ธนาคารจริงใจกี่คะแนน ปีที่ 2

10 มีนาคม 2563

ธนาคารถือเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในสังคม

หากธนาคาร “ไม่จริงใจ” ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่สนใจสังคม หรือ สิ่งแวดล้อม ย่อมทำให้เกิดผลกระทบที่เสียหายอย่างใหญ่หลวง

ดังนั้นเราควรเรียกร้องให้ธนาคารมีนโยบายที่คำนึงถึงการป้องกันผลกระทบที่ตามมา

นี่จึงเป็นที่มาของโครงการ Fair Finance Thailand ที่ใช้เครื่องมือ “ดัชนีชี้วัด” ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 เพื่อให้คะแนนกับธนาคารพาณิชย์ของไทยจำนวน 9 แห่ง ว่ามีความจริงใจแค่ไหน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับสู่ธนาคารที่ยั่งยืน

ในปี 2562 ที่ผ่านมา Fair Finance Thailand ได้ประเมินธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย พบว่ามีทั้งธนาคารที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด และธนาคารที่ได้คะแนนไม่ต่างจากเดิม

ผลการประเมินเป็นอย่างไร ตามมาได้เลย

ธนาคารถือเป็นผู้รวบรวมเงินฝากของเราและคนจำนวนมหาศาล ไปปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ

ทุกวันนี้ เราแทบไม่รู้เลยว่า ธนาคารนำเงินฝากของเราไปลงทุนในโครงการไหนหรือทำอะไรบ้าง

หากธนาคารเลือกที่จะให้เงินกับโครงการดีๆ ก็จะทำให้ชีวิตของเจ้าของเงินฝากอย่างพวกเราดีขึ้น

แต่ในทางกลับกัน หากธนาคารให้เงินกับโครงการแย่ ๆ เงินฝากของเราก็จะย้อนกลับมาทำร้ายเราเอง เช่น การปล่อยกู้ให้กับโครงการเขื่อนที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ หรือการปล่อยกู้ให้ลูกค้ารายใหญ่จนเอาเปรียบลูกค้ารายย่อย การเลือกปฏิบัติต่อลูกค้า

การที่ธนาคารทำธุรกิจแบบ “ไม่จริงใจ” อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ ทั้งเสียผลกำไรหรือเสียชื่อเสียง

สุดท้ายก็จะกลับมาส่งผลต่อตัวเราและเงินฝากของเรา

Fair Finance คือ Movement ระดับโลก ที่ใช้ “ดัชนี” และ “เครื่องมือ” สําหรับผู้บริโภคและภาคประชาสังคม มาประเมินธนาคาร ว่าทำได้ดีแค่ไหน และต่อรองว่าธนาคารควรเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ซึ่งตอนนี้ Fair Finance ได้ดำเนินงานอยู่ใน 10 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 10 ที่เข้าร่วม

Fair Finance Thailand หรือแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2561 ด้วยความตั้งใจที่จะร่วมกันผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) อย่างแท้จริง

สมาชิกแนวร่วมประกอบด้วย

1. บริษัท ป่าสาละ จำกัด
2. International Rivers
3. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
4. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)
5. มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

Fair Finance Thailand นำมาตรฐาน Fair Finance Guide International (แนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ) มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ 9 แห่ง

โดยมีหัวข้อในการประเมิน ได้แก่

1.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2. การทุจริตคอร์รัปชัน
3. ความเท่าเทียมทางเพศ
4. สิทธิมนุษยชน
5. สิทธิแรงงาน
6. ธรรมชาติ
7. ภาษี
8. อาวุธ
9. การคุ้มครองผู้บริโภค
10. การขยายบริการทางการเงิน
11. การตอบแทน
12. ความโปร่งใสและความรับผิด

 

ข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ เอกสารนโยบายและข้อมูลต่างๆ ที่ธนาคารเปิดเผยต่อสาธารณะ จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 รวมถึงข้อมูลที่ธนาคารเปิดเผยเพิ่มเติมบนเว็บไซต์ สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2562

อันประกอบด้วย

• รายงานประจำปี (annual report) พ.ศ. 2561
• รายงานความยั่งยืน (sustainability report) หรือ รายงานความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR Report) ประจำปี พ.ศ. 2561
• แบบฟอร์ม 56-1 (ในฐานะบริษัทจดทะเบียน รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
• ข้อมูลหรือเอกสารเผยแพร่บนเว็บไซต์ธนาคาร
• แถลงการณ์สาธารณะของธนาคารเอง
• จดหมายข่าวที่ออกโดยธนาคารเอง

การประเมินนโยบายที่เปิดเผยต่อสาธารณะของธนาคารครั้งนี้ ใช้เวลาทั้งสิ้นรวม 7 เดือน ตั้งแต่กันยายน 2562 - มีนาคม 2563

 

ธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด เรียงตามลำดับ (คะแนนรวมคิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์)

1.ธนาคารทหารไทย (22.6%)
2.ธนาคารกสิกรไทย (20.7%)
3.ธนาคารไทยพาณิชย์ (20.3%)
4.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (17.2%)
5.ธนาคารกรุงเทพ (17%)
6.ธนาคารทิสโก้ (16%)
7.ธนาคารกรุงไทย (15.7%)
8.ธนาคารธนชาต (15.2%)
9.ธนาคารเกียรตินาคิน (14.55%)

เฉลี่ยรวมทั้งสิ้น 17.7%

ธนาคารสี่แห่งที่ได้คะแนนสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย คือ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามหลักการธนาคารที่ยั่งยืนและการเงินที่เป็นธรรม ที่สูงกว่าแค่ปฏิบัติตามกฎหมาย

 

ธนาคารทหารไทย ได้คะแนนรวม 27.12 คะแนน

โดยถีบตัวเองจากอันดับท้ายสุดเมื่อปีที่แล้วขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในปีนี้ จากการเปิดเผยนโยบายที่สอดคล้องกับแนวทางธนาคารที่เป็นธรรมมากขึ้น

ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ได้คะแนนหมวดธรรมชาติ เนื่องจากเปิดเผยนโยบายและรายการอุตสาหกรรมที่จะไม่สนับสนุน (exclusion list) ที่ชัดเจน อาทิ การกำหนดให้ลูกค้าต้องหลีกเลี่ยงผลกระทบขั้นรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้คะแนนเพิ่มเติมในหลายหมวดที่อยู่ในหัวข้อย่อยใหม่ๆ อาทิ หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ระบุว่า การค้าไม้ป่าดิบชื้นปฐมภูมิ และการผลิตหรือการค้าไม้หรือผลผลิตจากป่าที่ไม่มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ในรายการสินเชื่อต้องห้าม, หมวดการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ประกาศว่าธนาคารไม่มีกิจกรรมล็อบบี้ยิสต์ หรือองค์กรใดๆ, หมวดภาษี ที่ระบุในจรรยาบรรณด้านภาษีว่า ธนาคารจะชำระภาษีอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมในแต่ละประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ รวมถึงธนาคารมีกรอบการควบคุมภาษี ซึ่งเป็นแนวทางที่ยอมรับในระดับสากล และหมวดอาวุธ จากการประกาศว่า ธนาคารจะไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีส่วนกับองค์กรที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการผลิต การออกแบบ การทดลอง การค้นหา การดัดแปลง การปรับปรุง บริการ การบำรุงรักษา การสะสมคลัง การสนับสนุน การค้าและการอบรม ที่เกี่ยวข้องกับ “อาวุธซึ่งเป็นที่ถกเถียงในสังคม”

ทั้งนี้ ธนาคารทหารไทยมีคะแนนแบ่งเป็นรายหมวด ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0.57
2. การทุจริตคอร์รัปชัน 5
3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0.5
4. สิทธิมนุษยชน 0.77
5. สิทธิแรงงาน 2.32
6. ธรรมชาติ 1.5
7. ภาษี 1.76
8. อาวุธ 3.33
9. การคุ้มครองผู้บริโภค 4.67
10. การขยายบริการทางการเงิน 6.01
11. การตอบแทน 0
12. ความโปร่งใสและความรับผิด 0.68

 


ธนาคารกสิกรไทย ได้คะแนนรวม 24.89 คะแนน

ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ได้คะแนนหัวข้อย่อยในด้านภาษี คือ สถาบันการเงินไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในธุรกรรมกับโครงสร้างระหว่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะหนีภาษีหรือหลบเลี่ยงภาษี ที่ระบุไว้ในจรรยาบรรณด้านภาษีของธนาคารว่า จะชำระภาษีอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมในแต่ละประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ รวมทั้งยังมีกรอบการควบคุมด้านภาษี (tax control framework) ซึ่งเป็นแนวทางที่ยอมรับในระดับสากล และการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านภาษี ซึ่งกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน
.
นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยยังได้คะแนนเพิ่ม อาทิ หมวดความเท่าเทียมทางเพศ จากการมีนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเพศทุกรูปแบบในการจ้างงานและการทำงาน และหมวดสิทธิแรงงาน ที่ไม่ยอมรับการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานทาสในธุรกิจของลูกค้า

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีคะแนนแบ่งเป็นรายหมวด ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0.42
2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17
3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0.67
4. สิทธิมนุษยชน 0.77
5. สิทธิแรงงาน 1.79
6. ธรรมชาติ 0
7. ภาษี 0.59
8. อาวุธ 2.5
9. การคุ้มครองผู้บริโภค 4.86
10. การขยายบริการทางการเงิน 5.44
11. การตอบแทน 1.59
12. ความโปร่งใสและความรับผิด 2.10

 


ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้คะแนนรวม 24.39 คะแนน

ธนาคารไทยพาณิชย์ได้คะแนนเพิ่มขึ้นในหลายหมวด อาทิ หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อจูงใจให้ลูกค้าบริษัทเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงมาใช้พลังงานหมุนเวียน, หมวดการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีนโยบายไม่ยอมรับการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่กำหนด โดยธนาคารได้กำหนดระเบียบข้อบังคับและมาตรการต่างๆ รวมถึงมุ่งสร้างวัฒนธรรมให้พนักงานทุกคนรักษาและปฏิบัติตามจรรยาบรรณและแนวปฏิบัติที่ดี และหมวดนโยบายค่าตอบแทน จากการประกาศว่าค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงจะพิจารณารวมตัวชี้วัด นอกเหนือผลประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ในหมวดการขยายบริการทางการเงิน ธนาคารได้คะแนนลดลง เนื่องจากในปี 2562 ธนาคารไม่มีส่วนร่วมในโครงการสินเชื่อบ้านประชารัฐของรัฐบาล ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่ในปี 2561 ได้มีส่วนร่วมในโครงการ

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ มีคะแนนแบ่งเป็นรายหมวด ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0.68
2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17
3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0
4. สิทธิมนุษยชน 0.77
5. สิทธิแรงงาน 1.79
6. ธรรมชาติ 0
7. ภาษี 0.59
8. อาวุธ 2.5
9. การคุ้มครองผู้บริโภค 4.23
10. การขยายบริการทางการเงิน 5.60
11. การตอบแทน 1.57
12. ความโปร่งใสและความรับผิด 2.50

 


ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้คะแนนรวม 20.64 คะแนน

หมวดที่มีความน่าสนใจที่ธนาคารได้คะแนนเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย หมวดการคุ้มครองผู้บริโภค โดยธนาคารได้ตีพิมพ์เผยแพร่นโยบายและขั้นตอนการติดตามหนี้ สร้างหลักประกันว่าลูกค้ารายย่อยสามารถเข้าถึงกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและเยียวยาที่มีกระบวนการค้นหาความจริง และมีนโยบายปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาหนี้เกินตัว, หมวดการขยายบริการทางการเงิน ที่กำหนดแนวทางในการเปิดเผยข้อมูล ผ่านช่องทางที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย จัดทำข้อมูลในรูปแบบทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งในข้อมูลทางการเงินและข้อมูลอื่นๆ อย่างถูกต้อง เพียงพอ โปร่งใส รวดเร็ว ทันเวลา เท่าเทียมกัน และสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานทางการ รวมถึงปรับปรุงข้อมูลสำคัญให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีคะแนนแบ่งเป็นรายหมวด ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0
2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17
3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0
4. สิทธิมนุษยชน 0
5. สิทธิแรงงาน 0.71
6. ธรรมชาติ 0
7. ภาษี 0.63
8. อาวุธ 2.5
9. การคุ้มครองผู้บริโภค 4.86
10. การขยายบริการทางการเงิน 5.62
11. การตอบแทน 0
12. ความโปร่งใสและความรับผิด 2.16

 


ธนาคารกรุงเทพ ได้คะแนนรวม 20.37 คะแนน

หมวดที่น่าสนใจที่ธนาคารได้คะแนนเพิ่มขึ้น อาทิ หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ธนาคารได้ประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคาร, หมวดการขยายบริการทางการเงิน ที่ธนาคารดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย โดยร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการให้สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดย บสย.เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้เต็มจำนวน ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเติบโตและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพมีคะแนนแบ่งเป็นรายหมวด ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0.42
2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17
3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0.67
4. สิทธิมนุษยชน 0
5. สิทธิแรงงาน 0
6. ธรรมชาติ 0
7. ภาษี 0.59
8. อาวุธ 2.5
9. การคุ้มครองผู้บริโภค 5.27
10. การขยายบริการทางการเงิน 5.28
11. การตอบแทน 0
12. ความโปร่งใสและความรับผิด 1.48

 


ธนาคารทิสโก้ มีคะแนนรวม 19.24 คะแนน

หมวดที่น่าสนใจที่ธนาคารได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน คือ หมวดนโยบายค่าตอบแทน ทีคำนึงถึงคุณภาพของสินเชื่อและการให้บริการที่เป็นธรรม เป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินผลงานของพนักงานในธุรกิจลูกค้ารายย่อย และคำนึงถึงจำนวนข้อผิดพลาดที่เกิดจากการปฏิบัติงานหรือการให้บริการลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาค่าตอบแทนของพนักงานในธุรกิจหลักทรัพย์, หมวดความโปร่งใสในหัวข้อย่อยว่าด้วยกลไกรับเรื่องร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ลูกค้าธนาคาร โดยธนาคารได้ระบุชัดเจนว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถแสดงความคิดเห็น ร้องเรียน หรือเสนอเรื่องสำคัญอื่นๆได้โดยตรงต่อกรรมการอิสระ หรือคณะกรรมการตรวจสอบ รวมไปถึง จัดให้มีหน่วยงานเฉพาะเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความคิดเห็น ร้องเรียน หรือเสนอเรื่องสำคัญอื่นๆต่อกลุ่มทิสโกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ธนาคารทิสโก้ มีคะแนนแบ่งเป็นรายหมวด ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0
2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17
3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0
4. สิทธิมนุษยชน 0
5. สิทธิแรงงาน 0
6. ธรรมชาติ 0
7. ภาษี 0.63
8. อาวุธ 2.5
9. การคุ้มครองผู้บริโภค 4.95
10. การขยายบริการทางการเงิน 4.77
11. การตอบแทน 0.52
12. ความโปร่งใสและความรับผิด 1.7

 


ธนาคารกรุงไทย ได้คะแนนรวม 18.79 คะแนน

ธนาคารมีคะแนนเพิ่มขึ้นในหมวดอาวุธเท่านั้น เช่นเดียวกับธนาคารอื่นๆ ที่มีนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินและสินเชื่อแก่ธุรกิจที่ผลิตหรือค้าอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงอาวุธกัมมันตภาพรังสี อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559

อย่างไรก็ตาม พบว่าธนาคารกรุงไทย มีคะแนนลดลงในหมวดการคุ้มครองผู้บริโภค จากหัวข้อสถาบันการเงินมีโครงการอบรมพนักงานและตัวแทนอย่างเหมาะสม ในประเด็นผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆที่เสนอต่อผู้บริโภค และหมวดการขยายบริการทางการเงิน เนื่องจากในปี 2562 ธนาคารไม่มีส่วนร่วมกับโครงการสินเชื่อบ้านประชารัฐของรัฐบาล ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้น้อย ขณะที่ในปี 2561 ธนาคารยังอยู่ในโครงการ

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยมีคะแนนแบ่งเป็นรายหมวด ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0
2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17
3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0
4. สิทธิมนุษยชน 0
5. สิทธิแรงงาน 0.71
6. ธรรมชาติ 0
7. ภาษี 0
8. อาวุธ 2.5
9. การคุ้มครองผู้บริโภค 5
10. การขยายบริการทางการเงิน 5.62
11. การตอบแทน 0
12. ความโปร่งใสและความรับผิด 0.80

 


ธนาคารธนชาต ได้คะแนนรวม 18.28 คะแนน

ธนาคารได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาทิ หมวดสิทธิแรงงาน จากการประกาศนโยบายสิทธิแรงงานโดยอ้างอิง คำประกาศขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน

ทั้งนี้ ธนาคารธนชาตมีคะแนนแบ่งเป็นรายหมวด ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0
2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17
3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0
4. สิทธิมนุษยชน 0
5. สิทธิแรงงาน 0.71
6. ธรรมชาติ 0
7. ภาษี 0.63
8. อาวุธ 2.5
9. การคุ้มครองผู้บริโภค 4.24
10. การขยายบริการทางการเงิน 5.24
11. การตอบแทน 0
12. ความโปร่งใสและความรับผิด 0.80

 


ธนาคารเกียรตินาคิน ได้คะแนนรวม 17.46 คะแนน

ธนาคารเกียรตินาคินได้คะแนนเพิ่มขึ้นที่น่าสนใจ ในหมวดการขยายบริการทางการเงิน เนื่องจาก มีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ MSME และ SME คิดเป็น 14.9% ของสินเชื่อทั้งหมด

ทั้งนี้ ธนาคารเกียรตินาคิน มีคะแนนแบ่งเป็นรายหมวด ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0
2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17
3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0.67
4. สิทธิมนุษยชน 0
5. สิทธิแรงงาน 0
6. ธรรมชาติ 0
7. ภาษี 0
8. อาวุธ 2.5
9. การคุ้มครองผู้บริโภค 4.05
10. การขยายบริการทางการเงิน 5.40
11. การตอบแทน 0
12. ความโปร่งใสและความรับผิด 0.68


ธนาคารทุกแห่งมีคะแนนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2561

1.ธนาคารทหารไทย +12.8%
2.ธนาคารกรุงเทพ +5.4%
3.ธนาคารทิสโก้ +5.2%
4.ธนาคารธนชาต +5.0%
5.ธนาคารกสิกรไทย +3.6%
6.ธนาคารไทยพาณิชย์ +3.6%
7.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา +3.6%
8.ธนาคารเกียรตินาคิน +1.7%
9.ธนาคารกรุงไทย +1.4%

ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารที่อันดับเพิ่มมากที่สุด (จากอันดับ 9 ในปี 2561 เป็นอันดับ 1 ในปีนี้) และธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารที่ตกอันดับมากที่สุด (จากอันดับ 3 เป็นอันดับ 7)

ธนาคารทหารไทยโดดเด่นเป็นอย่างยิ่งในการประเมินปีนี้ เนื่องจากเปิดเผยนโยบายของธนาคารในหลายประเด็นอย่างชัดเจนและแสดงความรับผิดชอบในหลายหมวดที่มากกว่าธนาคารอื่น ส่งผลให้ถีบตัวจากธนาคารที่มีอันดับท้ายสุด (9) ในการประเมินปีก่อนหน้า มาเป็นอันดับหนึ่งในการประเมินปีนี้

 


เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว คะแนนรวมเฉลี่ยของประเทศนอร์เวย์ นำมาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย สวีเดน เนเธอแลนด์ และเบลเยียม ส่วนประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 8 จากปีที่แล้วอยู่ในอันดับท้ายสุด

ประเทศนอร์เวย์ ที่ได้คะแนนอันดับที่ 1 และสวีเดนที่ได้อันดับ 2 มีความโดดเด่นเรื่องการต่อต้านทุจริต สิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชน ทั้ง 3 หมวดนี้มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า 80 % นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม และการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนในแต่ละอุตสาหกรรมอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยยังถือว่ามีคะแนนเฉลี่ยที่น้อยอยู่ เนื่องจากยังไม่มีการเปิดเผยการลงทุนของธนาคารในแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงความใส่ใจในด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนก็ยังนับว่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารต่างประเทศ

 


คะแนนของ Fair Finance Guide บอกอะไรกับเราบ้าง?


เมื่อดูผลการประเมิน ธนาคารทั้ง 9 แห่งมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าธนาคารไทยมีความตื่นตัวมากขึ้นต่อการเปิดเผยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่เป็นธรรม และความยั่งยืนในมิติต่างๆ

3 หมวดแรกที่ธนาคารได้คะแนนสูงสุด ยังคงเหมือนปี 2561 ได้แก่

การขยายบริการทางการเงิน (คะแนนเฉลี่ย 54.4% เพิ่มจาก 49.3%)

การคุ้มครองผู้บริโภค (46.8% เพิ่มจาก 34.2%)

การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (42.6% เพิ่มจาก 41.7%)

หมวดที่ธนาคารโดยเฉลี่ยได้คะแนนเพิ่มมากที่สุด คือ อาวุธ รองลงมาคือหมวด ภาษี ค่าตอบแทน สิทธิแรงงาน และ สิทธิมนุษยชน ตามลำดับ

 


3 หมวดที่ธนาคารได้คะแนนน้อยที่สุด ได้แก่ ธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิทธิมนุษยชน ไม่ต่างกับการประเมินปี 2561

หมวดเหล่านี้ล้วนทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับชาติและโลก เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ชื่อเสียง และความเสี่ยงทางการเงินของธนาคารเองด้วย

ความเสี่ยงดังกล่าว อาทิ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน ภัยแล้ง อุทกภัย และความเสียหายจากภัยธรรมชาติซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้นธนาคารไทยควรกำหนดและประกาศนโยบายสินเชื่อ (credit policy) ในหมวดเหล่านี้โดยเร็ว


ธนาคารไทยโดยรวมยังไม่มีการประกาศนโยบายสินเชื่อ (credit policy) รวมถึงแนวทางป้องกันความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนต่อสาธารณะ ยกเว้นธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทย

ธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของนโยบายสินเชื่อของธนาคาร

ส่วนธนาคารทหารไทยเปิดเผยนโยบายที่ชัดเจนมากกว่า รวมถึงเปิดเผยรายการอุตสาหกรรมที่จะไม่สนับสนุน (exclusion list) ที่ชัดเจน จนเข้าข่ายได้คะแนนในหมวดธรรมชาติ อาทิ ประกาศว่าธนาคารจะไม่ให้การสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการที่ขัดต่ออนุสัญญาหรือข้อตกลงในระดับสากล หรือขัดต่อรายการต้องห้ามในระดับสากล รวมถึงการค้าสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ตามที่ระบุในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (CITES)