ธนาคารกับฝุ่น PM2.5 : กรณีศึกษาจากต่างประเทศ

03 มกราคม 2563

พอเข้าฤดูหนาวแล้ว ปัญหาฝุ่นควันพิษก็กลับมาวิกฤตอีกครั้ง
คำถามสำคัญคือเราทำอะไรได้บ้างเพื่อแก้ปัญหานี้ นอกจากหยิบหน้ากาก N95 มาใส่ป้องกันตัวเอง

Fair Finance Thailand อยากชวนไปศึกษากรณีแบบเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแนวปฏิบัติเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่รับผิดชอบ โดยให้ธนาคารภายในสิงคโปร์มีส่วนรับผิดชอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับดำเนินการอย่างจริงจัง ในฐานะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญที่ก่อผลกระทบต่อประชาชน และเศรษฐกิจ

ย้อนกลับไปในปี 2558 ประเทศสิงคโปร์เกิดปัญหาฝุ่นควันครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ อันเนื่องมาจากฝุ่นควันพิษที่ลอยข้ามพรมแดนมาจากประเทศอินโดนีเซีย

ประชาชนชาวสิงคโปร์จำนวนมากออกมาเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข หนึ่งในนั้นคือเรียกร้องให้ “ธนาคารในสิงคโปร์” โดยเฉพาะธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทที่เชื่อมโยงกับการเผาป่าทำการเกษตรใหญ่ในอินโดนีเซีย ต้นตอหลักของปัญหา

เพราะจากรายงานของ คณะกรรมการประสานงานการลงทุนแห่งอินโดนีเซีย ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2558 สิงคโปร์ได้ลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ของอินโดนีเซียถึง 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อ่านเพิ่มเติม >> https://www.todayonline.com/commentary/putting-brakes-haze-financing-0)

ที่ผ่านมา ธนาคารในสิงคโปร์มักถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าละเลยที่จะให้ความสำคัญกับมาตรฐาน ESG ด้วยเหตุนี้ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกันนั้น สมาคมธนาคารสิงคโปร์ (ABS) จึงออกแนวปฏิบัติว่าด้วยการปล่อยสินเชื่อที่รับผิดชอบ เป็นครั้งแรก

แนวปฏิบัติดังกล่าวพูดถึงการบูรณาการประเด็น ESG ที่สำคัญในสิงคโปร์ อย่างเช่น การปล่อยสินเชื่อให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า สิทธิมนุษยชน และจริยธรรม รวมทั้งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกลั่นกรองสินเชื่อและกิจกรรมอื่น ๆ ของธนาคารด้วย

ภายใต้แนวปฏิบัติดังกล่าว ธนาคารสิงคโปร์กำหนดให้เปิดเผยคำมั่นสัญญาจากผู้บริหารระดับสูงว่าธนาคารมุ่งมั่นที่จะปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ จะพัฒนากลไกธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้อง และจะเสริมสร้างศักยภาพ ภายในองค์กร เพื่อให้บุคลากรของธนาคารมีความสามารถที่จะปฏิบัติตามแนวปฏิบัตินี้ได้

นอกจากนี้ ธนาคารที่ประกาศรับแนวปฏิบัติดังกล่าวจะต้องเผยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล กับระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคาร เผยแพร่จุดยืนและการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อที่ยั่งยืนว่าเป็นวาระสำคัญของธนาคาร ไว้ในรายงานประจำปีและบนเว็บไซต์ และเปิดเผยสาร จากประธานกรรมการหรือซีอีโอในประเด็นดังกล่าว รวมถึงกรอบการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้อง

กลับมาที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงแนวนโยบายการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ไปแล้ว

ดังนั้นคงจะดีไม่น้อย ถ้าธนาคารไทยจะนำนโยบายด้านการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบมาใช้อย่างจริงจังกับเรื่องฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีข้อมูลวิจัยระบุว่า ปัญหาฝุ่นควันพิษบ้านเรา มีสาเหตุสำคัญมาจาก ควันพิษจากการจราจร การเผาไหม้จากภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การเผาศพ (อ่านเพิ่มเติมที่ >> https://mgronline.com/live/detail/9620000002507)

ธนาคารอาจกำหนดนโยบาย เช่น ไม่ให้สินเชื่อกับบริษัทการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการถางป่า เผาไร่ สนับสนุนบริษัทที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด หรือกำหนดให้บริษัทอุตสาหกรรมที่มาขอสินเชื่อต้องติดตั้งเครื่องที่กรองมลพิษได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อยับยั้งมลภาวะที่กำลังคุกคามโลกใบนี้ต่อไป