Credit Policy: รูปธรรมในการตรวจสอบเส้นทางการเงินผ่าน ‘นโยบายสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน’

04 กุมภาพันธ์ 2565

นโยบายสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ของธนาคารส่วนใหญ่กำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อประกอบการตัดสินใจให้สินเชื่อหรือกระทั่งประกาศเป็นนโยบาย กำหนดรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ของธนาคาร เนื่องจากธนาคารเริ่มเล็งเห็นว่าการให้การสนับสนุนเงินทุนต่าง ๆ ส่งผลถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่มากกว่าตัวเงิน 

ในปัจจุบันที่โลกมีความผันผวน ทั้งจากปัญหาโรคระบาด การอพยพ ความไม่สงบในหลายภูมิภาค การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นต่อสถาบันการเงินและธนาคารหลายแห่ง เนื่องจากมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องความยั่งยืนและระบบการเงิน เราอาจจะเห็นพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมได้จากรายงานการประเมินผลธนาคาร ปีล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand)   

จะเห็นได้ว่า ผลการประเมินธนาคารปีที่ 4 ในปี 2564 แสดงภาพรวมของคะแนนที่น่าพอใจด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของสถาบันการเงินไทย โดยธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพในการกำหนดนโยบายสินเชื่อมากขึ้น และในหมวดสุขภาพ ธนาคารไทยสามารถทำคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 8 ข้อ หรือคิดเป็น 43.8% ซึ่งถือเป็นหมวดที่มีความคืบหน้ามากที่สุด รองลงมาเป็นหมวดสิทธิมนุษยชน ทำคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 5 เป็น 9 ข้อ หรือ 33.3% และหมวดธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจาก 7 เป็น 10 ข้อ หรือ 20%  

การกำหนดนโยบายสินเชื่อโดยนำเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมพิจารณาการปล่อยสินเชื่อ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยตีกรอบลูกค้าธนาคารไม่ให้นำเงินทุนไปดำเนินงานในกิจกรรมที่สร้างผลกระทบด้านลบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม  

ในการประเมินธนาคารปีที่ 4 นี้ พบประเด็นและทิศทางการกำหนดนโยบายสินเชื่อของหลายธนาคารที่น่าสนใจ ดังนี้ 

ออกแบบนโยบายสินเชื่อ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี

ในปี 2564 มาตรฐานแนวปฏิบัติของแนวร่วมทางการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) ยังคงกำหนดเกณฑ์หลายข้อที่มุ่งเน้นให้ธนาคารมีนโยบายที่รัดกุมมากขึ้นในการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมทรายน้ำมัน อุตสาหกรรมถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน การค้าพืชและสัตว์ใกล้สูญพันธ์ุที่อยู่ในรายการแนบท้ายอนุสัญญาไซเตส (CITES) เป็นต้น

จากผลการประเมินในปีนี้ พบว่าหลายธนาคารหันมาให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายสินเชื่อที่มีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น เช่น ในหมวดธรรมชาติมีธนาคารหลายแห่งได้คะแนนในหมวดนี้เป็นครั้งแรกได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยประเด็นที่ทำให้ธนาคารหลายแห่งได้คะแนนในปีนี้ คือ การที่ธนาคารประกาศรายการสินเชื่อต้องห้าม หรือการประกาศว่าจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมเหล่านี้ 

  • กิจกรรมที่ส่งผลกระทบทางลบต่อพื้นที่ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์สูง (High Conservation Value- HCV-areas) 
  • กิจกรรมที่ส่งผลกระทบทางลบต่อพื้นที่ระดับ I-IV ตามการจัดหมวดขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) 
  • กิจกรรมที่ส่งผลกระทบทางลบต่อพื้นที่มรดกโลก ยูเนสโก (UNESCO World Heritage) 
  • กิจกรรมที่ส่งผลกระทบทางลบต่อพื้นที่อนุรักษ์ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Convention on Wetlands) 
  • กิจกรรมที่ส่งผลกระทบทางลบต่อประชากรสัตว์ที่อยู่ในบัญชีแดงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของไอยูซีเอ็น (IUCN Red List of Threatened Species) 
  • การค้าสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ตามที่ระบุในอนุสัญญา ว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) 

ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวที่ก้าวหน้าของธนาคารไทยหลายแห่ง 

ร่วมสร้างมาตรฐานสินเชื่อใหม่ 

มากกว่านั้น ในการประเมินปีที่ 4 แนวร่วมการเงินฯ ยังพบว่า ธนาคารไทยมีพัฒนาการเกี่ยวพันกับนโยบายสินเชื่อที่ยั่งยืน ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนคือ กรณีของธนาคารทหารไทยธนชาต ที่ประกาศนโยบายสินเชื่ออันสามารถบ่งชี้ ‘เส้นทาง’ ไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน 

นโยบายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของธนาคารทหารไทยธนชาต ระบุว่า “ธนาคารตระหนักถึงผลกระทบจากพลังงานถ่านหินต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชุมชนและสังคม ธนาคารจึงหยุดการให้สินเชื่อกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน โดยจะทยอยลดสัดส่วนสินเชื่อที่มีอยู่จนเป็นศูนย์” ตัวอย่างที่สำคัญในนโยบาย กำหนดไว้ว่า 

ธนาคารมีองค์ประกอบในการประเมินความเสี่ยงของลูกค้าทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมทั้งหมด 3 องค์ประกอบ ดังนี้

  1. ประเด็นทั่วไปทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ครอบคลุมความเสี่ยงทั่วไปทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดจนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน 
  2. ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อยู่ในรายการสินเชื่อต้องห้าม ซึ่งธนาคารไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้
  3. ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในอุตสาหกรรมบางประเภทที่ธนาคารไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้หรือสามารถดำเนินธุรกิจได้ภายใต้เงื่อนไขจำเพาะที่เกี่ยวกับ ความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

และในแนวปฏิบัติสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ ธนาคารได้กำหนดรายการสินเชื่อต้องห้าม ที่ครอบคลุม 27 กิจกรรมทางธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ การค้าสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า การทดลองในสัตว์เพื่อวัตถุประสงค์ทางเครื่องสำอาง การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจทรายน้ำมัน การดัดแปลงพันธุกรรมที่ทำในมนุษย์ และ การดัดแปลงพันธุกรรมที่ทำในพืช และ/หรือ สัตว์ ที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือเป็นการใช้ที่ผิดศีลธรรมเป็นต้น 

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ธนาคารมีนโยบายสินเชื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัทต้องตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนมาล่วงหน้า และหากบริษัทบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคาร

นโยบายสินเชื่อที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น 

แน่นอนว่าการติดตาม ‘เส้นทาง’ เงินฝากของประชาชนผ่านนโยบายการให้สินเชื่อ อาจเป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการเงินที่เป็นธรรม ซึ่งนอกจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจต่างๆ แล้ว การที่ภาคธุรกิจนำเงินไปลงทุนในโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาให้ครอบคลุม โดยปัจจุบันธนาคารหลายแห่งให้ความเอาใจใส่ต่อประเด็นนี้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ต้องจับตาดูและสนับสนุนต่อไป 

อย่างไรก็ตาม แนวร่วมการเงินฯ มองว่าความท้าทายในระยะต่อไป คือ การเร่งปรับปรุงนโยบายสินเชื่อ (Credit Policy) ของธนาคาร รวมถึงการพัฒนารายการอุตสาหกรรมที่ธนาคารไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินและนโยบายด้านอื่นๆ อย่างเพียงพอและทันท่วงทีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของธนาคารในการรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG risks) ซึ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน สุขภาพ รวมถึงประเด็นท้าทายใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) และระบบการเงินไร้ตัวกลาง (DeFi)