เดชรัต สุขกำเนิด: ข้อเสนอสวัสดิการเงินกู้ฉุกเฉิน ก้าวข้ามกับดักหนี้ครัวเรือน
ปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทยมิใช่เป็นแค่ปัญหาส่วนบุคคลหรือเรื่องส่วนตัวที่ต้องหาทางออกกันเอาเอง แต่กำลังถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติที่ภาครัฐและภาคการเงินการธนาคารจะต้องหันมาร่วมมือกัน
คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 สะท้อนความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นลำดับแรกสุดจาก 10 นโยบายเร่งด่วน นั่นคือการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ณ ไตรมาสแรกของปี 2567 ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 16 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่สัดส่วนหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ความจริงแล้ว สถานการณ์หนี้ครัวเรือนเริ่มส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงมาตั้งแต่ช่วงการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเริ่มแตะที่ระดับร้อยละ 80 ของ GDP จนถึงช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 90 ของ GDP สะท้อนถึงความไม่สมดุลของรายได้และหนี้สินในภาคครัวเรือน ซึ่งกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
ความน่ากังวลนี้สอดคล้องกับผลการศึกษา ‘สถานการณ์และความต้องการของลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19’ จัดทำโดย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) พบว่ามาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น การล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน ประชาชนขาดรายได้ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อคนทุกกลุ่ม และมีหนี้เพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอาชีพ
ปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์โควิดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วก็ตาม แต่ยังส่งผลต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง นับเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐจะต้องเข้ามาจัดการช่วยเหลือ
แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย พูดคุยกับ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) เพื่อร่วมหาทางออกจากกับดักหนี้ นอกเหนือจากการทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมการก่อหนี้ ข้อจำกัดของลูกหนี้ และเงื่อนไขกติกาในการผ่อนชำระแล้ว อาจจำเป็นต้องเข้าใจถึงหัวอกคนเป็นหนี้เมื่อต้องเผชิญกับภาวะฉุกเฉินทางการเงินหรือมีเหตุจำเป็นที่ต้องใช้จ่าย
ในบทบาทของคนทำงานด้านการเมือง เดชรัตยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่น่าสนใจด้วยว่า เป็นไปได้หรือไม่หากรัฐจะจัดให้มีสวัสดิการทางการเงิน ด้วยการให้วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินรายละ 10,000 บาท เพื่อเป็นตาข่ายรองรับยามเมื่อชีวิตเข้าตาจน รวมถึงเสนอมุมมองต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสิทธิการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของคนไทย ปี 2567 มาถึงจุดที่เรียกว่าวิกฤตระดับไหน และมีแนวโน้มเช่นไร
ตัวเลขหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาสแรกของปี 2567 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 90.8 ของ GDP ซึ่งโอกาสที่จะขยับขึ้นหรือลงนั้นอยู่ที่สัดส่วนของ GDP ด้วย ถ้า GDP ขยับขึ้น สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ก็จะลดลง แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ เวลาเราพูดถึงตัวเลขหนี้ที่สูงเกินร้อยละ 90 ต่อ GDP ทำไมถึงแปลว่าน่ากังวล เพราะจุดที่หนี้ครัวเรือนเริ่มมีผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคจะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 80 ต่อ GDP หมายความว่า ถ้าหนี้ครัวเรือนมาถึงจุดนี้ แปลว่าเงินที่จะนำมาใช้สำหรับบริโภคเริ่มมีน้อยลง เพราะต้องเอาไปชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น จนทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้
เราอาจต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจก่อนว่า การมีหนี้ก็คือเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ว่าจะในฝั่งของผู้ผลิตหรือผู้บริโภค พูดง่ายๆ คือเราสามารถดึงเงินจากอนาคตมาลงทุนเพื่อการผลิตหรือบริโภคในวันนี้ได้ แต่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม และหนี้ทุกก้อนก็ต้องชำระคืน
ตัวเลขร้อยละ 80 ต่อ GDP เป็นตัวเลขที่มีการวิเคราะห์กันว่า อยู่ในระดับที่เหมาะสม ถ้าเกินจากนี้จะกลายเป็นภาระที่ต้องชำระหนี้ มากกว่าจะเป็นโอกาสในการเติบโต
ประเทศไทยเริ่มมีหนี้ครัวเรือนในระดับที่เกินร้อยละ 80 ของ GDP ตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด-19 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่กว่าร้อยละ 90 แปลว่าโอกาสที่ภาคครัวเรือนจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้นั้นมีจำกัด เพราะระดับหนี้สูงเกินไป คนไม่สามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ อย่างที่เรียกกันว่าเศรษฐกิจซบเซา
ภาวะหนี้เช่นนี้ถือว่าสูงเกินเพดานที่จะควบคุมได้หรือไม่
เรียกว่าเกินสมดุลที่การมีหนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จริงๆ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนกว่าร้อยละ 90 นั้น เป็นการมองจากมหภาค แต่ถ้ามองจากจุลภาคหรือระดับครัวเรือน เราจะพบว่าสิ่งที่เป็นปัญหามากกว่าก็คือ หนี้เสียกับหนี้เรื้อรัง
ในระดับครัวเรือนเราจะดูว่าวิกฤตหรือไม่ ต้องดูจากภาวะหนี้เสีย คือหนี้ที่ไม่สามารถชำระคืนได้ หรือต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เช่น โดนยึดทรัพย์ เมื่อไรก็ตามที่เกิดสิ่งนี้ขึ้นก็จะเริ่มเป็นปัญหา ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะครัวเรือนเท่านั้น แต่เป็นปัญหาต่อสถาบันการเงินเองด้วย เพราะสถาบันการเงินก็จำเป็นต้องสำรองเงินเพื่อรองรับปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นเมื่อเกิดหนี้เสียมากขึ้น สถาบันการเงินก็ต้องเตรียมเงินสำรองไว้ ในขณะเดียวกัน เมื่อครัวเรือนต้องสูญเสียทรัพย์หรือถูกยึดทรัพย์ก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเขาด้วย
ส่วนหนี้เรื้อรังจะมีลักษณะอีกแบบคือ ไม่ใช่หนี้เสีย เขาอาจจะยังชำระหนี้ได้ แต่เงินต้นแทบจะไม่ลดลงเลย ยกตัวอย่างเช่น เกินกว่าครึ่งหนึ่งของพี่น้องเกษตรกรที่อายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่รู้ว่าจะปิดจบหนี้ได้อย่างไร เหมือนกับว่าเขาต้องเป็นหนี้ไปตลอดชั่วชีวิต จนกระทั่งเมื่อถึงวันที่เขาเสียชีวิตก็อาจจะมีเงินจากกองทุนฌาปนกิจบ้าง หรือเงินจากประกันชีวิตบ้าง มาปิดจบหนี้ อันนี้คือปัญหาที่เรียกว่าภาวะหนี้เรื้อรัง
สถานการณ์หนี้เสียและหนี้เรื้อรังมีแนวโน้มอย่างไรบ้าง
ตัวเลขล่าสุดของหนี้เสียยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2566 และอีกตัวหนึ่งคือ หนี้ที่อาจจะเสีย หรือหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM)
หนี้เสียคือ ไม่ได้ส่งชำระเป็นเวลา 3 เดือน แต่ถ้าเริ่มไม่ได้ส่งประมาณ 1 เดือน จะเรียกว่ามีความเสี่ยง ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งเมื่อดูตัวเลขแล้วก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น
ตั้งแต่โควิด-19 เป็นต้นมา หนี้ครัวเรือนไม่ลดลงเลย วิเคราะห์ได้ไหมว่าเป็นเพราะอะไร
ถ้าย้อนไปตั้งแต่ช่วงโควิด-19 จะพบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเริ่มสูงเกินร้อยละ 80 ขณะเดียวกันตัวเลขอีกชุดหนึ่งที่เริ่มส่งสัญญาณเตือนก็คือ ภาวะกันชนทางการเงินในระดับครัวเรือนในการรับมือวิกฤต
พูดง่ายๆ คือ ถ้าสมมติเขาไม่มีรายได้เลยจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อีกสักกี่เดือน ซึ่งตัวเลขที่น่าสนใจในช่วงก่อนเกิดโควิดคือ คนไทยส่วนใหญ่ความสามารถในการรับมือความเสี่ยงได้ประมาณ 3-6 เดือน ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าจะเป็นอะไรมาก อาจจะรู้สึกว่าน่าเป็นห่วงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร เพราะไม่รู้ว่าวิกฤตคืออะไร
ถัดจากนั้นไม่นาน เมื่อมีการล็อกดาวน์ทำให้เราพบว่า นี่ไง ความหมายของกันชนทางการเงิน สุดท้ายแล้วเราก็ล็อกดาวน์กันยาว และมีผลกระทบต่อเนื่องเกินกว่า 6 เดือน แล้วเราจะอยู่กันยังไงในเมื่อเงินที่สำรองไว้หมดแล้ว ก็เลยนำไปสู่ภาวะหนี้สินที่พอกพูนขึ้น
สำหรับคนอีกส่วนหนึ่งถึงแม้จะไม่ได้เป็นหนี้ แต่เมื่อรายได้ของเขาหายไปจากวิกฤตโควิด ก็หนี้ไม่พ้นที่เขาจะต้องกลายเป็นคนมีหนี้เช่นกัน
มาตรการแก้ปัญหาของภาครัฐในช่วงโควิดเป็นอย่างไรบ้าง
อาจต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องหนี้ ทั้งรัฐบาลและ ธปท. ก็พยายามทำ เช่น การประนอมหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ การยืดเวลาชำระหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย แต่สิ่งที่ยังแก้ไม่ได้มากนักคือหนี้เรื้อรัง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร เวลาเราพักชำระหนี้เกษตรกร หนี้เสียไม่เกิดแน่ แต่หนี้เรื้อรังยังเหมือนเดิม ฉะนั้นโครงการพักชำระหนี้จึงจำเป็นต้องทำต่อเนื่องไปอีกยาวจนกว่าหนี้เรื้อรังจะลดลง
สิ่งที่คนยังไม่ค่อยพูดถึง แต่เป็นเรื่องสำคัญคือ การปรับอัตราการคำนวณดอกเบี้ยให้มีความเป็นธรรม และการตัดยอดชำระหนี้ หมายความว่า ปกติเวลาชำระหนี้เขาจะไปตัดที่ดอกเบี้ยก่อน แต่ตอนนี้เขาพยายามเปลี่ยนกติกาให้ไปตัดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในคราวเดียวกัน ฉะนั้นก็มีความพยายามทำหลายอย่างที่จะช่วยแก้ปัญหา
แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่สามารถช่วยได้ก็คือ วิกฤตรายได้ เพราะถึงแม้จะช่วยยืดหนี้ออกไปแล้ว แต่รายได้ของประชาชนยังไม่ฟื้นคืนอย่างเต็มที่ เมื่อวิกฤตโควิดเริ่มคลายตัว สถานการณ์ก็ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติอยู่ดี เพราะฉะนั้นความพยายามของรัฐบาลที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็ต้องถือว่าเราฟื้นตัวช้ากว่า
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้ตัวเลขรายได้ยังไม่ค่อยดีขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก็ทำให้ภาคการผลิต การส่งออก และภาคอุตสาหกรรมของเราดูเหมือนจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปส่วนหนึ่ง ก็เลยยิ่งซ้ำเติมให้รายได้ของเราไม่เติบโตขึ้น
มาตรการช่วยเหลือที่ผ่านมาถือว่าครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่มไหม
นโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะต่อไปอาจต้องมีการแยกแยะแต่ละกลุ่มปัญหาให้ชัดเจนขึ้น อย่างกลุ่มหนี้เสียต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ ประนอมหนี้ ส่วนกลุ่มหนี้เรื้อรัง แค่ปรับโครงสร้างหนี้ยังไม่พอ ต้องเพิ่มเติมในฝั่งของรายได้ด้วย ทำอย่างไรให้เขามีรายได้เพิ่มเร็วเท่ากับหนี้ ซึ่งอาจถึงขั้นต้องนำสินทรัพย์ของลูกหนี้มาจัดการ เพื่อให้รายได้โตเร็วกว่าเป็นอยู่
อีกกลุ่มหนึ่งคือลูกหนี้นอกระบบ ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะเข้าไม่ถึงหนี้ในระบบ หรือกู้หนี้ในระบบจนเต็มแล้ว จึงต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบต่อ ฉะนั้น ทำอย่างจึงจะปิดหนี้นอกระบบให้ได้ แล้วกลับเข้ามาในระบบ ยกตัวอย่างรูปธรรม เช่น เมื่อผ่อนชำระค่าบ้านไปแล้วส่วนหนึ่ง ภาระหนี้เริ่มลดลง ทำอย่างไรให้ลูกหนี้สามารถเอาเครดิตที่ได้จากการชำระหนี้ไปแล้วไปขอกู้เพิ่มได้ไหม เพื่อจะลดความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้นอกระบบ
การแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2567 ที่ให้ความสำคัญอันดับแรกคือการปรับโครงสร้างหนี้ ควรต้องลงรายละเอียดมากกว่านี้อย่างไรบ้าง
อาจจะพอแบ่งได้ 4 ส่วน อย่างแรกคือ การรวมหนี้หลายก้อนที่กระจัดกระจายกันให้เป็นหนี้ก้อนเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ รวมถึงจัดการหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงให้เป็นหนี้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อลดภาระลูกหนี้
อย่างที่สอง เมื่อรวมหนี้แล้ว ความสามารถในการชำระของลูกหนี้อาจมีจำกัด สิ่งที่รัฐช่วยได้ก็คือการยืดหนี้ออกไป และกำหนดเวลาที่จะช่วยให้เขาพ้นจากหนี้ได้ แต่ต้องไม่ยาวเกินไปจนกลายเป็นภาระชั่วชีวิต
สาม ลดหนี้หรือลดดอก โดยพิจารณาจากยอดเงินที่เขาจ่ายไปแล้ว เช่น หนี้เกษตรกร บางคนอาจจะจ่ายมายาวนาน 30 ปีแล้ว แต่หนี้ไม่ลดลงเลย เพราะหักแต่ดอกอย่างเดียว ซึ่งถ้าเอาตัวเลขบัญชีมาดู รัฐบาลหรือสถาบันการเงินอาจจะช่วยหาวิธีลดเงินต้นให้เขาได้ หรือลดดอกเบี้ยลงได้
สี่ การบริหารจัดการสินทรัพย์ (asset management) ของลูกหนี้ เพื่อให้เกิดรายได้มากขึ้น เช่น ที่ดินที่เกษตรกรมีอยู่ อาจจะให้ผลผลิตที่มีมูลค่าไม่สูงนัก เราก็อาจใช้วิธีการเช่าที่ดิน แล้วเปลี่ยนมาปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูงขึ้น ในระยะ 20 ปี เขาก็จะมีสินทรัพย์ที่จะนำมาลดหนี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ลูกหนี้แต่ละกลุ่มควรได้รับการช่วยเหลือเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง
อาจต้องพิจารณาตามลักษณะของลูกหนี้ กลุ่มที่สามารถแก้ได้ก่อนคือ ลูกหนี้ที่ถูกหักหน้าซองบัญชีเงินเดือน เพราะที่ผ่านมานายจ้างมีส่วนสำคัญที่ช่วยเก็บหนี้ให้กับสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันนายจ้างก็ควรมีหน้าที่ช่วยเจรจากับเจ้าหนี้ด้วย เพื่อหาช่องทางรวมหนี้ ลดหนี้ หรือยืดหนี้
อีกกลุ่มหนึ่ง เช่น ลูกหนี้ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ต้องให้องค์กรของรัฐเข้ามาดูแล อาจตั้งโจทย์ว่าเกษตรกรอายุ 70 ปีขึ้นไป สามารถปลดหนี้ได้ภายใน 5 ปี ซึ่งกลุ่มนี้เราคงยืดหนี้ให้ยาวมากไม่ได้ แต่ต้องลดหนี้ลงมา โดยดูจากพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ผ่านมา ถ้าเขาจ่ายมาตลอด แต่เงินต้นไม่ลด ธ.ก.ส. จะยอมลดหนี้ให้เขาได้ไหม เพื่อให้เขาปลดหนี้ได้ก่อนจะเสียชีวิต
ส่วนหนึ่งในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเน้นย้ำว่า การปรับโครงสร้างหนี้ต้องไม่ขัดต่อวินัยการเงินและไม่เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (moral hazard) ในทางปฏิบัติควรต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบนี้
หลายคนอาจกังวลถึงสิ่งที่เรียกว่า moral hazard พูดง่ายๆ คือกลัวว่าคนจะไม่ชำระหนี้คืน แต่ผมคิดว่าสำหรับคนที่เข้าใจภาวะความจำเป็นนี้ ถ้าเขาชำระหนี้แล้วได้เครดิตกลับมา เขาก็อยากจะรักษาเครดิตของเขาไว้ เพราะเขาก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรฉุกเฉินขึ้นอีกกับชีวิตในอนาคต
คนจนมักต้องเผชิญภาวะฉุกเฉินทางการเงินมากกว่าคนที่มีฐานะ พอเขาเจอภาวะเช่นนี้แล้วต้องจ่ายทันที เป็นสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบ ฉะนั้น ถ้ามีช่องทางให้เขามีเครดิตของตัวเอง เช่น ให้วงเงินฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย โดยไม่ต้องไปกู้นอกระบบ ผมเชื่อว่าเขาจะพยายามรักษาเครดิตนั้นอย่างเต็มที่
เราต้องเข้าใจว่าสาเหตุที่คนต้องไปกู้หนี้นอกระบบ เพราะบางครั้งเขาต้องเจอสิ่งที่เรียกว่า ภาวะฉุกเฉิน ฉะนั้นเป็นไปได้ไหมที่เราจะมีวงเงินฉุกเฉินไว้ให้สำหรับกรณีนี้ ซึ่งไม่ต้องใช้วงเงินจำนวนมากก็ได้ เท่าที่ผมได้สัมผัสจากคนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ ส่วนใหญ่เริ่มจากการกู้หนี้นอกระบบแค่หลักพัน แต่เมื่อกติกาไม่เป็นธรรม ทำให้หนี้เพิ่มพูนขึ้น
ถามว่าทำไมคนถึงต้องไปกู้เงินนอกระบบ ทั้งที่รู้ว่าพวกนี้มันโหด แต่สำหรับพี่น้องเกษตรกรหรือคนที่เป็นหนี้ เขามีความจำเป็น เพราะเขาไม่มีเครดิตที่จะไปกู้เงินในระบบ
ในทางกลับกัน คนที่มีภาระหนี้สินมากๆ มักจะถูกกล่าวหาว่าไม่มีวินัยทางการเงิน แต่จริงๆ คือไม่มีใครช่วยเขาจัดระบบทางการเงิน และบางกรณีสิ่งที่เป็นภาระนั้นมันเกินกว่าคำว่าวินัยไปแล้ว ถึงคุณจะมีวินัยแค่ไหนก็ตาม แต่ภาระที่มีอยู่มันไม่สามารถทำให้คุณหลุดพ้นจากหนี้สินได้ กลายเป็นภาระที่ใหญ่เกินกว่าจะแก้ไข เวลาใครเจอภาวะแบบนี้ก็จะหมดหวัง
แต่ถ้ามีการปรับโครงสร้างหนี้ก็จะช่วยลดสิ่งที่เป็นภาระ เพิ่มสิ่งที่เป็นความสามารถในการชำระ แล้วเกลี่ยทั้งสองสิ่งนี้ให้อยู่ในช่วงเวลาที่เป็นไปได้ ถ้าเขาไปตามทางนี้ เขาจะมีทางรอด ความหวังของเขาก็จะกลับมา แล้วสิ่งที่เรียกว่าวินัยก็จะเป็นจริง
ฉะนั้นการปรับโครงสร้างหนี้ไม่ส่งผลให้วินัยทางการเงินของลูกหนี้ลดลง ตรงกันข้าม นี่แหละคือการสร้างวินัยทางการเงินที่มีประสิทธิผลอย่างแท้จริง เพราะเจ้าหนี้ต้องมาทำความตกลงร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาเจ้าหนี้โดยทั่วไปมักไม่ได้ให้คำแนะนำแบบนี้
ล่าสุด ธปท. ออกมาตรการว่า ต่อไปนี้หากคุณเริ่มจะเป็นหนี้เสีย ธนาคารจะต้องส่งแผนฟื้นฟูหนี้ให้ลูกหนี้ทราบว่ามีช่องทางแก้ไขอย่างไรบ้าง อันนี้คือสิ่งที่เรียกว่า responsible lending (การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม)
ฉะนั้นสถาบันการเงินจะต้องจัดทำแผนแก้หนี้ เมื่อเห็นว่าลูกหนี้เริ่มจะเป็นหนี้เสีย แม้จะยังไม่รู้ว่าผลลัพธ์ในทางปฏิบัติจะออกมายังไง แต่ในแง่หลักการควรจะเป็นแบบนี้ การสร้างวินัยทางการเงินไม่ได้เกิดจากลูกหนี้เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเกิดจากลูกหนี้และเจ้าหนี้มาทำข้อตกลงบนกติการ่วมกัน ในเมื่อการกู้หนี้ก็มาจากการตกลงกันทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นการแก้หนี้ก็ต้องมาจากเงื่อนไขเดียวกัน
เพราะเหตุใดที่ผ่านมามักไม่ค่อยมีโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้มาพูดคุยกัน
ฝ่ายลูกหนี้พร้อมที่จะจ่ายอยู่แล้ว แต่เมื่อไม่มีเงินพอที่จะจ่ายก็ต้องหาวิธีแก้ไข ซึ่งตรงจุดนี้ไม่มีใครคนเข้ามาช่วย ปล่อยให้เป็นภาระของลูกหนี้ฝ่ายเดียว ทั้งที่สัญญากู้ยืมก็เซ็นร่วมกันทั้งสองฝ่าย แต่ฝ่ายเจ้าหนี้อาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เพราะเขาคิดว่าสุดท้ายถ้าสัญญานี้ไม่ได้ไปต่อ สิ่งที่เขาจะได้ก็คือการยึดทรัพย์ลูกหนี้
ต่อจากนี้สถาบันการเงินควรแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้นอย่างไรบ้าง
หากช่องทางการจัดทำแผนฟื้นฟูหนี้เกิดขึ้นได้จริงแล้ว ก็ควรจะมีหน่วยงานที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมาช่วยให้ความเห็นต่อแผนฟื้นฟูหนี้กับสภาพความเป็นจริงของลูกหนี้ อาจจะเป็นองค์กรหรือมูลนิธิที่จะมาช่วยให้คำแนะนำทางการเงิน ว่าแผนของสถาบันการเงินนั้นเหมาะสมกับลูกหนี้ที่สุดแล้วหรือยัง มีทางเลือกอื่นอีกไหม หรืออาจจะเข้ามาช่วยบริหารสินทรัพย์ของลูกหนี้ให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นยังไงได้บ้าง เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ดีกว่าเดิมหรือเร็วกว่าเดิม ผมคิดว่าอยากเห็นการทำงานแบบนี้ในระยะต่อไปต่อไป ถ้ามีตัวช่วยแบบนี้ก็เป็นไปได้ที่เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
เบื้องต้นผมมองว่า คนที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางได้ดีที่สุดคือนายจ้าง กรณีที่ลูกหนี้ถูกหักหน้าซองเงินเดือน เพราะนายจ้างจะรู้ว่าลูกหนี้แต่ละคนมีสถานะยังไง ขณะเดียวกันก็ดูแลอย่าให้ลูกหนี้ไปก่อหนี้จนเกินศักยภาพ หรือเกินร้อยละ 70 ของเงินเดือน
สังคมยังมองว่าคนเป็นหนี้เพราะใช้เงินเกินตัว เราจะสร้างความเข้าใจร่วมกันในเรื่องนี้อย่างไร
ในความรู้สึกของคนทั่วไปอาจยังเข้าใจว่า ปัญหาเรื่องหนี้เกิดจากลูกหนี้ฝ่ายเดียว ถ้าเราไม่แก้ความคิดนี้ ก็คงแก้ปัญหาได้แค่ผิวเผิน ไม่เกิดการจับมือกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเรายังไม่รู้จักคำว่า responsible lending ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้ให้สินเชื่อด้วย
ผมจึงขอย้ำว่า สัญญาเงินกู้เป็นสัญญาที่ทำขึ้นทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นคนให้กู้ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าลูกหนี้มีความพร้อมที่จะชำระแค่ไหน เป็นไปได้ยังไงที่นายจ้างยอมให้เจ้าหนี้หักเงินเดือนลูกน้องตัวเองจนแทบไม่เหลือ ฉะนั้นนายจ้างก็ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบดูแลลูกจ้างของตัวเองอีกทางหนึ่งด้วย
หลักการ responsible lending ควรมีกรอบหลักเกณฑ์แค่ไหนจึงจะไม่กระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อ
เรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นผลดี 100 เปอร์เซ็นต์ในแง่การพิจารณาให้สินเชื่อ แน่นอนว่าในภาพรวมจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังด้วยว่าอาจจะส่งผลให้ธนาคารปล่อยกู้ยากขึ้น และอย่าลืมว่าคนที่มีรายได้น้อยมักจะเจอภาวะฉุกเฉินไม่คาดฝันมากกว่าที่มีรายได้สูง ฉะนั้นก็ควรมีอีกสักช่องทางให้ลูกหนี้ได้แสดงถึงความพร้อมในการผ่อนชำระหนี้ได้
ยกตัวอย่างถ้าลูกหนี้ชำระค่าน้ำค่าไฟได้ตามปกติ พยายามแก้ปัญหาของตัวเองอย่างดีแล้ว เพียงแต่เขาอาจต้องการเงินอีกสัก 5,000-10,000 บาท ในยามที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น รถเสีย อุปกรณ์ทำมาหากินชำรุดเสียหาย ทำให้กระทบต่อการหารายได้ ฉะนั้นวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินหรือช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อเฉพาะกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก
ธนาคารควรใช้ดุลพินิจอย่างไรหากจำเป็นต้องปล่อยกู้เพิ่มอีก
อันนี้ก็เป็นข้อเสนอที่รัฐบาลจะต้องพิจารณา ก็เหมือนกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท แต่อันนี้ไม่ใช่เป็นการแจกเงินเพื่อให้คนรีบเอาไปใช้ภายใน 6 เดือน แต่เราให้ในฐานะเป็นวงเงินสินเชื่อ หมายความว่าจริงๆ แล้วเรายังไม่ต้องเอาเงินหมื่นไปให้ทุกคนก็ได้ ตราบเท่าที่เขายังไม่ต้องการกู้ แต่เงินส่วนนี้จะถูกกันไว้ให้เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจ สร้างเบาะรองรับชีวิต เป็นเหมือนสวัสดิการสำหรับทุกคนเพื่อเอาไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น
ข้อเสนอของผมคือ วงเงินสินเชื่อก้อนนี้อาจจะไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ และเงินที่จะให้ก็ไม่ได้ปล่อยไปในคราวเดียว เพราะไม่ต้องรีบใช้ เพียงแต่มีไว้เป็นกันชนสำหรับทุกคน ซึ่งแต่ละคนต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง คราวนี้เราก็จะเห็นได้ว่า ใครเอาสินเชื่อไปแล้วไม่ส่งคืนกลับมาเลย เครดิตที่เขามีก็จะน้อยลง
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย ที่เสนอโดยพรรคประชาชน จะเป็นช่องทางช่วยเหลือลูกหนี้อย่างไรบ้าง
การแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย จุดประสงค์คือให้ลูกหนี้สามารถฟื้นฟูสถานะการเงินของตัวเองได้ ไม่ใช่ถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย แต่ต้องเปิดช่องทางให้ลูกหนี้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้ ซึ่งสิ่งนี้ก็สะท้อนถึง responsible lending ด้วย ขณะเดียวกันต้องมีตัวกลางเข้ามาเชื่อมทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ เปิดโอกาสให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่ใช้กับลูกหนี้นิติบุคคล อย่างการบินไทยตอนนี้ก็กำลังออกจากสภาวะฟื้นฟูกิจการในอีกไม่นาน ในเมื่อการบินไทยทำได้ ทำไมลูกหนี้บุคคลธรรมดาจะไม่ได้รับโอกาสให้ทำได้
ผมเคยเจอเกษตรกรเจ้าของสวนส้ม เป็นหนี้ประมาณ 5 ล้าน แต่ละปีเขาเสียดอกเบี้ยอย่างเดียวประมาณ 350,000 บาท เขามีรายได้สุทธิจากการทำเกษตร 200,000 บาท ยังไงก็ไม่รอดอยู่แล้ว หากจะมีข้อแนะนำให้เขาสร้างรายได้เพิ่ม ก็ต้องไม่ใช่ข้อแนะนำแบบลอยๆ แต่ต้องกางบัญชีออกมาดู ว่าทำอย่างไรจึงจะลดดอกเบี้ยหรือตัดเงินต้นออกไปได้
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย จะช่วยลูกหนี้ได้จริงก็ต้องมีทีมที่ปรึกษาทางการเงิน มีองค์กรเข้าไปดูแลให้คำแนะนำเพิ่มขึ้น
การจัดทำแผนฟื้นฟูหนี้ สำหรับคนทั่วไปสามารถทำเองได้ไหม
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับลูกหนี้ แม้กระทั่งคนทั่วไปที่เรียนมาสาขานี้ก็ไม่ใช่ว่าจะทำแผนฟื้นฟูหนี้เป็น ฉะนั้น สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย หรือรัฐบาล ควรหาคนมาทำหน้าที่เหล่านี้ให้มากขึ้น
คนที่ทำธุรกิจ SMEs ก็ไม่ใช่ว่าจะมีความรู้ทางการเงินดีพอ ถ้ามีหนี้มากขึ้นก็ต้องการคนที่มีความรู้มาช่วยแก้ ซึ่งโดยภาพรวมทั้งประเทศเรายังมีไม่พอ มันก็ถึงจุดที่ต้องเติมสิ่งเหล่านี้ และสร้างสภาวะที่ทำให้ลูกหนี้มีโอกาสได้รับคำแนะนำเหล่านี้ก่อนที่จะต้องสูญเสียทรัพย์
การสร้างความรู้หรือภูมิคุ้มกันทางการเงินควรเริ่มต้นจากอะไร
ควรเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมไปเลย เพียงแต่ปรับรูปแบบให้เหมาะสม เช่น เรื่องการออม การใช้จ่ายเงิน แต่สำหรับผมมองว่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญคือมัธยม คนที่จบมัธยมปลายควรจะต้องเข้าใจว่าวิธีบริหารการเงินคืออะไร และกลไกอะไรที่ไม่เป็นธรรม
ปัญหาของบ้านเราคือ บางทีเราสอนเฉพาะกลไกที่ถูกต้อง แต่กลไกที่ไม่ถูกต้องมันวิวัฒนาการเร็วกว่า มันมีรูปแบบการเก็บดอกเบี้ยสารพัดวิธี เราต้องรู้ว่ามันไม่เป็นธรรมอย่างไร และมีทางเลือกอะไรบ้าง ฉะนั้นเนื้อหาและรูปแบบการสอนจึงเป็นเรื่องสำคัญ
คนรุ่นใหม่ หรือ first jobber ต้องระมัดระวังมากขึ้นไหมในการก่อหนี้ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้
อาจต้องดูปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น อัตราค่าจ้างแรงงานที่โตช้า แต่ค่าเช่าบ้าน ค่าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเร็วกว่า ขณะเดียวกันคนอีกจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นพนักงานที่มีเงินเดือนประจำ เมื่อรายได้มีความไม่แน่นอน ก็หนีไม่พ้นที่จะมีความเสี่ยงมากขึ้น
ผมเองไม่อยากจะสรุปว่า เขาไม่มีความรู้ทางการเงินอย่างเดียว เพราะความรู้ทางการเงินที่เรามีอยู่อาจไม่ได้พัฒนาตามเงื่อนไขชีวิตที่เขาต้องเจอ เพราะโจทย์ในปัจจุบันซับซ้อนมากขึ้น
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันถึงเวลาที่ต้องส่งสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง
ควรจะส่งนานแล้วครับ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วถ้ามองแบบมหภาค ถ้าตัวเลขหนี้ครัวเรือนแตะร้อยละ 80 ของ GDP ก็แปลว่าการเป็นหนี้ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจโตขึ้นแล้ว แต่กลายเป็นภาระที่มากกว่ารายได้ ฉะนั้นต้องรีบส่งสัญญาณ ถ้าภาคครัวเรือนเป็นหนี้เรื้อรัง ไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย มันถึงเวลาต้องแก้แล้ว เราล่าช้ามามากแล้ว แต่ก็ไม่ได้สายจนเกินไป เพราะสุดท้ายเจ้าหนี้ก็คงไม่อยากปล่อยให้เราเป็นหนี้เสียหรือรอยึดทรัพย์อย่างเดียว ฉะนั้นเราจะหาทางแก้หนี้ให้เร็วที่สุดได้อย่างไร และตรงกับบริบทแต่ละคนมากที่สุดได้อย่างไร
มีคำแนะนำอย่างไรบ้างสำหรับลูกหนี้ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะเสี่ยง
ถ้าถึงจุดที่เห็นว่าหนี้ไม่ได้ลดลง หรือไม่สามารถอธิบายได้ว่าจะปิดหนี้ได้เมื่อไร นั่นแปลว่าเริ่มเสี่ยงแล้ว หรือเข้าสู่ภาวะหนี้เรื้อรัง ต้องเริ่มมองหาที่ปรึกษาแล้ว ซึ่งไม่ใช่ว่าลูกหนี้ไม่ตระหนัก แต่เขาไม่มีใครให้ปรึกษามากกว่า สังคมมีแต่คนบ่น คนตำหนิ แต่ไม่มีใครมาช่วยเขาจริงๆ
สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นหนี้เรื้อรัง ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่ากันชนทางการเงินของคุณเป็นยังไง ถ้ากันชนไม่แข็งแรงก็อาจมีความเสี่ยง ถามว่าเราควรจะมีกันชนรองรับกี่เดือนดี ตอนนี้คนไทยคงเห็นภาพในหัวหลังเกิดโควิดแล้วว่า แค่มีเงินสำรอง 3-6 เดือน ก็ยังไม่พอ บางอาชีพต้องหยุดงานเป็นปี ไม่มีกระแสรายได้เข้ามาเลย ไม่เช่นนั้นคุณก็ต้อง re-skill up-skill หรือหาช่องทางเสริมรายได้มากขึ้น
นโยบายและมาตรการของรัฐบาลชุดใหม่ในเรื่องนี้ ตรงประเด็นเพียงพอหรือยัง
ผมคิดว่าตอนนี้รัฐพยายามออกมาตรการที่ดีพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ตอนนี้คือการกำหนดเป้าหมายและการติดตามผล เพราะเราไม่สามารถรู้เลยว่าความพยายามที่ดีทั้งหมดนี้มีประสิทธิผลเพียงพอหรือไม่ เพื่อจะได้คิดกันใหม่ว่าแบบไหนจึงจะถูกจุด ตอนนี้ปัญหามันใหญ่จนเราต้องกล้าที่จะล้มเหลว ตราบเท่าที่เราพยายามถึงที่สุดแล้ว
ผมให้เครดิตรัฐบาลเรื่องความตั้งใจ แต่บอกตรงๆ ว่าผมเองก็ยังไม่เห็นสัญญาณว่าแนวโน้มจะดีขึ้นไหม