โลกร้อน!! ธนาคารช่วยได้

05 มีนาคม 2563

หมีขั้วโลกจมน้ำ ไฟป่า พายุทวีความรุนแรง และอีกสารพัดปัญหาที่เกิดจาก ‘โลกร้อน’

หลายคนอาจเรื่องทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับ ‘ธนาคาร’ แต่บอกได้เลยว่า คุณกำลังคิด ‘ผิด’

เพราะต้นเหตุหลักที่นำมาซึ่งปัญหานี้ก็มาจากการพัฒนาที่ปราศจากความรับผิดชอบ และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเบื้องหลังเงินทุนที่มานำมาใช้ ส่วนใหญ่ก็มาจากธนาคารต่างๆ ซึ่งอนุมัติสินเชื่อนั่นเอง

Fair Finance Thailand จึงอยากชักชวนทุกท่านไปเรียนรู้ว่า ธนาคารไทยควรจะมีบทบาทอย่างไรจึงจะช่วยยับยั้งไม่ให้ปัญหานี้ลุกลามมากไปกว่านี้

......

เมื่อต้นปีนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่าปี 2562 เป็นปีที่ร้อนสุดเป็นอันดับ 2 เท่าที่เคยบันทึกมา โดยสูงกว่าอุณหภูมิช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.15 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มที่ร้อนขึ้นอีกในปีนี้

อุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหากระจายไปทั่วโลก เช่นแผ่นน้ำแข็งที่เกาะกรีนแลนด์ละลายถึง 3.29 แสนล้านตัน เกิดคลื่นความร้อนถึงขั้นเสียชีวิตในยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกิดพายุใหญ่ทำลายทั่วตะวันออกเฉียงใต้ของแอฟริกา เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในออสเตรเลียและรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา

มองเผินๆ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับธนาคารเลย แต่ความจริงแล้วธนาคารมีบทบาทสูงมาก ในฐานะแหล่งทุนหลักของบริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นธนาคารจึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และหากยังปล่อยให้ปัญหาดำเนินต่อไป สุดท้ายธนาคารก็จะต้องแบกรับความเสี่ยงอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

(ที่มา : https://news.thaipbs.or.th/content/288016, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/856993)

 

แม้จะเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก แต่ดูเหมือนธนาคารในเมืองไทยจะไม่ได้มีมาตรการชัดเจนเท่าใดนัก โดยในปีแรกที่มีการประเมิน Fair Finance พบว่ามีเพียง 2 ธนาคารเท่านั้นที่ได้รับคะแนนในหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ซึ่งประกาศนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรลง และมีเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งเปิดโครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยพิจารณาสินเชื่ออัตราพิเศษแก่ผู้ประกอบการที่สนใจติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดการใช้พลังงาน และลงทุนก่อสร้างอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

สำหรับในปีที่ 2 แม้จะมีบางธนาคารที่ได้คะแนนในหมวดนี้เพิ่มเติม แต่ก็ยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ดี เมื่อเทียบกับวิกฤตการณ์ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้


คำถามคือ ธนาคารควรมีมาตรการอย่างไร เพื่อแก้ปัญหานี้

หากพิจารณาตามเกณฑ์ของ Fair Finance Guide International สิ่งที่สำคัญสุดคือ การกวาดบ้านของตัวเองให้เรียบร้อย ด้วยการไม่เป็นต้นเหตุในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเสียเอง โดยสถาบันการเงินจะต้องกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้สอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ที่สำคัญคือ เป้าหมายนี้ยังต้องครอบคลุมไปถึงองค์กรหรือธุรกิจที่สถาบันให้การสนับสนุนทางการเงินด้วย


นอกจากการประกาศเป้าหมายที่ชัดเจน สถาบันการเงินยังต้องมีความโปร่งใส และสร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การเปิดเผยว่ามีส่วนแบ่งเท่าไรในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทพลังงานและโครงการด้านพลังงานที่องค์กรให้การสนับสนุนทางการเงิน รวมถึงบริษัทและโครงการทั้งหมดที่องค์กรให้การสนับสนุนทางการเงิน

ที่สำคัญ สถาบันการเงินจะต้องวัดและเปิดเผยผลกระทบที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางที่แนะนำโดย Task Force on Climate-related Financial Disclosures หรือคณะทำงานขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับนานาชาติที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งของประเทศกลุ่ม G20


อีกมาตรการเชิงรุกที่สำคัญยิ่ง คือการควบคุมธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เป็นต้นเหตุในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและเหมืองถ่านหิน อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยสถาบันการเงินควรจำกัดการสนับสนุนไว้ไม่เกินร้อยละ 30 ของการสนับสนุนทางการเงินทั้งหมด
ส่วนอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่สถาบันการเงินไม่ควรเข้าไปสนับสนุนเลย ก็คือ สถาบันการเงินจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่ไร้มาตรการลดผลกระทบ โดยเฉพาะที่ไม่ใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน หรือ Carbon Capture and Storage


นอกจากนี้ สถาบันการเงินไม่ควรให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการเกษตรกรรมที่แปลงมาจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ หรือพื้นที่อื่น ๆ ที่กักเก็บคาร์บอนในระดับสูง (High-carbon Stock) ซึ่งถือเป็นการทำลายแหล่งฟอกอากาศที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของก๊าซเรือนกระจกลงได้


สุดท้ายนี้คือ การพิจารณาให้สินเชื่อใดๆ ของสถาบันการเงินจะพิจารณาเฉพาะข้อมูลของผู้ขอสินเชื่ออย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องศึกษาเชิงลึกว่า บริษัทนั้นมีความเชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังควรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองทั้งทางตรงและทางอ้อม และให้ความสำคัญกับความชัดเจนในนโยบายการลดผลกระทบของบริษัทต่างๆ ก่อนการปล่อยสินเชื่อ รวมไปถึงให้การสนับสนุนบริษัทต่างๆเปลี่ยนมาลงทุนหรือใช้พลังงานสะอาดทดแทนพลังงานฟอสซิล โดยอาจใช้มาตรการหรือสิทธิพิเศษในการปล่อยสินเชื่อที่ลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนนำประเด็นนี้เข้ามาใส่ในเงื่อนไขสัญญาต่างๆ เพื่อสร้างบรรทัดฐานและข้อตกลงในการทำกิจการที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต