แถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อสถาบันการเงินไทย 5 แห่งที่ปรากฏชื่อในรายงานของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ กรณีธุรกรรมเชื่อมโยงกองทัพพม่า

17 กรกฎาคม 2567

สืบเนื่องจากรายงาน Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ซึ่งระบุว่า ในปี พ.ศ. 2566 ธนาคารไทยกลายเป็นผู้ให้บริการทางการเงินหลักในการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า ซึ่งถูกใช้โดยตรงในการเข่นฆ่าประชาชน รวมถึงคำชี้แจงของสมาคมธนาคารไทย คำชี้แจงของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และคำชี้แจงของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารอื่น ๆ ที่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐและกิจการชายแดน สภาผู้แทนราษฎร ต่อกรณีดังกล่าว รายละเอียดดังทราบแล้วนั้น

 

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand หรือ “แนวร่วมฯ”) ในฐานะแนวร่วมภาคประชาสังคมที่ติดตามตรวจสอบและผลักดัน “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยประเมินนโยบายความยั่งยืนของสถาบันการเงินด้วยเกณฑ์ “การเงินที่เป็นธรรม” ของ Fair Finance Guide International ซึ่งรวมหมวด “สิทธิมนุษยชน” ในเกณฑ์การประเมินด้วย ขอแสดงความกังวลมายังท่านต่อกรณีที่เกิดขึ้น และมีข้อสังเกตสามประการดังต่อไปนี้

 

  1. รายงาน Banking on the Death Trade และรายงานก่อนหน้านี้ของผู้รายงานพิเศษคนเดียวกัน ชื่อ The Billion Dollar Death Trade [1] (พ.ศ. 2566) ระบุอย่างชัดเจนว่า การคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่าจากประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาที่สำคัญสองประการ ประการแรก รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ไม่ได้ประสานงานกันอย่างมีประสิทธิผลเท่าที่ควร ส่งผลให้เกิดโอกาสหลบเลี่ยงการคว่ำบาตร ประการที่สอง รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยังไม่ได้คว่ำบาตรองค์กรจำนวนมากที่สร้างผลกระทบสูง รวมถึงแหล่งเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า และสถาบันการเงินในเมียนมาที่ช่วยโอนรายได้จากต่างประเทศและเอื้ออำนวยการจัดซื้ออาวุธ ข้อค้นพบดังกล่าวจากรายงานสองฉบับนี้สะท้อนว่า ลำพังคำชี้แจงของธนาคารบางแห่งและหน่วยงานราชการบางหน่วยว่า รัฐบาลไทยหรือธนาคารจะเน้นปฏิบัติตามข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ คำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกฎระเบียบอื่น ๆ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเป็นหลักนั้น ไม่เพียงพอต่อการระงับยับยั้งธุรกรรมที่นำไปสู่การเข่นฆ่าประชาชนในเมียนมา
  2. ธนาคารทั้ง 5 แห่งที่ปรากฏชื่อในรายงาน Banking on Death Trade ล้วนประกาศรับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) [2] ซึ่งหลักการชี้แนะข้อ 13 ระบุชัดเจนว่า องค์กรธุรกิจจะหลีกเลี่ยงการก่อผลกระทบเชิงลบด้านสิทธิมนุษยชน หรือมีส่วนก่อผลกระทบเชิงลบ และจะรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงจะหาทางป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารทั้ง 5 แห่งจึงมีความรับผิดชอบมากกว่าพันธกรณีตามกฎหมาย โดยมีความรับผิดชอบตามหลักการชี้แนะ UNGPs ที่จะยกระดับกระบวนการตรวจสอบลูกค้าอย่างเข้มข้น (Enhanced Due Diligence: EDD) สำหรับธุรกรรมทั้งหมดที่มีปลายทางอยู่ในประเทศเมียนมา เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ธนาคารเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนกับการจัดซื้ออาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องของกองทัพพม่าซึ่งถูกนำไปใช้ในการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ อันนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ 
  3. รายงาน Banking on Death Trade ยกตัวอย่างชัดเจนว่า การดำเนินกระบวนการ EDD ที่เข้มข้นขึ้นของธนาคาร และการขอข้อมูลและประสานความร่วมมือไปยังผู้รายงานพิเศษและหน่วยงานอื่น ๆ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารทั้งระบบในสิงคโปร์ดำเนินกระบวนการ EDD อย่างรัดกุมมากขึ้น ระงับการโอนเงินบางรายการเมื่อพบว่าเกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า ส่งผลให้ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่าผ่านระบบธนาคารสิงคโปร์มีมูลค่าลดลงอย่างมาก จาก 260 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 เหลือเพียง 40 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นในปี 2566 ในขณะเดียวกัน มูลค่าเงินจัดซื้อจัดจ้างทางทหารผ่านธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ก็ลดลงจาก 35 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือน้อยกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งผู้แทนธนาคารดังกล่าวได้ชี้แจงต่อผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติในกระบวนการจัดทำรายงานว่า ธุรกรรม 35 ล้านเหรียญสหรัฐเกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ปี 2566  ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศคว่ำบาตรธนาคารที่รัฐบาลทหารพม่าควบคุม 2 แห่ง คือ ธนาคารการค้าต่างประเทศ (Myanmar Foreign Trade Bank: MFTB) และธนาคารเพื่อการลงทุนและการพาณิชย์ของพม่า (Myanmar Investment and Commercial Bank: MICB) อีกทั้งผู้แทนธนาคารก็ได้ชี้แจงเพิ่มเติมในที่ประชุม กมธ. ความมั่นคงฯ ว่า ธนาคารฯ อาศัยฐานข้อมูล OFAC ซึ่งรวบรวมรายชื่อของผู้ที่ถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตร และเป็นฐานข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ [3] ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ชัดว่า ธนาคารสามารถปรับปรุงกระบวนการ EDD ที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาให้ดีขึ้นได้ ซึ่งก็เป็นการแสดงความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะ UNGPs ที่ธนาคารประกาศรับ

จากรายงาน Banking on Death Trade คำชี้แจงของหน่วยงานต่าง ๆ และข้อสังเกตข้างต้น แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทยมีข้อเรียกร้อง 3 ประการต่อธนาคารทั้ง 5 แห่ง ที่ชื่อปรากฏในรายงาน ดังต่อไปนี้

  1. ขอให้ธนาคารประกาศความมุ่งมั่นและขั้นตอนที่ธนาคารจะยกระดับการตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา เพื่อแสดงความรับผิดชอบตามหลักการชี้แนะ UNGPs เช่น การตรวจสอบจากฐานข้อมูลและรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชน และการเปิดรับข้อมูลองค์กรที่น่าสงสัยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารพม่า จากผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกรับเรื่องร้องเรียนของธนาคาร เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการ Enhanced Due Diligence (EDD) ของธนาคาร
  2. ขอให้ธนาคารพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ ในรายงาน Banking on Death Trade โดยเฉพาะการประกาศระงับธุรกรรมและความสัมพันธ์ทางการเงินทั้งหมดกับธนาคารที่รัฐบาลทหารพม่ามีอำนาจควบคุม รวมถึง MFTB, MICB และ Myanmar Economic Bank (MEB) เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ธุรกรรมซึ่งกระทำกับธนาคารเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา อีกทั้งธนาคารสามารถแนะนำให้ลูกค้าธนาคารใช้บริการจากสถาบันการเงินอื่นในเมียนมา นอกเหนือจากธนาคารของรัฐเหล่านี้ได้
  3. ขอให้ธนาคารประกาศว่าจะระงับธุรกรรมทุกรายการที่ลูกค้าหรือคู่สัญญา (counterparty) ไม่ผ่านขั้นตอน EDD เพิ่มเติมที่แนะนำโดย Financial Action Task Force (FATF) สำหรับกรณีเมียนมา

อ้างถึง:

  1. รายงาน Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar ของ ทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา วันที่ 26 มิถุนายน 2567 [5]
  2. คำชี้แจงของสมาคมธนาคารไทยต่อรายงานดังกล่าว วันที่ 28 มิถุนายน 2567 [6]
  3. คำชี้แจงของธนาคารไทยพาณิชย์ กรณีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับประเทศเมียนมา วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 [7]
  4. คลิปการถ่ายทอดสด ที่ประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐและกิจการชายแดน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเชิญธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานอื่น ๆ เข้าชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 [8]

[1] เข้าถึง 15 กรกฎาคม 2567, https://www.ohchr.org/sites/default/files/documents/countries/myanmar/crp-sr-myanmar-2023-05-17.pdf 

[2] ข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 ดูเพิ่มเติมคะแนนหมวด “สิทธิมนุษยชน” บนเว็บไซต์ Fair Finance Thailand, https://fairfinancethailand.org/bank-guide/topic/human-rights/ 

[3] ฐานข้อมูล OFAC, https://sanctionssearch.ofac.treas.gov/ 

[4] Financial Action Task Force, High-Risk Jurisdictions subject to a Call for Action, ตุลาคม 2566, https://www.fatf-gafi.org/en/publications/High-risk-and-other-monitored-jurisdictions/Call-for-action-october-2023.html  

[5] เข้าถึง 15 กรกฎาคม 2567, https://www.ohchr.org/sites/default/files/documents/hrbodies/hrcouncil/sessions-regular/session56/a-hrc-56-crp-7.pdf

[6] เข้าถึง 15 กรกฎาคม 2567, https://www.tba.or.th/สมาคมธนาคารไทยชี้แจง-กร/ 

[7] เข้าถึง 15 กรกฎาคม 2567, https://investor.scbx.com/th/updates/press-releases/152/siam-commercial-bank-clarifies-financial-transactions-related-to-myanmar

[8] เข้าถึง 15 กรกฎาคม 2567, https://www.youtube.com/watch?v=k-IKlKCfzn8


อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่