บทบาทของสถาบันการเงินในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน

29 มีนาคม 2565

สถาบันการเงิน (financial institutions) เป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจากเป็นตัวกลางการจัดสรรเงินทุน ในระบบเศรษฐกิจ ด้วยลักษณะเฉพาะของภาคการเงิน อาทิ การเป็นระบบที่มีความเชื่อมโยงอย่างซับซ้อนในหลายภาคส่วน โครงสร้างตั้งอยู่บนแรงจูงใจที่ผูกไว้กับการทำกำไร และการแข่งขันของตลาด ทำให้สถาบันการเงินมีโอกาสพบกับความเสี่ยงจากการทำทุจริตคอร์รัปชันสูง โดยความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินแบ่งเป็นสองประเภทหลัก คือ (1) ความเสี่ยงที่เกิดจากลูกค้าของสถาบันการเงิน อาทิ การฟอกเงิน (money laundering) หรือการสนับสนุนเงินให้แก่การก่อการร้าย (terrorist financing) หรือการค้ายาเสพติด และ (2) ความเสี่ยงที่เกิดจากร่วมมือกันระหว่างสถาบันการเงินและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรง อาทิ กิจกรรมการล็อบบี้ หรือการติดสินบน (Shipley, 2017)

การทุจริตคอร์รัปชันยังสร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามหาศาล สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ประมาณการมูลค่าของเงินที่ทุจริตคอร์รัปชันว่ามีถึงร้อยละ 5 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (Gross Domestic Product: GDP) ต่อปี หรือราว 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยในจำนวนนี้มาจากการฟอกเงินประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศผ่านการเพิ่มขนาดของเศรษฐกิจเงา (shadow economy) หรือเศรษฐกิจนอกระบบ กิจกรรมอาชญากรรม จำนวนธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย และขัดขวางการเก็บภาษีของรัฐ (Hendriyetty & Grewal, 2017) อีกทั้งการคอร์รัปชันที่เพิ่มขึ้นมีส่วนส่งผลให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ หนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) ของสถาบันการเงินสูงขึ้น (Hasan & Ashfaq, 2021) และทำให้การกำกับดูแลภาคการเงินและเสถียรภาพทางการเงินของระบบการเงินอ่อนแอลง (Kane and Rice 2000 อ้างถึงใน IMF, 2016)

สำหรับกรณีศึกษาการทุจริตเงินภาษีมูลค่าเพิ่มมูลค่า 4.3 พันล้านบาท ของบริษัทนำเข้า-ส่งออกแร่โลหะปลอม 25 บริษัท สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากเป็นตัวกลางในการกระจายเงินภาษีที่ทุจริตไปยังกลุ่มผู้กระทำผิดผ่านบัญชีเงินฝากของธนาคารทั้งประเภทนิติบุคคลและส่วนบุคคล และหากกลไกป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันของธนาคารสามารถตรวจจับและพบเจอความผิดปกติตั้งแต่ขอเปิดบัญชีไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้กระทำผิดได้ ธนาคารอาจสามารถลดจำนวนเงินภาษีที่ถูกทุจริตลงได้ 

ส่วนกรณีศึกษาการรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง โดยบริษัทเจบีบี จำกัด เพื่อประกอบกิจการโรงแรมอนันตรา สิเกา รีสอร์ท แอนด์ สปา (Anantara Si Kao Resort and Spa) แม้ธนาคารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ก็สามารถมีบทบาทในกระบวนการกลั่นกรองก่อนตัดสินใจให้การสนับสนุนทางการเงินได้

จากกรณีศึกษาแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทยได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารในการป้องปรามและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันดังต่อไปนี้

  1. เพิ่มบทลงโทษปรับสถาบันการเงินฐานหละหลวม เอื้อต่อกระบวนการทุจริต ในกรณีที่พนักงานทำผิดแนวปฏิบัติตามประกาศ ธปท. หรือหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ปปง. จนส่งผลให้ผู้กระทำผิดสามารถใช้ธุรกรรมธนาคารในการแสวงประโยชน์จากกระบวนการทุจริตได้ เช่น เมื่อพนักงานการปล่อยให้ลูกค้าสามารถนำเอกสารคำขอเปิดบัญชีไปลงนามเองนอกธนาคารดังในกรณีศึกษา
  2. กำหนดให้ตัวกลาง อาทิ ทนายความ นักบัญชี และผู้ดูแลผลประโยชน์ (trustees) มีหน้าที่รายงานข้อมูลตามกระบวนการ CDD (client due diligence) และเปิดเผยสถานะของตนกับสถาบันการเงิน
  3. ปรับปรุงเกณฑ์การรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (Suspicious Transaction Report: STR) ของสถาบันการเงินให้ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดมากขึ้น รวมถึงขยายการทำรายงาน STR ให้ครอบคลุมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ให้บริการโอนเงิน รวมถึงมีกระบวนการตรวจสอบธุรกรรมของลูกค้าที่ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ
  4. เปิดข้อมูลแปลงที่ดินและราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศให้เป็นข้อมูลเปิด (open data) เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถมีบทบาทในการตรวจสอบการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันได้มากขึ้น รวมถึงจัดทำและเผยแพร่หลักเกณฑ์ “ที่ดินมีพิรุธ” ให้สถาบันการเงินมีหน้าที่รายงาน