive.pdf)

เมื่อลูกค้ารายย่อยเกิดภาวะหนี้เกินตัวขึ้นมา ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ก็คือสถาบันการเงิน ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เพื่อติดตามหนี้คืนมา หรือรุนแรงสุดอาจกลายเป็นหนี้เสีย

อย่างช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 พบว่า ธนาคารกรุงไทย มี NPL สูงสุดที่ 107,438 ล้านบาท รองลงมา คือ ธนาคารกรุงเทพมี NPL ที่ 86,221 ล้านบาท และธนาคารกสิกรไทยมี NPL ที่ 79,368 ล้านบาท (https://www.prachachat.net/finance/news-383823)

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้แต่ละธนาคารต้องใช้เงินมหาศาล เพื่อตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ เช่นเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งสำรองสูงสุดที่ 15,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
Fair Finance Thailand จึงขอแนะนำ สิ่งที่ธนาคารควรทำ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าไม่ให้เกิดหนี้เกินตัว
เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เกินตัว สิ่งแรกที่ธนาคารควรทำ คือการสร้างพื้นฐานเรื่องวินัยการเงินแก่ลูกค้า รวมถึงพฤติกรรมการเงินที่เหมาะสม ตลอดจนแนะนำวิธีการบริหารหนี้ที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เพราะต้องยอมรับว่า องค์ความรู้เหล่านี้ไม่ได้ถูกปลูกฝังในห้องเรียนเท่าที่ควร จึงถือโอกาสดีที่สถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งมีเครื่องมือ และทรัพยากรเป็นจำนวนมาก จะเข้าไปอุดช่องว่างให้เหลือน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ในต่างประเทศยังมีแอพพลิเคชันที่คอยช่วยแจ้งเตือนภาระหนี้ เช่น Debt Free หรือ Debt Payoff Assistant ซึ่งสามารถช่วยวางแผนการชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับรายได้ของแต่ละคน ทว่าในเมืองไทยยังไม่ค่อยมีผลิตภัณฑ์ประเภทนี้เท่าที่ควร
อีกประเด็น คือ การกำหนดนโยบายของสถาบันการเงินให้เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาธนาคารหลายแห่งมีแนวคิดให้ค่าตอบแทนพนักงานที่ทำยอดขายได้ดี ทำให้หลายคนพยายามขายสินค้าและบริการให้ได้มากที่สุด โดยไม่คำนึงว่า สอดคล้องกับสถานภาพทางการเงินของลูกค้าหรือไม่

เพื่อให้ลดปัญหา ธนาคารจึงควรรัดกุมในการสินเชื่อมากขึ้น โดยอาจต้องจัดทำรายงานประเมินพฤติกรรมการให้สินเชื่อรายย่อย รวมถึงติดตามกลุ่มผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูง และคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
.
ที่สำคัญจะต้องไม่เสนอบริการที่เสี่ยงมากเกิน อาทิ รีไฟแนนซ์แก่ลูกค้าโดยให้วงเงินใหม่เพิ่มสูงเกินจำเป็น หรือชักจูงให้ลูกค้าเปลี่ยนวงเงินบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้เป็นสินเชื่อบุคคล (https://www.prachachat.net/columns/news-359405)
กรณีที่ลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ สถาบันการเงินควรช่วยหาทางออกหรือแนวทางแก้ปัญหา อาทิ การสนับสนุนให้ลูกค้าที่ยังพอมีศักยภาพ เช่น เต็มใจที่ไม่ก่อหนี้เพิ่ม และพร้อมเรียนรู้การสร้างวินัยทางการเงินที่ดี หรือมียอดหนี้เงินต้นค้างชำระไม่สูงเกินไป เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้

ทุกวันนี้ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวมกันจัดทำ “โครงการคลินิกแก้หนี้” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันกับเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งปกติการปรับโครงสร้างหนี้จะทำได้ยาก เนื่องจากเจ้าหนี้แต่ละราย มีหลักเกณฑ์ที่ต่างกันและลูกหนี้จะต้องเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละรายด้วยตนเอง โดยมีบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เป็นตัวกลางที่เจรจากับลูกหนี้แทนเจ้าหนี้ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนรายย่อยมีโอกาสแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จและสามารถหลุดจากวงจรหนี้
สุดท้ายคือ การติดตามหนี้อย่างเหมาะสม

ตามประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ระบุว่า ห้ามเจ้าหนี้ทวงหนี้เกิน 1 ครั้งต่อวัน จันทร์-ศุกร์ ทวงได้ 8 โมง-2 ทุ่ม วันหยุดราชการ ทวงได้ 8 โมง-6 โมงเย็น

ที่สำคัญจะต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ทั้งนโยบาย แนวทาง และขั้นตอน ตลอดจนบริษัทที่ได้รับมอบหมายในการทวงหนี้ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิ หรือการหลอกลวงใดๆ ก็ตาม