ธนาคารไทย "ใส่ใจ" กี่คะแนน ปีที่ 3

18 มกราคม 2564

กลับมาอีกครั้งกับการประเมินธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โดย Fair Finance Thailand

สำหรับการประเมินในปี 2563 พบว่าธนาคารพาณิชย์ต่างแข่งขันกันจัดทำและเปิดเผยนโยบายต่อสาธารณะมากขึ้น รวมถึงเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ซึ่งในปีนี้มีธนาคารที่ได้คะแนนสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ธนาคารที่ได้คะแนนใกล้เคียงกับปีก่อน และธนาคารที่ได้คะแนนลดลง

เหตุผลที่เราต้องสนใจการประเมินธนาคารเพราะธนาคารถือเป็นผู้รวบรวมเงินฝากของเราและผู้คนจำนวนมหาศาล แต่เรากลับแทบไม่รู้เลยว่าธนาคารนำเงินฝากของเราไปลงทุนสนับสนุนในโครงการหรือธุรกิจอะไรบ้าง หากธนาคารลงทุนกับโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลงทุนในโครงการที่สร้างมลพิษทางน้ำและอากาศ ไม่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชน หรือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในโครงการ ก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ ส่งผลเสียต่อผลกำไรและชื่อเสียง และอาจสร้างผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก รวมถึงเราและเงินฝากของเราเอง

ในฐานะที่เราฝากเงินกับธนาคาร ดังนั้นการให้ความสนใจจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อคอยช่วยกันระแวดระวัง ผลักดันให้ธนาคารทำงานด้วยความจริงใจ รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนระยะยาว

.

Fair Finance เป็น Movement ระดับโลกที่ใช้ “ดัชนี” และ “เครื่องมือ” สำหรับผู้บริโภคและภาคประชาสังคมมาประเมินธนาคารว่าทำได้ดีแค่ไหน และต่อรองว่าธนาคารควรเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งตอนนี้ Fair Finance ได้ดำเนินงานอยู่ใน 10 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย 

Fair Finance Thailand หรือแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2561 ด้วยความตั้งใจที่จะร่วมกันผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) อย่างแท้จริง ประกอบด้วยสมาชิกแนวร่วมคือ บริษัท ป่าสาละ จำกัด, International Rivers, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) 

.

ปีนี้ Fair Finance Thailand ได้นำเอาเกณฑ์ประเมิน Fair Finance Guide Methodology ฉบับปรับปรุง ค.ศ.2020 มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ 8 แห่ง (ลดลงจาก 9 แห่งใน 2 ปีแรก เนื่องจากธนาคารธนชาตอยู่ระหว่างการควบรวมกับธนาคารทหารไทย) โดยมีหัวข้อประเมิน คือ

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  2. การทุจริตคอร์รัปชัน
  3. ความเท่าเทียมทางเพศ
  4. สิทธิมนุษยชน
  5. สิทธิแรงงาน
  6. ธรรมชาติ
  7. ภาษี
  8. อาวุธ
  9. การคุ้มครองผู้บริโภค
  10. การขยายบริการทางการเงิน
  11. การตอบแทน
  12. ความโปร่งใสและความรับผิด

ซึ่งปีนี้ยังเพิ่มหมวดใหม่ คือ “สุขภาพ” รวมเป็นทั้งหมด 13 หัวข้อประเมิน รวมถึงยังมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์และเพิ่มองค์ประกอบใหม่ในหัวข้อเดิมอีกด้วย 

.

ข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ เอกสารนโยบายที่สถาบันการเงินเปิดเผยสู่สาธารณะ จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563 ประกอบด้วย

  • รายงานประจำปี (annual report) พ.ศ.2562
  • รายงานความยั่งยืน (Sustainability report) หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR report) พ.ศ.2562
  • แบบฟอร์ม 56-1 (ในกรณีที่ธนาคารเป็นบริษัทจดทะเบียน รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
  • ข้อมูลหรือเอกสารบนเว็บไซต์ธนาคาร
  • แถลงการณ์สาธารณะของธนาคารเอง
  • จดหมายข่าวที่ออกโดยธนาคารเอง

.

การประเมินนโยบายที่เปิดเผยต่อสาธารณะของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 8 แห่ง ใช้เวลารวม 6 เดือน ตั้งแต่สิงหาคม พ.ศ. 2563 - มกราคม พ.ศ. 2564 ธนาคารได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับ (คะแนนรวมคิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์)

  1. ธนาคารทหารไทย 38.86% 
  2. ธนาคารกรุงไทย 22.4% 
  3. ธนาคารกรุงเทพ 21.82%
  4. ธนาคารไทยพาณิชย์ 21.15%
  5. ธนาคารกสิกรไทย 20.6%
  6. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 16.87%
  7. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 16.06%
  8. ธนาคารทิสโก้ 15.86% 

ในภาพรวมคิดเป็นค่าเฉลี่ย 21.7%

ทั้งนี้ สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทย มีธนาคาร 3 แห่งที่ได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวม ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาความยั่งยืนด้านต่างๆ ของธนาคาร รวมถึงให้ความสำคัญกับแนวการปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมที่มากกว่าแค่การปฏิบัติตามกฎหมาย

.

ธนาคารทหารไทย

ได้คะแนนรวม 50.52 คะแนน

ธนาคารทหารไทยยังคงรักษาตำแหน่งอันดับ 1 ไว้เป็นอย่างดีด้วยคะแนนที่ก้าวกระโดดห่างจากธนาคารอื่นเกือบเท่าตัว จากการเปิดเผยนโยบายที่สอดคล้องกับแนวทางธนาคารที่ยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น

ธนาคารทหารไทยได้คะแนนเพิ่มเติมในหลายหมวด เช่น หมวดความเท่าเทียมทางเพศ จากการมีนโยบายไม่สนับสนุนทางการเงินหรือบริการแก่ลูกค้าที่มีกิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่เคารพ/ละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน หรือมีหลักฐานที่แสดงถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งระบุต่อไปว่า แรงงานในธุรกิจของลูกค้า ต้องได้รับโอกาส ค่าแรง และผลตอบแทนที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีการ “เลือกปฏิบัติทางเพศ” อีกทั้งยังเป็นธนาคารเดียวที่มีการประกาศเป้าหมายที่จะรักษาสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารของธนาคารให้มากกว่าร้อยละ 40 

ส่วนหมวดอาวุธ จากการประกาศว่าธนาคารจะพิจารณาลูกค้ากลุ่มอาวุธที่มีการตกลงกับหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐอย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่าอาวุธ อุปกรณ์ทางทหาร บริการ การอบรม ความรู้ เทคโนโลยี สินค้าที่ใช้ได้สองทาง การสนับสนุนอาวุธจะไม่ถูกนำไปใช้ในประเทศที่มีความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน หรือเป็นประเทศที่อยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคง (มีการประท้วงหรือเหตุการณ์ความไม่สงบ) เป็นต้น

สำหรับหมวดธรรมชาติ ธนาคารได้ประกาศไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมโทรมของพื้นที่คุ้มครองหรือถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความเปราะบาง

นอกจากนี้ ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ได้คะแนนหมวดสุขภาพ หัวข้อใหม่ที่เพิ่มเข้ามาเป็นปีแรก จากการมีนโยบายที่ระบุว่าบริษัทลูกค้าต้องรับผิดชอบในการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดจากการปฏิบัติงานหรือผลิตภัณฑ์ สอดคล้องตามหลัก Precautionary Principle

คะแนนรายหมวดของธนาคารทหารไทย

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.44 คะแนน
  2. การทุจริตคอร์รัปชัน 5 คะแนน
  3. ความเท่าเทียมทางเพศ 2 คะแนน
  4. สุขภาพ 0.63 คะแนน
  5. สิทธิมนุษยชน 4.17 คะแนน
  6. สิทธิแรงงาน 4.67 คะแนน
  7. ธรรมชาติ 4.67 คะแนน
  8. ภาษี 1.76 คะแนน
  9. อาวุธ 8 คะแนน
  10. การคุ้มครองผู้บริโภค 6.67 คะแนน
  11. การขยายบริการทางการเงิน 6.15 คะแนน
  12. การตอบแทน 1.67 คะแนน
  13. ความโปร่งใสและความรับผิด 2.71 คะแนน

.

ธนาคารกรุงไทย

ได้คะแนนรวม 29.11 คะแนน

สำหรับปีนี้ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยนโยบายเพิ่มเติมในหลายประเด็นจนทำให้สามารถขึ้นจากอันดับ 7 ปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 2 ​โดยธนาคารกรุงไทยได้คะแนนในหลายหมวดเป็นครั้งแรก เช่น หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติ โดยประกาศจะลดลงให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปีพ.ศ. 2567 เทียบกับปีฐาน 2562, หมวดความเท่าเทียมทางเพศ จากการระบุว่าธนาคารมีระบบการกำหนดเงินเดือน และโบนัสที่ชัดเจน เป็นธรรม และไม่ขึ้นกับความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาติ และศาสนาของพนักงาน

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยยังได้คะแนนหมวดการขยายบริการทางการเงินเป็นอันดับ 1 และได้คะแนนในหัวข้อ “สถาบันการเงินไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีธนาคารได้คะแนนในหัวข้อนี้

คะแนนรายหมวดของธนาคารกรุงไทย

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0.38 คะแนน
  2. การทุจริตคอร์รัปชัน 5 คะแนน
  3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0.67 คะแนน
  4. สุขภาพ 0 คะแนน
  5. สิทธิมนุษยชน 0.83 คะแนน
  6. สิทธิแรงงาน 1.33 คะแนน
  7. ธรรมชาติ 0 คะแนน
  8. ภาษี 0 คะแนน
  9. อาวุธ 2.67 คะแนน
  10. การคุ้มครองผู้บริโภค 7.14 คะแนน
  11. การขยายบริการทางการเงิน 7.69 คะแนน
  12. การตอบแทน 1.11 คะแนน
  13. ความโปร่งใสและความรับผิด 2.29 คะแนน

.

ธนาคารกรุงเทพ

ได้คะแนนรวม 28.37 คะแนน

ธนาคารกรุงเทพ ได้คะแนนในหมวดการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอันดับ 1 จากการประกาศว่าธนาคารจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่ออย่างรอบคอบบนพื้นฐานของความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) และความเสี่ยงที่ลูกค้าอาจมีเงินเหลือไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ (Affordability Risk) ซึ่งจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวของลูกค้า โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้ตกอยู่ในภาวะหนี้สินเกินตัว และจะส่งเสริม สนับสนุนการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางการเงินและการออมแก่บุคคลทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สินครัวเรือนและลดความเสี่ยงด้านสินเชื่อ 

รวมทั้งธนาคารกรุงเทพมีโครงการอบรมพนักงาน และตัวแทนธนาคาร (agents) ในประเด็นสิทธิผู้บริโภค นโยบายคุ้มครองผู้บริโภค และแนวปฏิบัติที่ดีทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการขาย

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้คะแนนในหมวดสิทธิมนุษยชนเป็นปีแรก จากการมีประกาศว่าธนาคารเคารพในสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งมีการประกาศการสนับสนุนให้บริษัทลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคารนำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของธนาคารไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

คะแนนรายหมวดของธนาคารกรุงเทพ

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0 คะแนน
  2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17 คะแนน
  3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0 คะแนน
  4. สุขภาพ 0 คะแนน
  5. สิทธิมนุษยชน 1.25 คะแนน
  6. สิทธิแรงงาน 2.33 คะแนน
  7. ธรรมชาติ 1 คะแนน
  8. ภาษี 0 คะแนน
  9. อาวุธ 3.56 คะแนน
  10. การคุ้มครองผู้บริโภค 7.62 คะแนน
  11. การขยายบริการทางการเงิน 6.15 คะแนน
  12. การตอบแทน 0 คะแนน
  13. ความโปร่งใสและความรับผิด 2.29 คะแนน

.

ธนาคารไทยพาณิชย์ 

ได้คะแนนรวม 27.5 คะแนน

ธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ในอันดับที่ 5 ในปีนี้ จากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 3 ในปีที่แล้ว เนื่องจากเกณฑ์ Fair Finance Guide Methodology ฉบับปรับปรุง 2020 เน้นการให้คะแนนที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ได้คะแนนในหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

แม้จะไม่ได้รับคะแนนในหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ก็ยังมีประเด็นนโยบายที่โดดเด่นในหมวดคุ้มครองผู้บริโภคจากการประกาศว่ามีโครงการอบรมพนักงาน และตัวแทนธนาคาร (agents) ในประเด็นสิทธิผู้บริโภค และนโยบายคุ้มครองผู้บริโภครวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการขาย โดยเป็นเพียง 1 ใน 2 ธนาคารที่ได้คะแนนในประเด็นนี้

ธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้คะแนนเพิ่มขึ้นในหมวดการขยายบริการทางการเงิน จากการออก ‘สินเชื่อเพื่อความจำเป็นสำหรับการศึกษาและการรักษาพยาบาล (purposeful loan)’ หรือ ‘มณี Free Solution’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการ SME สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัวด้วยต้นทุนที่ลดลงจากบริการทางธุรกิจที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมทุกประเภท ช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 

คะแนนรายหมวดของธนาคารไทยพาณิชย์

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0 คะแนน
  2. การทุจริตคอร์รัปชัน 5 คะแนน
  3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0 คะแนน
  4. สุขภาพ 0 คะแนน
  5. สิทธิมนุษยชน 0.83 คะแนน
  6. สิทธิแรงงาน 2.33 คะแนน
  7. ธรรมชาติ 0 คะแนน
  8. ภาษี 0 คะแนน
  9. อาวุธ 2.67 คะแนน
  10. การคุ้มครองผู้บริโภค 6.19 คะแนน
  11. การขยายบริการทางการเงิน 6.15 คะแนน
  12. การตอบแทน 1.67 คะแนน
  13. ความโปร่งใสและความรับผิด 2.66 คะแนน

.

ธนาคารกสิกรไทย

ได้คะแนนรวม 26.79 คะแนน

ธนาคารกสิกรไทยอยู่ในอันดับที่ 5 จากปีที่แล้วที่เคยอยู่ในอันดับที่ 2 เนื่องจากคะแนนที่เพิ่มขึ้นในหลายหมวดแต่ยังน้อยเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น

ตัวอย่างหมวดที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้น เช่น หมวดความเท่าเทียมทางเพศจากการมีนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเพศทุกรูปแบบในการจ้างงานและการทำงาน รวมถึงคุกคามทางวาจา กายภาพและทางเพศ (zero tolerance policy) 

ในหมวดภาษี หัวข้อย่อย “สถาบันการเงินไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในธุรกรรมกับโครงสร้างระหว่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะหนีหรือหลบเลี่ยงภาษี” จากการระบุว่าธนาคารมีกรอบการควบคุมด้านภาษี (Tax Control Framework) ซึ่งเป็นแนวทางที่ยอมรับในระดับสากลและกำกับดูแลความเสี่ยงด้านภาษีซึ่งกำหนดหน้าที่และรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน 

หมวดการคุ้มครองผู้บริโภค จากนโยบายที่จะเปิดให้ลูกค้ารายย่อยที่เป็นผู้พิการหรือมีความต้องการพิเศษ สามารถเข้าถึงสาขาทางกายภาพและบริการอิเล็กทรอนิกส์ โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน K PLUS Beacon ทำให้ผู้บกพร่องทางการเห็นสามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ได้คะแนนในหัวข้อ “สถาบันการเงินไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน” ซึ่งนับเป็นปีแรกที่มีธนาคารได้คะแนนในหัวข้อนี้ด้วย

คะแนนรายหมวดของธนาคารกสิกรไทย

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0.38 คะแนน
  2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17 คะแนน
  3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0.67 คะแนน
  4. สุขภาพ 0 คะแนน
  5. สิทธิมนุษยชน 0.83 คะแนน
  6. สิทธิแรงงาน 2.50 คะแนน
  7. ธรรมชาติ 0 คะแนน
  8. ภาษี 0.59 คะแนน
  9. อาวุธ 2.67 คะแนน
  10. การคุ้มครองผู้บริโภค 4.76 คะแนน
  11. การขยายบริการทางการเงิน 6.15 คะแนน
  12. การตอบแทน 1.67 คะแนน
  13. ความโปร่งใสและความรับผิด 2.40 คะแนน

.

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ได้คะแนนรวม 21.94 คะแนน

ธนาคาารกรุงศรีอยุธยาได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจในหมวดการคุ้มครองผู้บริโภค จากการตีพิมพ์เผยแพร่นโยบายและขั้นตอนการติดตามหนี้ และบริษัทที่ได้รับมอบหมายจากธนาคาร (บุคคลที่สาม) ให้เป็นตัวแทนในการทวงหนี้, สร้างหลักประกันว่าลูกค้ารายย่อยเข้าถึงกลไกรับเรื่องร้องเรียน และเยียวยาที่มีกระบวนการค้นหาความจริง (due diligence) และมีนโยบายปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเป็นหนี้เกินตัว

รวมทั้งหมวดการขยายบริการทางการเงินที่มีการกำหนดแนวทางในการเปิดเผยข้อมูล โดยต้องดำเนินการผ่านช่องทางที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย จัดให้มีข้อมูลในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลอื่น ๆ อย่างถูกต้อง เพียงพอ โปร่งใส รวดเร็ว ทันเวลา เท่าเทียมกัน และสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานทางการ รวมถึงมีการอัปเดตข้อมูลสำคัญให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

คะแนนรายหมวดของธนาคารกรุงศรีอยุธยา

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0 คะแนน
  2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17 คะแนน
  3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0 คะแนน
  4. สุขภาพ 0 คะแนน
  5. สิทธิมนุษยชน 0 คะแนน
  6. สิทธิแรงงาน 0.67 คะแนน
  7. ธรรมชาติ 0 คะแนน
  8. ภาษี 0.59 คะแนน
  9. อาวุธ 2.67 คะแนน
  10. การคุ้มครองผู้บริโภค 5.71 คะแนน
  11. การขยายบริการทางการเงิน 6.15 คะแนน
  12. การตอบแทน 0 คะแนน
  13. ความโปร่งใสและความรับผิด 1.98 คะแนน

.

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

ได้คะแนนรวม 20.89 คะแนน

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในหมวดความโปร่งใสและความรับผิด, การขยายบริการทางการเงิน, การคุ้มครองผู้บริโภค และอาวุธ

รวมทั้งเป็นปีแรกที่ได้คะแนนหมวดภาษีในหัวข้อ “สถาบันการเงินไม่มีส่วนรวมใด ๆ ในธุรกรรมกับโครงสร้างระหว่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะหนีหรือหลบเลี่ยงภาษี” โดยประกาศว่า “ธนาคารจะไม่ใช้โครงสร้างทางภาษีที่มีวัตถุประสงค์หลักเพียงเพื่อขจัด หรือลดภาระภาษีผ่านการวางแผนหรือโครงสร้างการดำเนินงานที่ซับซ้อนอันจะก่อให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี อีกทั้งไม่ใช้ประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมายภาษีในการดำเนินธุรกิจหรือใช้กฎหมายภาษีที่ไม่สอดคล้องต่อหลักการและเจตนาของกฎหมายภาษีทั้งธุรกรรมในประเทศและต่างประเทศ

คะแนนรายหมวดของธนาคารเกียรตินาคินภัทร

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0 คะแนน
  2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17 คะแนน
  3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0.67 คะแนน
  4. สุขภาพ 0 คะแนน
  5. สิทธิมนุษยชน 0 คะแนน
  6. สิทธิแรงงาน 0 คะแนน
  7. ธรรมชาติ 0 คะแนน
  8. ภาษี 0.59 คะแนน
  9. อาวุธ 2.67 คะแนน
  10. การคุ้มครองผู้บริโภค 4.76 คะแนน
  11. การขยายบริการทางการเงิน 6.15 คะแนน
  12. การตอบแทน 0 คะแนน
  13. ความโปร่งใสและความรับผิด 1.88 คะแนน

.

ธนาคารทิสโก้

ได้คะแนนรวม 20.63 คะแนน

การเปิดเผยนโยบายที่เป็นรูปธรรมของธนาคารทิสโก้ส่งผลให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในหลายหมวด 

โดยได้คะแนนในหมวดการคุ้มครองผู้บริโภค จากการให้ความสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านระบบสารสนเทศ (Information Security) มีกำหนดนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งกลุ่มบริษัท เพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูล การถ่ายโอน และมีการตรวจสอบในทุกขั้นตอนอย่างรัดกุม เพื่อการบริหารจัดการข้อมูลและระบบสารสนเทศอย่างปลอดภัยและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการวางมาตรการป้องกันทางไซเบอร์ที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล และปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับยุทธศาสตร์และการดำเนินธุรกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้ารั่วไหลหรือถูกนำไปใช้โดยผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

รวมไปถึงหมวดการขยายบริการทางการเงิน จากการมีนโยบาย บริการ และผลิตภัณฑ์ที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนจนและคนชายขอบ โดยธนาคารมี “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทุกประเภท รวมถึงสินเชื่อไฟแนนซ์ธุรกิจขนาดเล็กและสินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเงินสด เงินกู้ฉุกเฉิน เงินด่วน และสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ ซึ่งจะเน้นการให้บริการลูกค้ารายย่อยในต่างจังหวัดที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน

คะแนนรายหมวดของธนาคารทิสโก้

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0 คะแนน
  2. การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17 คะแนน
  3. ความเท่าเทียมทางเพศ 0 คะแนน
  4. สุขภาพ 0 คะแนน
  5. สิทธิมนุษยชน 0 คะแนน
  6. สิทธิแรงงาน 0 คะแนน
  7. ธรรมชาติ 0 คะแนน
  8. ภาษี 0.63 คะแนน
  9. อาวุธ 2.67 คะแนน
  10. การคุ้มครองผู้บริโภค 5.24 คะแนน
  11. การขยายบริการทางการเงิน 5.38 คะแนน
  12. การตอบแทน 0.56 คะแนน
  13. ความโปร่งใสและความรับผิด 1.98 คะแนน

.

ธนาคาร 5 อันดับแรก มีนโยบายอะไรที่ทำให้ได้คะแนนสูงบ้าง?

.

หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: นโยบายสินเชื่อและรายการสินเชื่อต้องห้าม

สำหรับหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประกาศนโยบายสินเชื่อ (credit policy) และรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) เป็นนโยบายที่แสดงให้เห็นว่าธนาคารไทยเริ่มมีการจัดทำนโยบายสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดจนก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านนี้คือธนาคารทหารไทย จากการมีนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับธุรกิจสำรวจหรือดำเนินการเหมืองถ่านหิน และสินเชื่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งการประกาศว่าจะจำกัดการสนับสนุนอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไว้ไม่เกิน 10% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด 

นอกจากนี้ยังมีธนาคารที่มีนโยบายประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกไม่ต่ำกว่า 20% จากปีฐาน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดของประเทศไทยภายใต้ข้อตกลงปารีส ได้แก่ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารกสิกร

.

หมวดการทุจริตคอร์รัปชัน: การประกาศไม่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการล็อบบี้ยิสต์

ในหมวดการทุจริตคอร์รัปชัน ทุกธนาคารล้วนได้คะแนนจากการประกาศนโยบายที่เป็นการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ก่อการร้าย และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องหลักเกณฑ์รับฝากเงินหรือการรับเงินจากประชาชน 

มีเพียงธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้คะแนนหมวดนี้มากกว่าธนาคารอื่น จากการประกาศว่าจะไม่มีกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับล็อบบี้ยิสต์ สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่มากกว่าการทำตามข้อกฎหมาย

.

หมวดความเท่าเทียมทางเพศ: นโยบายรักษาสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหาร

นโยบายที่โดดเด่นในหมวดความเท่าเทียมทางเพศ คือการมีประกาศเป้าหมายที่จะรักษาสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารให้มีมากกว่า 40% ซึ่งแสดงให้เห็นการตระหนักถึงคุณค่าความเท่าเทียมทางเพศที่หมายถึงการมีสิทธิ ความรับผิดชอบ และโอกาสที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อกำหนดด้านเพศ โดยธนาคารทหารไทยเป็นผู้รับได้คะแนนสูงสุดในหมวดความเท่าเทียมทางเพศจากนโยบายนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารอื่นยังไม่มีประกาศเป้าหมายนี้อย่างชัดเจน แต่หลายแห่งก็มีสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารอยู่ในระดับสูงแล้ว

.

หมวดสุขภาพ: นโยบายคุ้มครองสุขภาพตามหลักความรอบคอบ

หมวดสุขภาพเป็นหมวดใหม่ในการประเมินปีนี้ ที่มุ่งหวังให้ธนาคารกำหนดนโยบายเพื่อคุ้มครองสุขภาพของชุมชน ลูกจ้าง และลูกค้าของบริษัทที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงิน

โดยธนาคารทหารไทยได้คะแนนจากการมีนโยบายกำหนดว่าลูกค้าต้องรับผิดชอบในการหลีกเลี่ยง หรือลดความเสี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดจากการปฎิบัติงานหรือผลิตภัณฑ์อย่างสอดคล้องตามหลักความรอบคอบ (Precautionary Principle) ส่งผลให้เป็นธนาคารแห่งเดียวจากทั้งหมดที่ได้รับคะแนนในหมวดนี้ 

ดังนั้นธนาคารอื่น ๆ ควรกำหนดและประกาศนโยบายสินเชื่อ (credit policy) ในหมวดนี้สู่สาธารณะโดยเร็ว

.

หมวดคุ้มครองผู้บริโภค: นโยบายอบรมพนักงานในการบริการอย่างเป็นธรรม

มีนโยบายของธนาคารที่เข้าเกณฑ์ในหมวดคุ้มครองผู้บริโภคส่งผลให้ได้คะแนนสูง ได้แก่ การมีนโยบายการอบรมทั้งพนักงานและตัวแทนของธนาคารในประเด็นการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct) โดยมีธนาคาร 2 แห่งที่มีการประกาศนโยบายนี้สู่สาธารณะ คือ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ 

และนโยบายเปิดเผยสถิติการรับเรื่องร้องเรียนประจำปีแยกตามช่องทางรับเรื่องร้องเรียนและเปิดเผยผลการติดตามเรื่องร้องเรียน ซึ่งเป็นนโยบายของธนาคารกรุงเทพ

.

หมวดการขยายบริการทางการเงิน: นโยบายไม่คิดค่าธรรมเนียมเมื่อเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน

การประเมินหมวดการขยายบริการทางการเงินคาดหวังให้ธนาคารมีนโยบายให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงการบริการทางการเงินในระบบ ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง โดยให้บริการทางการเงินที่เหมาะสม สะดวก ซึ่งในปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีธนาคารได้คะแนนจากนโยบายไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารกสิกร

.

หมวดสิทธิมนุษยชน: นโยบายสนับสนุนบริษัทที่สำรวจบุคคลที่จำเป็นต้องย้ายถิ่น

สำหรับหมวดสิทธิมนุษยชน นโยบายที่ทำให้ได้คะแนนสูงคือการประกาศว่าบริษัทลูกค้าต้องสำรวจเพื่อระบุบุคคลที่มีความจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน และทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น กำหนดกรอบการให้ค่าตอบแทน ให้ได้รับความยินยอมโดยสมัครใจโดยได้ข้อมูลล่วงหน้า (Free, Prior, and Informed Consetn : FPIC) จากผู้ที่ต้องย้ายถิ่นฐาน โดยมีแนวปฏิบัติ เช่น ในการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจ ลูกค้าต้องมอบค่าตอบแทนให้ผู้ได้รับผลกระทบ หากการซื้อที่ดินของลูกค้าเพื่อดำเนินธุรกิจก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้หรือคุณภาพชีวิต เป็นต้น

โดยธนาคารที่มีนโยบายนี้ มีเพียงแห่งเดียวคือธนาคารทหารไทย 

.

หมวดการตอบแทน: นโยบายจ่ายค่าตอบแทนด้วยเกณฑ์อื่นนอกจากธุรกิจ

ส่วนในหมวดการตอบแทนที่มุ่งเน้นการเปิดเผยโครงสร้างค่าตอบแทน และคาดหวังให้ธนาคารมีนโยบายการจ่ายโบนัสที่ไม่เอื้อต่อการสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมแก่พนักงานและผู้บริหาร ธนาคารไทยหลายแห่งมีนโยบายจ่ายค่าตอบแทนหรือโบนัสแก่กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ด้วยกฎเกณฑ์อื่นนอกเหนือจากธุรกิจที่สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการเป็นธนาคารที่ยั่งยืน เช่น ความพึงพอใจของพนักงานและลูกค้า การเติบโตของสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และการลดลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น 

โดยธนาคารที่มีนโยบาย ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกร 

.