ความท้าทายของการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เขื่อน: กรณีศึกษาโครงการไซยะบุรี และเซเปียน-เซน้ำน้อย
แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ตีพิมพ์เผยแพร่ "ความท้าทายของการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เขื่อน: กรณีศึกษาโครงการไซยะบุรี และเซเปียน-เซน้ำน้อย" โดยสรุปความเสี่ยงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการไซยะบุรี ซึ่งอาจส่งผลกระทบในรูปความเสี่ยงทางการเงินของธนาคารในอนาคต และชี้ความบกพร่องของผู้ดำเนินโครงการในกรณีสันเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ซึ่งทางการลาวระบุว่าต้นเหตุของความเสียหายในวงกว้างเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน มิใช่ภัยธรรมชาติเพียงอย่างเดียวแต่อย่างใด
กรณีศึกษาของแนวร่วมฯ ระบุว่า ความเสี่ยงจากทั้งสองโครงการชี้ชัดถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ธนาคารไทยจะลงมือประเมินความเสี่ยงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (ESG risks) และบูรณาการผลการประเมินเข้าไปในกระบวนการตัดสินใจของธนาคาร โดยนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนยกระดับกลไกความโปร่งใส และกลไกการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียของลูกค้าธนาคาร และประกาศนโยบายสินเชื่อสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อพัฒนา "การธนาคารที่ยั่งยืน" อย่างเป็นรูปธรรม ทันต่อสถานการณ์ และพร้อมรับความเสี่ยงอุบัติใหม่ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อการออกแบบและผลการดำเนินงานของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในทางที่ข้อมูลจากอดีตไม่สามารถใช้ในการคาดการณ์ได้