ทหารไทยธนชาต-ออมสิน สองธนาคารรับรางวัลจากการประเมิน ESG ธนาคารไทย ปี 2566 โดย Fair Finance Thailand

08 กุมภาพันธ์ 2567
ทหารไทยธนชาต-ออมสิน สองธนาคารรับรางวัลจากการประเมิน ESG ธนาคารไทย ปี 2566 โดย Fair Finance Thailand
แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ประกอบไปด้วย บริษัท ป่าสาละ จำกัด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และ International Rivers จัดเวทีสาธารณะ “เปิดคะแนน ESG ธนาคารไทย ปีที่ 6 : โอกาสและความท้าทายสำคัญ”
.
สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) กล่าวว่า แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เป็นองค์กรสมาชิกเครือข่ายแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance International) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือ การผลิตชุดดัชนีและเครื่องมือให้ภาคประชาสังคม และประชาชนในประเทศต่างๆ ได้ใช้ในการติดตาม และขับเคลื่อนการทำงานด้านการธนาคารที่ยั่งยืนของสถาบันการเงินในแต่ละประเทศ
.
โดยมีหมวดที่ใช้ในการประเมิน 13 หมวด ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การทุจริตคอร์รัปชัน 3. ความเท่าเทียมทางเพศ 4. สุขภาพ 5. สิทธิมนุษยชน 6. สิทธิแรงงาน 7. ธรรมชาติ 8. ภาษี 9. อาวุธ 10. การคุ้มครองผู้บริโภค 11. การขยายบริการทางการเงิน 12. นโยบายค่าตอบแทน และ 13. ความโปร่งใสและความรับผิด
.
สฤณี กล่าวว่า การประเมินคะแนนจะพิจารณาจากเนื้อหานโยบายและแนวปฏิบัติในการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินที่เปิดเผยต่อสาธารณะของแต่ละธนาคาร เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะส่งร่างการประเมินอย่างละเอียดไปที่ธนาคารแต่ละแห่ง และมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากธนาคารต่างๆ โดยปีนี้เป็นปีแรกที่คณะวิจัยได้เข้าพบธนาคารทั้ง 11 แห่ง เพื่อหารือในช่วงรับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วยสถาบันการเงินพาณิชย์ 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารทิสโก้ และสถาบันการเงินของรัฐอีก 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
.
.
สำหรับผลการประเมินธนาคาร ปี 2566 คณะวิจัยฯ ได้พิจารณามอบรางวัลประจำปี พ.ศ. 2566 ประกอบด้วยรางวัลคะแนนสูงสุด หมวดธนาคารพาณิชย์ แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต โดยมีนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ ประธานกลุ่ม กลยุทธ์องค์กรและดิจิทัล ธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นตัวแทนรับรางวัล และรางวัลคะแนนสูงสุด หมวดสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แก่ ธนาคารออมสิน โดยมีวชิรา การสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานความยั่งยืน ธนาคารออมสิน เป็นตัวแทนรับรางวัล
.
.
โดยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ธนาคารทหารไทยธนชาตได้คะแนนโดดเด่นกว่าธนาคารอื่นในหลายหมวด ได้แก่ ความเท่าเทียมทางเพศ สุขภาพ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และธรรมชาติ ขณะที่ธนาคารออมสินได้คะแนนโดดเด่นกว่าธนาคารอื่นของรัฐในหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน การคุ้มครองผู้บริโภค และความโปร่งใสและการรับผิด
.
.
จักรพงศ์ คงกล่ำ และอิชยา เส้งมี นักวิจัยแนวร่วมฯ ชี้ว่า เกณฑ์ที่ใช้ประเมินในปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีหัวข้อเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 14 หัวข้อ ล้อไปกับระดับความเร่งด่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดหวังให้ธนาคารเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องในทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)
.
นอกจากนี้ ยังมีหมวดความเท่าเทียมทางเพศ ที่มีหัวข้อการประเมินเพิ่มขึ้น 3 ข้อ โดยคาดหวังให้ธนาคารเปิดเผยแนวปฏิบัติในการฝึกอบรมพนักงานเรื่องอคติและการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศที่ชัดเจน และมีนโยบายที่กำหนดให้ลูกค้ามีแนวปฏิบัติดังกล่าว รวมถึงเปิดเผยสัดส่วนการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ หรือประชากรกลุ่มเปราะบาง เทียบกับการสนับสนุนทางการเงินแก่ MSMEs ทั้งหมด
.
และหมวดสิทธิแรงงาน ที่มีการเพิ่มหัวข้อการประเมินใหม่ 3 ข้อ ที่คาดหวังให้ธนาคารเคารพในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (Maternity Protection Convention) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และมีแนวทางในการกำหนดให้บริษัทลูกค้าเคารพหลักการดังกล่าว รวมถึงลูกค้าต้องมีแนวทางในการกำหนดสภาพการทำงานที่ดีสำหรับผู้รับงานมาทำที่บ้าน
.
สำหรับผลคะแนนในปี 2566 ธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
  1. ธนาคารทหารไทยธนชาต
  2. ธนาคารกสิกรไทย
  3. ธนาคารกรุงไทย
  4. ธนาคารไทยพาณิชย์
  5. ธนาคารกรุงเทพ
.
โดยธนาคารทั้ง 5 แห่งยังสามารถเปิดเผยนโยบายที่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) ฉบับใหม่ แม้ว่าเกณฑ์ฉบับนี้จะมีความละเอียดและเข้มข้นกว่าเดิม
.
นอกจากนี้ พบว่า ธนาคารส่วนใหญ่มีนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการทุจริตคอร์รัปชันที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น มีการเปิดเผยว่าไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการล็อบบี้ และเปิดเผยนโยบายต่อต้านการจ่ายเงินบริจาคหรืออุดหนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมือง (Political Contributions)
.
ขณะที่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศก็พบว่า ธนาคารให้ความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน เช่น เปิดเผยว่าได้จัดฝึกอบรมเรื่องอคติทางเพศและการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศในสถานที่ทำงาน เปิดเผยนโยบายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดาของ ILO และเปิดเผยผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยให้สตรีและผู้ประกอบการสตรีเข้าถึงการเงินและบริการของธนาคารได้มากขึ้น