‘สิทธิมนุษยชน’ จุดชี้วัดความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ของสถาบันการเงินไทย
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่เพียงเกิดจากการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น ในภาคการเงินการธนาคารก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เช่นกัน โดยเฉพาะการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารให้แก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมหรือบางโครงการที่ไม่มีมาตรการควบคุมที่ดีพอ จนทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนและประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตามมา
นโยบายการสนับสนุนทางการเงินหรือการให้สินเชื่อของธนาคารต่างๆ นับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ทำให้ผลการประเมินธนาคารภายใต้เกณฑ์มาตรฐาน Fair Finance Guide International โดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ประจำปี 2564 ในหมวด ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นที่น่าจับตาอย่างมาก
แนวทางการควบคุมปัจจัยความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนจากสถาบันการเงินในปัจจุบันนับว่ามีพัฒนาการที่น่าสนใจ โดยธนาคารส่วนใหญ่ในไทยประกาศยอมรับ ‘หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ’ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ซึ่งในการประเมินธนาคารประจำปี 2564 มีธนาคารถึง 6 แห่ง ที่ได้คะแนนจากการรับหลักการดังกล่าว ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารเกียรตินาคินภัทร จากปี 2563 ที่มีธนาคารประกาศรับหลักการ 5 แห่ง
อย่างไรก็ตาม จุดชี้วัดพัฒนาการสำคัญของนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของธนาคาร คือ การให้ความใส่ใจต่อการดำเนินงานของบริษัทลูกค้าของธนาคาร เพราะหลายครั้งที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้เกิดจากธนาคารโดยตรง แต่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัทลูกค้าของธนาคารเอง ซึ่งประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินในหมวดสิทธิมนุษยชนที่ธนาคารต้องใช้นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทลูกค้าที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงินประกอบกับการพิจารณาด้วย
การกำกับดูแลและกระบวนการมีส่วนร่วม คือหัวใจสำคัญ
จากการประเมินในปีแรก (2561) ภาพรวมของธนาคารไทยได้คะแนนเฉลี่ยในหมวดสิทธิมนุษยชนเพียง 0.17 คะแนน ส่วนการประเมินในปี 2563 คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.66 คะแนน และในปีล่าสุด 2564 อยู่ที่ 1.23 คะแนน ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า คะแนนของธนาคารบางแห่งที่มีค่าเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น มาจากการประกาศนโยบายที่ใส่ใจต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและกระบวนการตรวจสอบที่เป็นรูปธรรม
หัวใจสำคัญของนโยบายธนาคารคือ มีการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในระดับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การดำเนินงานของธนาคารเอง รวมถึงการทำงานของบริษัทในเครือธนาคาร โดยจะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากกิจกรรมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตั้งแต่พนักงานของธนาคาร ลูกค้า คู่ค้า ผู้รับจ้าง ชุมชน ไปจนถึงกลุ่มเปราะบาง ซึ่งธนาคารจะมีการกำหนดมาตรการเฉพาะขึ้นมาเป็นพิเศษหากการดำเนินงานเหล่านั้นมีความคาบเกี่ยวกับธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนระดับสูง
เนื่องด้วยปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันมักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาทด้านพื้นที่ การที่ธนาคารมีนโยบายกำกับดูแลด้านสิทธิมนุษยชนในกรณีเช่นนี้ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คะแนนเฉลี่ยของหมวดสิทธิมนุษยชนในการประเมินปีที่ 4 เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น บางธนาคารมีนโยบายว่า หากการดำเนินงานของบริษัทลูกค้าของธนาคารก่อให้เกิดความยากลำบากหรือความยากจนต่อชุมชน จะต้องมีการบริหารจัดการพิเศษเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และควรหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบหรือทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีความจำเป็นให้คนในชุมชนเดิมต้องย้ายถิ่นฐาน ธนาคารก็ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า บริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น มีการปรึกษาหารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และต้องมีกลไกบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
คะแนนที่เพิ่มขึ้น และช่องว่างที่ต้องพัฒนาต่อไป
ถึงแม้การประเมินในปีที่ 4 จะพบว่าธนาคารสามารถทำคะแนนเฉลี่ยในหมวดสิทธิมนุษยชนได้ถึงร้อยละ 12.3 จากปีก่อนหน้าที่ทำได้เพียงร้อยละ 6.6 แต่ช่องว่างและจุดโหว่ในบางเรื่องก็ยังเป็นประเด็นที่ธนาคารต้องมีการพัฒนาต่อไป เพื่อให้ครอบคลุมการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนให้มากยิ่งขึ้น
จุดชี้วัดที่บ่งบอกว่าสถาบันการเงินต้องเร่งพัฒนาคะแนนในหมวดสิทธิมนุษยชนต่อไป คือ เมื่อคิดสัดส่วนจากคะแนนเต็ม 10 ธนาคารไทยกลับได้คะแนนไม่ถึง 1.5 คะแนน เนื่องจากคะแนนในหมวดดังกล่าวมีการกระจุกตัวอยู่เพียงแค่ธนาคารไม่กี่แห่ง ไม่ได้มีการกระจายสัดส่วนของคะแนนไปยังธนาคารแห่งอื่นๆ อย่างทั่วถึง
ปัญหาที่ท้าทายสำหรับสถาบันการเงินไทยในอนาคตคือ ปัญหาด้านการลงทุนข้ามพรมแดน เพราะเมื่อการลงทุนข้ามพรมแดนกลายเป็นเรื่องที่สะดวกมากขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินหลายรูปแบบ ความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนและประเด็นที่เกี่ยวข้องก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะกลายเป็นปัญหาข้ามพรมแดนของรัฐ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้จัดการได้ยากลำบาก เพราะเกี่ยวพันกับกฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาจำนวนมาก ดังที่เกิดขึ้นในกรณีการรัฐประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสหพันธรัฐเมียนมา
แนวทางสำคัญในการเพิ่มคะแนนหมวดสิทธิมนุษยชนของแต่ละธนาคารให้มากขึ้นในการประเมินครั้งต่อไป จึงขึ้นอยู่กับตัวธนาคารเองที่ต้องเริ่มหันมาใส่ใจปัญหาสิทธิมนุษยชนและเร่งแข่งขันกันพัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติ โดยใช้หลักการกำกับดูแลคู่ค้าทางธุรกิจและบริษัทลูกค้าของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจในประเทศหรือข้ามประเทศ รวมถึงการจัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายด้วยข้อมูลที่เที่ยงตรงและวัดผลได้
มิเช่นนั้นแล้ว การไม่สนใจประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เพียงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว แต่ยังสามารถลุกลามไปสู่ประเด็นความเสี่ยงอื่นๆ เพิ่มเติมได้ต่อไป