การค้าอาวุธ: ทบทวนท่าทีของธนาคารในสงครามรัสเซีย-ยูเครน

18 เมษายน 2565

หลังจากรัสเซียเคลื่อนกำลังพลบุกข้ามเส้นเขตแดนยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ความขัดแย้งของทั้งสองชาติก็ถูกยกระดับไปสู่ภาวะสงคราม ส่งผลให้ทั้งโลกต้องตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด สั่นคลอนความสัมพันธ์ของนานาประเทศ แม้แต่ภาคการเงินการธนาคารก็ได้รับแรงกดดันด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการถูกจับตามองในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนการค้าอาวุธในสภาวะสงคราม

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคม 2022 สำนักข่าว In These Times และอีกหลายสำนักรายงานว่า บริษัทค้าอาวุธขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกอย่าง Raytheon และ Lockheed Martin รวมถึงอีกหลายบริษัทมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการซื้อขายจรวดต่อต้านรถถัง Javelin เหตุเพราะสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรในยุโรปหลายชาติตัดสินใจที่จะซื้อยุทธภัณฑ์และส่งไปช่วยเหลือยูเครนเพื่อป้องกันตนเองจากรัสเซีย แม้ว่าสถาบันการเงินระดับโลกอย่าง Goldman Sachs หรือ JPMorgan จะถอนตัวออกจากรัสเซียแล้วก็ตาม แต่อัตราการค้าอาวุธที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นก็ยังคงมีชื่อของสถาบันการเงินอีกหลายแห่งพ่วงอยู่ด้วย และทำให้สถาบันการเงินเหล่านั้นมีส่วนพัวพันกับความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นใช้อาวุธอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

บริษัท Lockedhead Martin ผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ มีผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่ปัจเจกบุคคลอยู่ถึงร้อยละ 69.4 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งจากข้อมูลของเว็บไซต์ Investopedia ระบุว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนี้คือ สถาบันการเงิน State Street Corporation ที่ถือหุ้นอยู่ถึง 42.2 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 15.1 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ตามมาด้วยบริษัทจัดการการลงทุนอย่าง The Vanguard Group และ BlackRock Inc. ไปจนถึงกลุ่มสถาบันการเงินอย่าง Morgan Stanley และ Bank of America Corporation 

ขณะที่บริษัทค้าอาวุธ Raytheon ก็มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ State Street Corporation, The Vanguard Group, BlackRock Inc., Morgan Stanley และ Bank of America Corporation แบบแผนในลักษณะนี้ยังพบได้ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทค้าอาวุธระดับโลกที่เหลืออย่างบริษัท Northrop Grumman Corporation, General Dynamics Corporation และ The Boeing Company เช่นกัน โดยอาจจะแตกต่างกันแค่ลำดับการถือหุ้นเพียงเท่านั้น

การเข้าไปพัวพันกับธุรกิจการค้าอาวุธเช่นนี้ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ Fair Finance International (FFI) ให้ความสำคัญและตรวจสอบอยู่ตลอด โดยได้ระบุอยู่ในแนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International: FFGI) ได้อย่างน่าสนใจเรื่องการจำกัดการสนับสนุนเงินทุนให้แก่บริษัทที่ค้าอาวุธประเภทต่างๆ ที่เป็นลูกค้าของธนาคาร ก่อนที่วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้จะทำให้ภาคการเงินถอยหลังจากความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

มิติการเงินกับการค้าอาวุธ และแนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ

อาวุธถือเป็นสิ่งที่ทรงอำนาจในการทำลายสิทธิมนุษยชนอย่างถึงราก และรากที่ว่านั้นก็คือ สิทธิของการมีชีวิต ด้วยเหตุนี้ FFGI จึงบรรจุประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธเข้ามาเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญสำหรับการประเมินธนาคาร 

ธนาคารหลายแห่งยังให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การซื้อขายอาวุธ ตัวอย่างเช่น Facing Finance ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รณรงค์ต่อต้านการทำลายธรรมชาติ สิทธิมนุษยชน การทุจริต และการใช้อาวุธที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ของบริษัทในทุกรูปแบบ ได้เปิดเผยข้อมูลในรายงาน Dirty Profits 7 หัวข้อ Out of Control: Irrestponsible of Weapon Tranfers and Future Weapon System ว่าธนาคารในทวีปยุโรปมีการลงทุนในบริษัทค้าอาวุธ 9 อันดับแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2015 และบริษัทเหล่านั้นยังมีความข้องเกี่ยวในการค้าอาวุธกับประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (The Middle East and North Africa: MENA) หรือหากย้อนกลับไปในปี 2021 ที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังย่ำแย่ด้วยภัยคุกคามจากโรคระบาด COVID-19 และยังไม่มีการเปิดฉากยิงในสงครามรัสเซีย-ยูเครน สำนักข่าว DW News ได้รายงานผลการสำรวจของ Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ซึ่งระบุว่า บริษัทอาวุธที่ใหญ่ที่สุดในโลก 100 บริษัท ล้วนมียอดขายที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโดยภาพรวมแล้วเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1.3 จากปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่ากว่า 531,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในรายงาน Fair Finance Guide International Methodology 2022: A methodology for the assessment of responsible investment and finance policies of financial institutions รายงานว่า ปัจจุบันมีอาวุธปืนขนาดเล็กอยู่ประมาณ 875 ล้านกระบอกทั่วโลก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการคุกคามสิทธิมนุษยชนดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว นอกจากนี้ การซื้อขายอาวุธยังเป็นช่องทางที่เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชันมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ SIPRI รายงานว่า มูลค่าการซื้อขายอาวุธ แม้จะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้าโลก แต่มีส่วนก่อให้เกิดการคอร์รัปชันคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 40 ของการคอร์รัปชันทั่วโลกอีกด้วย

ดังนั้นเกณฑ์การประเมินในหมวด ‘อาวุธ’ ของ FFGI 2020 จึงไม่ได้มีขึ้นเพียงเพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการลงทุนด้านอาวุธเพื่อป้องกันผลกระทบต่อชีวิตและสิทธิมนุษยชนเท่านั้น หากยังเป็นไปเพื่อความโปร่งใส เนื่องจากตลาดค้าอาวุธมีปัญหาการคอร์รัปชันที่สูงมากอีกด้วย 

สำหรับเกณฑ์การประเมินในหมวดอาวุธมีทั้งสิ้น 15 ข้อ หากมองในภาพกว้างจะเห็นได้ว่า เป็นการมุ่งเน้นให้ธนาคารพยายามตรวจสอบการลงทุนของบริษัทลูกค้าของธนาคาร ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการผลิต การพัฒนา การบำรุงรักษา การทดสอบ การกักตุน และการค้าทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (anti-personal land mines) ระเบิดลูกปราย (cluster munition) อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ และระบบอาวุธอัตโนมัติ รวมถึงการค้าขายหรือส่งต่ออาวุธจากบริษัทลูกค้าของธนาคาร เช่น การส่งอาวุธไปยังประเทศที่ถูกห้ามโดยสหประชาชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศ การส่งอาวุธไปยังประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การส่งอาวุธไปยังคู่ขัดแย้ง (ยกเว้นแต่จะเป็นมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ) และการส่งอาวุธไปยังประเทศที่ทุจริตคอร์รัปชันสูง หรือประเทศเป็นรัฐล้มเหลวและเปราะบาง เป็นต้น 

ถึงแม้ประเด็นเรื่องสถาบันการเงินกับการค้าอาวุธสงครามอาจซับซ้อนต่อความเข้าใจทั่วไป แต่ความสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้ก็ดำเนินควบคู่กันมาโดยตลอด ตัวอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ การสุ่มตรวจสอบสถาบันการเงินโดยแนวร่วมทางการเงินเพื่อความเป็นธรรมเยอรมนี (The Fair Finance Guide Germany: FFG) พบว่า ยังมีธนาคารที่มีความเสี่ยงในการพัวพันกับกิจการด้านการค้าอาวุธอยู่ คือ ธนาคาร Deutsche, Commerzbank และ DekaBank เนื่องจากธนาคารเหล่านี้ยังคงทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าอาวุธอยู่ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

จากการเปิดเผยข้อมูลผู้ถือหุ้นในบริษัทค้าอาวุธที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ประกอบกับมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของยอดขายอาวุธ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่าโลกมีความขัดแย้งในหลายพื้นที่มากขึ้นแล้ว ยังแสดงให้เห็นอีกว่ามีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไหลเข้าออกในตลาดนี้อยู่เสมอ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าธนาคารย่อมมีส่วนสำคัญในการลงทุนหรือปล่อยกู้ให้กับบริษัทเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ความพยายามในการกดดันให้สถาบันการเงินทั่วโลกไม่เข้าไปข้องแวะกับการค้าอาวุธด้วยเหตุผลหลายประการข้างต้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติรุนแรงที่ส่งผลต่อการทำร้ายหรือทำลายหลักการและชีวิตของมนุษย์เช่นปัจจุบัน

สถานการณ์ค้าอาวุธ ทิศทางการเงินในโลกที่เต็มไปด้วยสงคราม

หัวใจสำคัญของเกณฑ์การประเมินธนาคารในหมวดอาวุธ ประการหนึ่งคือ การเคารพสนธิสัญญาระหว่างประเทศในด้านอาวุธ เช่น การเคารพมติของสหประชาชาติ หลักกฎหมายด้านมนุษยธรรม หรืออื่นๆ จุดนี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักการชี้นำของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ที่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะทำธุรกิจใด ในแง่นี้การร่วมถือหุ้นหรือมีส่วนแบ่งในบริษัทค้าอาวุธระดับโลกของธนาคารใหญ่หลายแห่งจึงเรียกได้ว่า นอกจากจะขัดกับหมวดการประเมินอาวุธของ FFGI แล้ว ยังขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอีกด้วย

อย่างไรก็ตามทิศทางการตลาดการเงินโลกดูจะหันกลับมาหาการลงทุนในธุรกิจอาวุธอีกครั้งหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2022 สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า การเพิ่มรายจ่ายด้านการทหารของเยอรมนีเพราะเหตุการณ์การรุกรานยูเครนเป็นเสมือนการเปิดประตูต้อนรับการลงทุนในธุรกิจนี้อย่างเปิดเผย ซึ่งก็ไม่เกินจริงนักเมื่อธนาคาร Skandinaviska Enskilda Banken (SEB) ของสวีเดนระบุว่าจะเริ่มถอนมาตรการห้ามการลงทุนในธุรกิจอาวุธ หรือแม้แต่ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีอย่าง Commerzbank ก็กำลังจะเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธเช่นเดียวกัน 

ขณะที่ธนาคารของฝั่งโลกตะวันตกเริ่มหันกลับมาสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมอาวุธ ธนาคารรัสเซียที่ถูกสนับสนุนโดยรัฐอย่าง Promsvyazbank (PSB) หรือธนาคาร Novikombank ก็มีประวัติสนับสนุนการเงินให้แก่การผลิตอาวุธของรัสเซียมาอย่างยาวนานเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามจากมติของสภาดูมาของรัสเซียตั้งแต่ปี 2017 ได้ประกาศว่าจะไม่เปิดเผยชื่อของสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอาวุธของรัสเซียเพื่อป้องกันการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์จำนวนธนาคารทั้งหมดในรัสเซียที่กำลังสนับสนุนธุรกิจอาวุธจากเหตุการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ณ ปัจจุบัน

แม้ว่าหลายสถาบันการเงินจะมีทิศทางการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังกรณีที่มีการถอนตัวออกจากการทำธุรกรรมในรัสเซีย ทว่าหากธนาคารเหล่านั้นยังคงมีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจการค้าอาวุธ หรือมิได้มีการกำกับดูแลบริษัทลูกค้าของธนาคารไม่ให้เข้าไปพัวพันกับธุรกิจค้าอาวุธหรือทำธุรกิจกับรัสเซีย หลักสิทธิมนุษยชนที่ธนาคารสนับสนุนนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักสิทธิมนุษยชนที่เต็มใบ



อ้างอิง: