ธารา บัวคำศรี: การเมืองเรื่องโลกร้อนบนเวที COP26 และธนาคารเกี่ยวอะไรกับอุณหภูมิโลก
ภายใต้ข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำหนดว่าประเทศต่างๆ จะร่วมมือกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส นั้นมีรายละเอียดด้านการปฏิบัติที่ซับซ้อนและจำเป็นต้องตกลงกันอย่างชัดเจน ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย สะท้อนประเด็นดังกล่าวผ่านมุมมองการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเชิงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ทำให้เห็นว่า ความจริงจังต่อปัญหาดังกล่าวของผู้นำประเทศต่างๆ มีอยู่หลายแง่มุม ทั้งจุดยืนทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงอำนาจทางการทหาร ซึ่งแง่มุมต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อบทบาทบนเวที COP26 ของประเทศต่างๆ ไปจนถึงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะตามมาหลังการประชุมสิ้นสุด
COP หรือ Climate Change Conference of the Parties คือเวทีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกตั้งแต่ปี 1995 นับเนื่องมาจนถึงครั้งที่ 26 ในปี 2021 นี้ ธารามองว่าเวทีเจรจานานาชาติแห่งนี้มีความหมายสำคัญต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายทางการเมืองของแต่ละประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมและสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนกลุ่มเปราะบางทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
ฉะนั้น การเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องการใช้ใจรักธรรมชาติและการรณรงค์รักษ์โลกในชีวิตประจำวันเข้ามาแก้ปัญหาเท่านั้น ทว่าเกี่ยวพันกับทั้งการเมือง กลุ่มอำนาจ ภูมิศาสตร์ การต่อรองผลประโยชน์ ไปจนถึงกลไกทางการเงินและการธนาคารซึ่งอยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคทุกคนอย่างคาดไม่ถึง
การประชุม COP26 เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากปัญหาใหญ่ของโลกคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณเห็นท่าทีที่น่าสนใจของผู้นำประเทศต่างๆ ต่อประเด็นนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างไร
ผมคิดว่าเราดูท่าทีของผู้นำโลกได้หลายมิติมาก ทั้งจุดยืนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้นๆ หรือคณะรัฐบาลชุดนั้นที่บริหารประเทศ เราอาจจะดูในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศดังกล่าวหรือกลุ่มประเทศดังกล่าวที่มีความสำคัญที่เชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือแม้กระทั่งดูถึงพื้นฐานความเป็นมาหรือประวัติศาสตร์ของผู้นำคนนั้นรายบุคคล พรรคการเมือง หรือกลุ่มที่อยู่ในกระบวนการตัดสินใจนโยบาย ดูได้หลายแง่มาก
หลักๆ แล้วกลุ่มประเทศจะแบ่งออกเป็นซีกโลกเหนือ-ซีกโลกใต้ กลุ่มประเทศซีกโลกเหนือที่มีทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง และการทหารด้วยซ้ำไป ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก มีส่วนสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศซีกโลกใต้มีความหลากหลาย มีกลุ่มประเทศหมู่เกาะ โดยเฉพาะหมู่เกาะในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้สุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อภัยพิบัติต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อีกทั้งกลุ่มประเทศที่มีชายฝั่งยาวๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย บังคลาเทศ และหลายๆ ประเทศในเอเชียก็เป็นกลุ่มประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อวิกฤติโลกร้อน วิกฤติสภาพภูมิอากาศ กลับกัน พลังในการเจรจาต่อรอง พลังในการที่จะเปล่งเสียงตัวเองก็สู้กับประเทศที่เป็นมหาอำนาจไม่ได้
ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีตัวละครที่หลากหลายถ้าพูดถึงผู้นำรัฐผู้นำประเทศในเวทีเจรจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น จนมาถึง COP26 เราก็จะเห็นตัวละครที่ว่าเริ่มมีการทำกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตั้งแต่ปี 2535 จากนั้นก็มี Conference of Parties ในอีก 2-3 ปีต่อมาที่เยอรมนี การประชุมเจรจาที่เกิดขึ้นทุกปีมาจนถึงครั้งที่ 26 นี้ เว้นช่วงปีที่แล้วเพราะวิกฤติโควิด ประเทศที่เป็นเจ้าภาพส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรปหรืออเมริกาเหนือ จะมีบ้างในเอเชียอย่างเช่นญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอดีต ขณะนั้นมีพิธีสารเกียวโตที่ออกมาจากการประชุมในเกียวโต อินโดนีเซียก็น่าสนใจเพราะเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชาโลกร้อนคือ COP13 และมีบราซิล มีในแอฟริกาบ้างอย่างเช่นโมร็อคโค ซึ่งเข้าใจว่าหลายประเทศก็เคยเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตกมาก่อน
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีเจรจาถ้ามองจากเรื่องผู้นำประเทศเราจะพบว่าใครมีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร ต้องรวมการทหารไปด้วยนะ ก็จะมีเสียงที่ดังกว่า ประเทศที่มีเสียงน้อยๆ ก็จะรวมตัวเป็นกลุ่มประเทศเล็กๆ น้อยๆ ในการที่จะสร้างอำนาจในการต่อรองในเวทีเจรจา
การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศเล็กๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาบ้าง
ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากคือ การขับเคลื่อนและเรียกร้องจนทำให้เกิดเป้าหมายในความตกลงปารีส ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเจรจาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยกลุ่มประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงมากๆ ระยะหลังเขารวมกันได้มากขึ้น ใช้คำว่า V20 เข้าไปล้อกับ G20 ที่เป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ 20 ประเทศ ตัว V คือ Vulnerable เป็นกลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก โดยเฉพาะในแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และมัลดีฟส์ ซึ่งเข้าร่วมการเจรจาอยู่ทุกครั้งและมีเสียงที่ดังมาก เสียงของเขามีพลังที่ทำให้ข้อความที่อยู่ในความตกลงปารีสเมื่อ 6 ปีก่อนให้เป็น ‘เราจะต้องจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกินไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 กว่าปีก่อน’ จากที่ต่อรองกันระหว่าง 2 กับ 1.5
ส่วนกลุ่มประเทศเล็กประเทศน้อยอื่นๆ ก็มีอาเซียนของเรา แต่อาเซียนของเราไม่ค่อยแข็งแกร่งเนื่องจากความหลากหลายและความแตกต่างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทำให้อาเซียนไม่มีพลังมากพอที่จะไปสร้างการเจรจาต่อรองให้เข้มแข็งในเวทีระดับสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศเกือบทุกเวทีเลย ส่วนใหญ่เขาก็จะมีคำประกาศเป็น declaration ออกมาว่า 10 ประเทศในอาเซียนได้เห็นร่วมกันเป็นข้อๆ 1-2-3-4 แต่พอไปพูดในเวทีใหญ่ไม่มีใครฟัง แถมบางประเทศในอาเซียนเช่นอินโดนีเซีย บางคนบอกว่าอินโดนีเซียใหญ่เกินไปที่จะอยู่ในอาเซียน เพราะอยู่ใน G20 ด้วยเหมือนกัน จะเห็นว่ามีความหลากหลายของกลุ่มเจรจาต่อรองในเวทีเจรจาโลกร้อน แต่กลุ่มประเทศเล็กประเทศน้อยที่รวมตัวอย่างเห็นได้ชัดเป็นประเทศที่เป็นหมู่เกาะ
ประเด็นหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันคือการสนับสนุนเงินจากประเทศพัฒนาแล้วให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แนวคิดดังกล่าวถือว่าเป็นแนวคิดที่มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
แนวคิดนี้อยู่บนพื้นฐานของหลักการใหญ่ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน (Common but Differentiated Responsibilities) กล่าวคือ ในช่วงที่โลกมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกมาจนถึงปัจจุบันก๊าซเรือนกระจกค่อยๆ เพิ่มขึ้น แล้วทำให้เกิดความปั่นป่วนในระบบสภาพภูมิอากาศอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน เพราะประเทศอุตสาหกรรมไปขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติก็ถูกปล่อยออกมา ใช้พลังงานเพิ่มขึ้น แล้วในที่สุดก็สร้างผลกระทบ
แนวคิดเรื่องการต้องมีกองทุนในการให้ประเทศรวยช่วยประเทศยากจนเพื่อปกป้องและฟื้นคืนผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศคือแนวคิดเรื่อง ‘หนี้นิเวศ (Ecological Debt)’ ถ้าพูดภาษาง่ายๆ คือประเทศรวยไปทำบาปก่อน เป็นบาปนิเวศ เพราะฉะนั้นคุณต้องชดใช้บาปที่คุณก่อขึ้น ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งผลกระทบจากความแปรปรวน ภัยแล้ง พายุหมุนเขตร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น มลพิษทางอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น คลื่นความร้อน หรือแม้กระทั่งฤดูร้อนอากาศเย็น มันเพี้ยนไปหมด เป็นผลมาจากการที่ประเทศรวยเข้าสู่กระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์แย่งชิงทรัพยากร เอาไปสั่งสมความมั่งคั่งของตัวเอง แล้วในที่สุดก็กระทบต่อประเทศที่ยากจน
เพราะฉะนั้น มันเป็นแนวคิดที่ผมคิดว่ามีเรื่องความเป็นธรรมอยู่ในนั้นด้วย กล่าวคือ ไม่ได้หมายถึงประเทศจนไปแบมือขอเงินจากประเทศรวย แต่เป็นความรับผิดชอบของประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยมาก่อน ซึ่งไปเอาทรัพยากรมาจากประเทศยากจนนั่นแหละ เอาป่าเอาสินแร่ต่างๆ มาเข้าสู่กระบวนการผลิตแล้วสร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชาติของเขา จึงมีกระบวนการหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่าเราจะทำอย่างไร เพราะประเทศไทยและอื่นๆ ในเอเชียที่ได้รับผลกระทบหนักไม่มีปัญญาที่จะต่อกรกับความเกรี้ยวกราด ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอหรือการสนับสนุนทางการเงินที่เป็นธรรม ต้องมาในรูปแบบของการที่จะทำอย่างไรให้ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนไม่เดินตามความผิดพลาดของประเทศร่ำรวย ประเทศอุตสาหกรรม แต่กระโดดไปหาทางออกเลย เหมือนการที่กบกระโดด (leapfrog) คือแทนที่จะต้องไปเผาถ่านหินเพิ่มขึ้น ใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น รุกชุมชนแล้วเอาทรัพยากรมาสร้างระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ก็กระโดดไปหาเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น โดยไม่ต้องเลียนแบบความผิดพลาดทางการบริโภคและการผลิตของประเทศตะวันตก
จะเห็นว่ามีแนวทางหรือนโยบายมากมายที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่ในมุมมองนักกิจกรรมอย่าง เกรตา ธุนเบิร์ก ที่เคยออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่านโยบายต่างๆ เป็นเพียงการประกาศ “บลา บลา บลา” จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิด “บลา บลา บลา” เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ
มีความท้าทายมาก เพราะเรา บลา บลา บลา มาตั้งแต่ COP1 จนถึง COP26 ผมคิดว่าถ้าเทียบกับคนคือจากเด็กมาเป็นวัยรุ่น จนอยู่ในช่วงของวัยหนุ่มสาวแล้ว หากเราจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่เกรตาพยายามสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในการเจรจาว่าด้วยสภาพภูมิอากาศระดับโลก ต้องกลับไปดูการที่แต่ละประเทศมีผลประโยชน์ ผมว่าทุกประเทศเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นตัวตั้ง อย่างสหรัฐอเมริกาก็จะเข้าๆ ออกๆ พอเปลี่ยนประธานาธิบดีก็บอกว่าฉันจะไม่เจรจา แล้วก็ออกไปแล้วก็กลับเข้ามาใหม่ อันนี้เป็นพื้นฐานของสหรัฐอเมริกาที่มีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ความไม่แน่นอนตรงนี้ผมคิดว่าเป็นความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนผ่านของผู้นำประเทศ ในประเทศที่มีประชาธิปไตยจะมีการเลือกและเปลี่ยนผู้นำ การเปลี่ยนผู้นำ การเปลี่ยนพรรคการเมือง หรือการเปลี่ยนทิศทางในการพัฒนาของแต่ละประเทศส่งผลต่อ บลา บลา บลา อยู่มาก เพราะทำให้เราไม่มีความต่อเนื่องของการทำงานตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน
เราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ชุมชนนโยบาย’ ที่อาจยึดโยงกับกระบวนการทางการเมืองหรือไม่ก็ได้ เพื่อรับประกันว่าไม่ว่าเราจะมีรัฐบาลมาจากแบบไหนก็ตาม อย่างกรณีของประเทศไทยเราจะพบว่ามีความยากลำบากมาก เนื่องจากเรามีพื้นที่ประชาธิปไตยน้อยมาก รัฐบาลก็อย่างที่เห็นกันอยู่นะครับ คราวนี้แต่ละรัฐบาลที่เข้ามาก็เปลี่ยนคณะเจรจา ถ้าไม่ใช่คนของตัวเองก็ไม่ต้องส่งไป เขาจะเอาคนที่รู้จัก คนที่สนิทชิดเชื้อมีสายสัมพันธ์ด้วย หรือเอาคนที่เห็นด้วยกับตัวเองส่งไปเวทีเจรจาทุกๆ ปี ซึ่งไม่ต่อเนื่อง ทำให้นโยบายที่เอามาใช้ก็ไม่ต่อเนื่องไปด้วย เพราะแต่ละพรรคการเมืองก็มีวาระทางการเมืองของตัวเองในการขับเคลื่อนนโยบาย
เพราะฉะนั้น ต้องมีชุมชนนโยบายที่ไม่ไปยึดโยงทั้งหมดกับกระบวนการทางการเมือง อาจอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมาธิการของรัฐสภาก็ได้ เพราะต่อให้เขายุบสภาแล้วมีการเลือกตั้งใหม่ รัฐสภาก็ยังทำงานอยู่ได้ ตรงนี้ผมคิดว่าสำคัญ มันจะช่วยลดบลา บลา บลา ลงมาได้มากถ้าเรามีผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่มีประสบการณ์เรื่องของการเจรจามาเป็นพี่เลี้ยง ถ้าเขาอายุมากขึ้นเขาจะเป็นพี่เลี้ยงให้คนรุ่นใหม่ในการเข้าสู่เวทีการเจรจา เป็นการสืบทอดกันมาว่าจุดยืนของประเทศไทยอยู่ตรงไหนในเรื่องนี้ แต่ตอนนี้มันไม่มี เหมือนกับหลายประเทศก็เป็นอย่างนี้ แล้วบลา บลา บลา เป็นเพราะว่าเรามีผู้นำประเทศที่บางครั้งอยู่ได้ไม่นานก็ไป ไปพูดไว้เมื่อ COP คราวก่อนก็ไม่เห็นว่ามีความเคลื่อนไหวอะไร ไปพูด COP คราวนี้คิดว่าพอกลับมาก็ยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ชุมชนนโยบายเป็นเรื่องสำคัญมาก
ชุมชนนโยบายจะประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักการเมือง พรรคการเมือง ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคมที่มีความสำคัญมาก หรือแม้กระทั่งกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มารวมกันเป็นชุมชนนโยบาย แล้วขับเคลื่อนประเด็นภายใต้กลไกรัฐสภา
อาจกล่าวได้ว่าชุมชนนโยบายเป็นการให้อำนาจกับกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยด้วยใช่ไหม
เกี่ยวข้องกันมาก ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม กลายเป็นว่าสิ่งแวดล้อมคือปลูกต้นไม้ไม่เกี่ยวกับการเมืองใช่ไหม แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเห็นได้ชัดว่าอย่างไรก็หนีไม่พ้น เพราะเวที COP ไม่ใช่เวทีสิ่งแวดล้อมนะ มันคือเวทีเจรจาทางการเมือง คุณจะต้องมีมิติ มีความหลากหลาย มีวิสัยทัศน์ที่รอบด้านมากในการที่จะขับเคลื่อนจุดยืนของตัวเองในเวทีระดับโลกแบบนี้ ยิ่งประเทศไหนมีพื้นที่ประชาธิปไตยมากขึ้น ผมคิดว่า ‘บลา บลา บลา’ จะไม่เยอะเท่ากับประเทศที่มีความเข้มงวดหรือมีลักษณะที่เป็นอำนาจนิยม แล้วกีดกันการมีส่วนร่วมของคนเล็กคนน้อยภาคประชาชนออกไป
ความเป็นประชาธิปไตยจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ไหมว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าจะมีสมดุลในการจัดการระหว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมกับปัญหาเศรษฐกิจ ได้ดีกว่าประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่า
ใช่ครับ อันหนึ่งที่เรียกว่าเป็นจุดเด่น อย่างเช่นในสหภาพยุโรปมีการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน และเขาเปิดพื้นที่ให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้ออกมาเรียกร้องหรือประท้วงด้วย แต่สิ่งที่ผมอยากสะท้อนคือไม่ใช่ว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องมีนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ดีไปเสียหมดทุกอย่าง บางทีเราจะเห็นพรรคการเมืองในอเมริกาสู้กันเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม ประธานาธิบดีคนนี้ขึ้นมาก็ส่งเสริมอุตสาหกรรม ขุดเจาะน้ำมัน ดึงเอาทรัพยากรจากประเทศอื่นๆ มาใช้ หรือแม้กระทั่งไปสร้างสงครามในตะวันออกกลางเพื่อเอาทรัพยากรต่างๆ มาใช้
แต่อีกมุมหนึ่ง การมีพื้นที่ของสาธารณะ พื้นที่ประชาธิปไตย จะช่วยทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ต้องมีการเปิดพื้นที่ให้มีการเรียกร้อง ส่งเสียง หรือมีการประท้วงของกลุ่มคน ไม่เช่นนั้นผู้กำหนดนโยบายจะไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจไปจะเกิดอะไรขึ้น การเคลื่อนไหวทางสังคม การเคลื่อนไหวทางการเมือง และการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งสำคัญที่จะไปติดตาม ตรวจสอบ หรือจับตาว่าผู้นำของประเทศของเรากำลังทำอะไรอยู่ เมื่อต้องมีตรงนี้แล้วจะทำให้สิ่งที่เกรตาพูดว่าผู้นำประเทศเอาแต่บลา บลา บลา ลดน้อยลง
เมื่อนโยบายทางสิ่งแวดล้อมมีเรื่องเศรษฐกิจและการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้นำประเทศจะมีการให้อำนาจกับองค์กรที่เรียกว่าสถาบันการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องได้มากน้อยแค่ไหน
ในอดีตที่ผ่านมา เราจะพบว่าสถาบันการเงินในเอเชียไม่มีบทบาทที่เห็นได้ชัดเจนมากหรือแทบจะแยกขาดจากกัน ยกตัวอย่างเช่นสถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่างธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือธนาคารแห่งญี่ปุ่นเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือธนาคารใหญ่ที่ประเทศจีนตั้งขึ้นมาเป็นธนาคารของตัวเองเพื่อออกเงินกู้ทำโครงการต่างๆ ธนาคารยิบๆ ย่อยๆ ในระดับประเทศก็มีบทบาทที่เราเห็นไม่ชัดเจนในอดีตเช่นกัน เพราะเขาเอาเรื่องการสนับสนุนการลงทุนเป็นตัวตั้งเพื่อที่จะได้กำไรจากดอกเบี้ย โดยไม่ได้สนใจว่าจะต้องไปสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงกี่เขื่อน จะต้องไปสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไหน
เมื่อเร็วๆ นี้เองเกิดการขับเคลื่อนจากกระแสที่มองว่าทุนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ภาคการเงินกองทุนต่างๆ มีบทบาทนำในการเปลี่ยนแปลง เมื่อไม่นานมานี้ก็จะพบว่าธนาคารพัฒนาเอเชียมีนโยบายไม่ให้เงินกู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลก แต่ยังไม่ชัดเจนเพราะโครงสร้างพื้นฐาน เช่น มีการสนับสนุนการสร้างถนนและโครงข่ายรถไฟฟ้าความเร็วสูงร่วมกับจีนของประเทศในลุ่มน้ำโขง เราจะถือว่าสิ่งนี้มันเป็นการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลไหม ซึ่งก็เป็นแต่ไม่ได้มาเป็นโครงการๆ
สำหรับสถาบันการเงินในประเทศไทย ระยะหลังๆ อาจจะตื่นตัวขึ้นนะ เช่น ธนาคารกสิกรไทยที่ออกมาประกาศว่าจะให้เงินกู้กับโครงการที่ลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน แต่ผมคิดว่ามีสถาบันทางการเงินหรือกองทุนในประเทศไทยที่ยังไม่ตระหนักเรื่องนี้มากนัก แต่สำคัญนะเพราะในยุโรปหรืออเมริกาทำไปกันเยอะแล้ว เช่น กองทุนขนาดใหญ่ของนอร์เวย์ถอนการลงทุนจากเวียดนาม การลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือธนาคารต่างๆ หรือที่ไม่ใช่ธนาคาร เป็นสถาบันการศึกษา หรือสถาบันทางศาสนาในยุโรปหรืออเมริกาก็เรียกร้องให้มีการถอนการลงทุน เพราะเมื่อมหาวิทยาลัยมีรายได้จากการเก็บค่าเช่าที่ดินหรือรายได้ทางอื่นๆ มาสะสมเป็นกองทุนใหญ่แล้วมีศักยภาพในการให้กู้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกาหรือยุโรปก็มีนโยบายว่าจะไม่ให้เอาเงินไปใช้ในทางที่ส่งเสริมให้เกิดเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น แต่ประเทศไทยผมคิดว่าเพิ่งเริ่ม ซึ่งน่าสนใจมากที่เราอยากจะเห็นสถาบันทางการเงินพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม พูดถึงความเป็นธรรมในโครงการที่ตัวเองให้เงินกู้ไปมากขึ้น
ในการประชุม COP26 พูดถึงบทบาทของสถาบันทางการเงินอย่างไรบ้าง
ประเด็นหนึ่งที่ COP26 ตั้งเป็นเป้าหมายคือ จะทำอย่างไรให้เกิดการบรรลุเป้าหมายในการดึงเอาทรัพยากรทางการเงินจากประเทศร่ำรวยให้ได้แสนล้านเหรียญสหรัฐมาเป็นกองทุนสนับสนุนให้ประเทศยากจนได้ปรับตัว ฟื้นตัว และฟื้นฟูความเสียหายจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ตอนนี้เงินก้อนนี้ยังน้อยมาก คือมีอยู่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่ดึงเอามาจากประเทศต่างๆ ที่ร่ำรวย เป็นแนวคิดเรื่องหนี้นิเวศที่ทำให้เกิดกองทุนขนาดใหญ่ผ่านช่องทางของโครงการสหประชาชาติหรือกลไกของธนาคารโลก เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในซีกโลกใต้หรือประเทศยากจนสามารถเข้าถึงกองทุนนี้ได้ผ่านกลไกที่มีอยู่
แต่ปัญหาคือ นอกจากจะระดมได้ไม่พอเพราะประเทศร่ำรวยอ้างว่ากำลังเผชิญกับวิกฤติโควิดและบางประเทศยังนิ่งเฉยอยู่ ยังมีความไม่ชัดเจนในการตกลงว่าจะเอาไปทำอะไรบ้าง เช่น ตอนนี้ Net Zero เป็นกระแสใหญ่ แล้วกองทุนแสนล้านบอกว่าจะให้บริษัท A ใช้กองทุนผ่านรัฐบาลไทย แล้วรัฐบาลไทยเอาไปปลูกป่า เพื่อดึงเอาคาร์บอนเครดิตมาใช้ แล้วบริษัทจะได้ทำธุรกิจของตัวเองตามปกติโดยไม่ต้องลดการปล่อย อย่างนี้ถือว่าเป็นการใช้กองทุนที่มีความผิดเพี้ยน เพราะฉะนั้น กองทุนนี้ต้องมีความชัดเจนว่าเอาไปทำอะไร และทำไปเพื่อที่จะสร้างความเป็นธรรม ไม่ใช่ไปส่งเสริมให้เกิดการขูดรีดหรือทำร้ายชุมชนที่ต้องดูแลผืนป่ามากขึ้น ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันโดยไม่น่าจะจบด้วยการที่เห็นกองทุนเงินแสนล้านเหรียญสหรัฐเกิดขึ้น อาจจะต้องใช้เวลา
ขยายความคำว่า ‘หนี้นิเวศ’
หนี้นิเวศคือภาระรับผิด (accountability) ภาระรับผิดของประเทศประเทศหนึ่ง หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่มีอำนาจบริษัทหนึ่งในการที่จะชดใช้ ชดเชย หรือมีภาระรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมโดยเชื่อมโยงกับการปฏิบัติงานของตัวเอง
ตัวอย่างที่ชัดเจนของหนี้นิเวศคือฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะที่เจอกับพายุไต้ฝุ่นหลายสิบลูกในแต่ละปี และปัจจุบันมีซูเปอร์ไต้ฝุ่นซึ่งรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบมากขึ้น สะสมความเสียหายเกิดขึ้น นักวิจัยคนหนึ่งจึงเข้าไปดูว่าก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมมาจากไหนบ้าง พบว่าในโลกนี้มีอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหินจำนวน 100 แห่งทั่วโลกที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดวิกฤติสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน เขาก็ไล่มาว่า 10 อันดับแรกเป็นใครที่ไหนบ้าง ซึ่งก็เป็นบริษัทที่เรารู้จักกันทั่วโลกเพราะว่าเราก็อาศัยบริการตามปั๊มน้ำมัน
องค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้คือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของฟิลิปปินส์ เขาใช้งานวิจัยมาฟ้องร้องบริษัทเหล่านี้เพื่อเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชุมชนในฟิลิปปินส์จากพายุไต้ฝุ่น แล้วใช้กลไกกฎหมายระหว่างประเทศในการเชื่อมโยงให้เห็นว่าบริษัท A ปล่อย 100 บริษัท B ปล่อย 80 แล้วจะทำอย่างไรให้บริษัท A เอากำไรที่สะสมความมั่งคั่งได้ไม่รู้กี่แสนล้านล้านเหรียญของตัวเองมาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนฟิลิปปินส์ หรือชดใช้ความเสียหายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในกระบวนการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเปิดให้มีการเรียกข้อมูลมาชี้แจงข้อมูล ใช้เวลาเป็นปี ตอนนี้ยังไม่มีผลออกมาจากคณะกรรมการสิทธิฯ ของฟิลิปปินส์
สิ่งสำคัญคือต้องมีหลักฐานหรือพื้นฐานของข้อมูลที่โยงให้เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศโยงไปถึงบริษัทได้ เมื่อปีที่แล้วในยุโรปมีการฟ้องร้องบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่ง แล้วใช้เวลาไม่นานเพราะข้อมูลมีอยู่มาก ศาลตัดสินให้บริษัทนั้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น แล้วไม่ใช่แค่ลดที่ต้นตอนะ ทั้งห่วงโซ่อุปทานของบริษัทนั้นทั่วโลก สิ่งนี้จะช่วยบรรเทาวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
มีตัวอย่างโครงการหรือนโยบายที่ช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริงอยู่ไหม
ในขณะที่เราเห็นปัญหาเยอะแยะพวกนี้ก็มีแนวโน้มใหญ่แนวโน้มหนึ่ง คือการปฏิวัติพลังงานหมุนเวียน เราจะเห็นได้ว่าในอดีตมีการเถียงกันว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนแพงมาก แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาราคาตกลง ถ้าเราจับเอาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนโยนเข้าไปในตลาดก็สามารถแข่งขันได้แล้ว และเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรมด้วย ผมคิดว่าการปฏิวัติพลังงานหมุนเวียนเกิดจากกระบวนการเจรจาวิกฤติสภาพภูมิอากาศนี่ล่ะ เราต้องหาทางออกจากสิ่งที่เป็นวิกฤติ เพราะฉะนั้นมันต้องมีทางไป ทางไปคือเราจะไม่ไปทางเดิม คิดแบบเดิมไม่ได้ต้องคิดใหม่ เหมือนที่ไอน์สไตน์บอกว่าจะใช้กรอบคิดแบบเดิมมาแก้ปัญหาที่มีอยู่ไม่ได้ ต้องมีการปฏิวัติ ต้องมีการลุกขึ้น
การปฏิวัติพลังงานหมุนเวียนเป็นทางออกอย่างหนึ่ง เพียงแต่หลังการปฏิวัติก็อีกเรื่องหนึ่งนะ ในประเทศไทยอุตสาหกรรมถ่านหินรายใหญ่รายหนึ่งเอาเงินของตัวเองไปลงทุนโซลาร์เซลล์เรียบร้อยแล้ว ในแง่ของการปฏิวัติก็เหมือนการเปลี่ยนอย่างถึงรากถึงโคนของระบบใดระบบหนึ่ง แต่พอเปลี่ยนไปแล้วกลไกของระบบทุนนิยมก็ยังดำเนินอยู่ การที่คนมีเงินเห็นว่าถ่านหินไม่ได้กำไรก็เอาทรัพย์สินของตัวเองไปลงทุนแบบใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ได้อยู่ ไม่ได้แย่มาก เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ผลพวงของการปฏิวัติพลังงานหมุนเวียนเป็นประโยชน์กับทุกคน เป็นประโยชน์ถึงคนเล็กคนน้อยด้วย หรือทำให้คนเล็กคนน้อยได้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติพลังงานหมุนเวียน ได้มีหลังคาของตัวเองที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง พึ่งพาตัวเองได้และมีรายได้จากการขายไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากพลังงานหมุนเวียนที่ตัวเองสร้างขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าท้าทาย อย่างไรก็ตามก็จะเห็นว่ามีทางออกของมันอยู่
อีกอันหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นทางออกของปัญหาคือ การมีนวัตกรรมใหม่จากแนวคิดของคนรุ่นใหม่ จากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นักคิด สถาปนิก หรือศิลปินในการออกแบบนวัตกรรมเพื่อลดแรงกระแทกจากผลพวงวิกฤติสภาพภูมิอากาศ อย่างเช่นทีมสถาปนิกที่พยายามทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองเหมือนกับฟองน้ำ ไม่ใช่ออกมาทำถนนหรือขยายโครงสร้างพื้นฐานไปแล้วออกแบบผังเมืองที่ไม่ยืดหยุ่นเอาเสียเลย พอเจอน้ำท่วมเข้าไปก็พังหมด
อีกอันหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นทางออกคือคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในที่ของตัวเอง แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับความสำคัญ คนที่ทำเกษตรยั่งยืน ทำเกษตรที่หลากหลาย หรือสร้างที่ดินของตัวเองขึ้นมาเป็นทางออกในระดับชุมชน พอรวมตัวกันจะเอามาต่อยอดเป็นทางออกในระดับประเทศได้ แต่แนวทางนี้ไม่ได้รับการให้ความสำคัญ ซึ่งจะไปโยงกับกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐ แผนพัฒนาต่างๆ ที่เรามี แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แม้กระทั่งแผนโลกร้อนของประเทศไทย กลายเป็นเครื่องมือในการย่ำยีกลุ่มคนเล็กคนน้อยที่ต้องการหาทางออกให้ตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหดหู่เหมือนกัน
เราเห็นว่าประเทศไทยเสี่ยงเป็นอันดับ 9 จากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ แต่นโยบายถูกกำหนดจากข้างบนลงข้างล่าง แล้วคนที่ได้ประโยชน์คือภาคอุตสาหกรรมหรือคนมีเงิน ซึ่งรัฐบาลเข้าไปส่งเสริม แต่คนเล็กคนน้อยซึ่งอยู่ในที่ต่างๆ กลายเป็นจำเลยของปัญหาโลกร้อน ตัดต้นไม้ต้นหนึ่งก็ถูกฟ้องว่าทำให้เกิดโลกร้อน มันทุเรศทุรังมาก อันนี้คือผลพวงของนโยบายที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งกลุ่มชาติพันธ์ุในประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วโลกที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลความหลากหลายของระบบนิเวศมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของโลก ก็ต้องถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ของตัวเอง ระบบการผลิตของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ไร่หมุนเวียนที่ถูกมองว่าไม่ดี มันแย่มาก ผมคิดว่านี่คือทางออกจากวิกฤติโลกร้อนนะ แต่รัฐไทยไม่สนใจ ซึ่งคล้ายๆ กับหลายประเทศในซีกโลกใต้ ในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งเอเชียทั้งลาตินอเมริกา เหมือนกันหมดเลย
มีตัวอย่างโครงการหรือนโยบายของประเทศใดบ้างที่แสดงให้เห็นว่าผู้นำของประเทศสนับสนุนแนวทางที่เป็นธรรม เพื่อทางออกด้านวิกฤติการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศ
มีเยอะเลย เช่นบางประเทศมีนโยบายเปลี่ยนระบบคมนาคมขนส่งจากการพึ่งพาการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าหรือระบบการขนส่ง ระบบราง มากไปกว่านั้นคือสร้างพื้นที่ที่ทำให้คนเดินมากขึ้น หรือสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้คนพึ่งพาระบบคมนาคมขนส่งโดยไม่ต้องใช้ยานยนต์ บางครั้งเราจะเห็นผู้นำในประเทศยุโรปบางประเทศใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้า ก็เป็นส่วนเล็กๆ ที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากว่าเขามีนโยบายที่ชัดเจน แต่ที่เขาทำได้เพราะเขามีศักยภาพ มีเงินและมีความชัดเจนที่จะหาฉันทามติจากประชากรของตัวเอง ขณะที่ประเทศไทยผมคิดว่าทำได้นะ แต่เรามีช่องว่างความเหลื่อมล้ำสูงมาก ถ้าจะประกาศให้ประเทศไทยใช้รถไฟฟ้าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าต้องคิดหนักเหมือนกันเรื่องของความเหลื่อมล้ำ คนที่ไม่มีทรัพยากรไปเปลี่ยนจะทำอย่างไร
ในประเทศที่พัฒนา ประเทศที่ร่ำรวย ประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมแล้วดูเหมือนว่าการเปลี่ยนผ่านของเขาไม่ใช่เรื่องยาก เป็นเพราะกระบวนการทางสังคมที่มีอยู่สร้างฉันทามติได้ในระดับหนึ่ง แต่หลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ตอนที่ประธานาธิบดีมาครงประกาศนโยบายเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมก็มีคนงานออกมาประท้วงกันทั่วประเทศ เพราะตรงนี้ทำลายชนชั้นคนงาน เป็นต้น เราจะพบว่าหลายนโยบายของประเทศร่ำรวยดูมีความชัดเจนและก็หาทางออกได้ แต่จะไปเลียนแบบมาเราต้องดูบริบทของประเทศเราด้วย สิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม เหมือนกับที่ฝรั่งเศสเจอ ซึ่งฝรั่งเศสก็มีความเหลื่อมล้ำอยู่ระดับหนึ่ง นโยบายไหนที่กระทบกับชนชั้นคนงานเขาก็ลุกฮือทั่วประเทศแล้ว
เพราะฉะนั้น นโยบายของเรื่องโลกร้อนในประเทศร่ำรวย ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ไม่มากก็น้อยต้องคำนึงถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ จะประกาศไปแล้วบอกว่ามันเป็นทางออกในเรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
เรียกได้ว่าจุดสำคัญที่สุดคือการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยใช่ไหม
ใช่ๆ แต่เวลาเราพูดถึง COP ซึ่งมีมาถึง 26 ครั้งแล้วทำไมยังหาทางออกไม่ได้สักทีก็คือ เคยมีครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์คือการเจรจาที่ทำให้เกิดพิธีสารมอนทรีออล ซึ่งนำไปสู่การลดรูโหว่ในชั้นโอโซนของชั้นบรรยากาศโลก และลดการปล่อยสารที่ทำลายชั้นโอโซน อันนี้เป็นความสำเร็จที่สะท้อนให้เห็นว่าถ้าประเทศต่างๆ ร่วมมือกันแล้วพูดเป็นเสียงเดียวกันก็ทำได้ โดยที่ละเว้นผลประโยชน์ของชาติตัวเองไว้บ้างแล้วดูผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
แต่ด้วยความที่ประเด็นเรื่องสภาพวิกฤติภูมิอากาศมันซับซ้อนกว่าแค่สารทำลายชั้นโอโซนอันเดียว ซึ่งโยงใยไปถึงเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แม้กระทั่งการทหารที่มีอยู่ เช่น รัสเซียต้องการใช้อาร์กติกเป็นทางออกทางทะเลในการที่จะขนส่งเพื่อทำการค้าขายมากขึ้น ฉะนั้น รัสเซียไม่สนใจว่าน้ำแข็งอาร์กติกจะละลายหรือไม่ เพราะยิ่งละลายยิ่งดี รัสเซียจะได้มีท่าเรือส่งออกแทนที่จะพึ่งพาช่องแคบต่างๆ มิติเหล่านี้เป็นมิติเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนกว่าการซ่อมรูโหว่ที่ชั้นโอโซนของโลก ผมคิดว่าอาจจะมีหลาย COP อาจจะมีเป็นร้อยจนกระทั่งเราไม่อยู่บนโลกนี้แล้วแต่ยังเจรจาเรื่องนี้กันอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญอย่างที่บอกก็คือคนตัวเล็กตัวน้อยต้องลุกขึ้นมา ต้องส่งเสียง ต้องมีการประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายได้ตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง
ถ้าเราหันกลับมามองคนธรรมดาอย่างเราๆ ซึ่งหลายคนก็เป็นลูกค้าของธนาคารอยู่แล้ว เรามีอำนาจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน
เราเห็นคนรุ่นใหม่มีเสียงที่แตกต่างไปจากคนรุ่นเดิมๆ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ถึงแม้จะไม่ได้รับการยอมรับจากคนในเชิงสถาบันมากพอ แต่ผมคิดว่าพลังของผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้บริโภครุ่นใหม่น่าจะเขย่าอะไรได้ โดยเฉพาะสถาบันการเงิน ผมมองว่าแนวคิดการเงินที่เป็นธรรมเป็นการเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก เพราะเกณฑ์ประเมินหัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพุ่งตรงไปที่หัวใจของสถาบันการเงินว่า ถ้าคุณมีเงินคุณจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้มีความเป็นธรรมได้ไหมแทนที่จะเอาผลกำไรอย่างเดียว ซึ่งทำได้ แต่สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญคือลูกค้าของธนาคารหรือผู้บริโภคที่จะต้องเข้าใจว่าที่จริงแล้วเราไม่ได้ปฏิเสธที่จะเห็นการลงทุน แต่ต้องเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ทั้งต่อผู้บริโภค ลูกค้า ธนาคาร และสิ่งแวดล้อมกับสังคม ผมคิดว่าผู้บริโภครุ่นใหม่ที่รู้จักตั้งคำถามจะช่วยเปลี่ยนกลไกเหล่านี้ให้มันดีขึ้น
จำได้ตอนที่ผมยังเป็นนักกิจกรรมใหม่ๆ เรื่องนี้ไม่อยู่ในหัวเลยนะ เราก็ทำตามสิ่งที่มันเป็นอยู่ในยุคของเรา ถึงแม้ว่าเราจะไปประท้วงธนาคารโลกที่ให้เงินกู้สร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตทุ่งใหญ่นเรศวรแต่ธนาคารโลกไม่ฟัง เราก็เอาเงินปลอมไปโปรยให้ธนาคารโลก มันก็ทำได้แค่นั้น เราก็ไม่ค่อยเข้าใจกลไกเรื่องนี้ ยุคนักกิจกรรมยุคถัดมาจนถึงปัจจุบันผมคิดว่ามีศักยภาพ มีความชาญฉลาด มีความกล้าหาญในการที่จะท้าทายสถาบันทางการเงินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้มีความเป็นธรรม ให้พูดถึงเรื่องความเป็นธรรมความยั่งยืนในการลงทุนมากขึ้น
มีความคิดเห็นอย่างไรต่อผลการประเมินธนาคารของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมต่อประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีเพียง 3 ธนาคารเท่านั้นที่มีคะแนน ส่วนที่เหลืออีก 9 ธนาคารผลการประเมินได้ 0
ถ้าผมเป็นธนาคารผมก็ตอบยากเหมือนกันนะ เท่าที่ดูคะแนนธนาคารส่วนใหญ่ได้ 0 อาจเพราะไม่รู้จะตอบอย่างไร ยังทำการบ้านได้ไม่ดีพอ เพราะตัวเองไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่ามันเป็นคำถามที่เจาะลึกไปที่หัวใจสำคัญว่าเราจะเปลี่ยนแปลงระบบการเงินให้เป็นธรรมได้อย่างไร อีกทั้งคำถามเหล่านี้ก็ครอบคลุมและกว้างขวาง ซึ่งเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีจากการที่เราโยนคำถามไปหาสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินก็ต้องทำการบ้านของตัวเอง
เมื่อเร็วๆ นี้เราเห็นธนาคารกสิกรไทยที่เริ่มขยับบ้างซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี แบบสอบถามเหล่านี้ช่วยให้เรามีกลไกในการตรวจสอบการดำเนินการของธนาคารมากขึ้น เขาจะได้ระมัดระวังการเอาเงินไปลงทุนมากขึ้น
จากผลการประเมินจะเห็นว่า 2 ใน 3 ของธนาคารได้คะแนนมาจากการจัดการภายในองค์กร เป็นไปได้ไหมที่สถาบันการเงินเหล่านี้จะทำได้มากกว่านั้น
ผมคิดว่ามันน่าจะทำทั้งภายในและการสนับสนุนภายนอกไปพร้อมๆ กันได้ การใช้พลังงานหมุนเวียนธนาคารทำได้เลย การลงทุนในระบบการผลิตพลังงานหมุนเวียนเขามีศักยภาพอยู่แล้วที่จะทำ และที่จริงแล้วมันคือกำไรที่สร้างผลตอบแทนได้ภายใน 3 ปี 5 ปีก็คุ้มทุน ก็คือการลงทุนอย่างหนึ่ง แต่ผมว่าไม่พอเพราะจะอยู่แค่ตรงนั้น ไม่ได้สร้างผลสะเทือนทางสังคม ถ้าเราไปธนาคารเราก็ไม่รู้หรอกว่าธนาคารนี้ใช้พลังงานอะไร ประหยัดพลังงานแค่ไหน แต่สิ่งที่มันจะทำไปพร้อมๆ กันได้คือจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินที่ธนาคารมีอยู่เอาไปลงทุนในโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นธรรมที่มันยั่งยืนได้ ไม่ทำลายชุมชน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งการให้เงินกู้กับกิจการการเกษตรที่เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้วทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดหมอกควันข้ามพรมแดน อันนั้นก็จะเป็นขั้นถัดไป มันต้องทำทั้งภายในและภายนอกไปพร้อมๆ กัน แล้วจะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือผลสะเทือนทางสังคมที่แผ่ออกไปและสร้างความเปลี่ยนแปลง
ถ้าจะสร้างการเงินที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นจริง ระหว่างให้ผู้บริโภคเรียกร้องกับธนาคารหรือให้ธนาคารเป็นผู้ริเริ่มเอง วิธีใดจะเป็นไปได้มากกว่ากัน
ในมุมของนักกิจกรรมผมคิดว่าเราก็ต้องไปเย้วๆ ที่ธนาคารบ้าง (หัวเราะ) ผมคิดว่าถ้าเราเป็นนายธนาคารเราก็คงคิดถึงแต่ตัวเลขว่าเรามีกำไรขาดทุนเท่าไร มีเงินฝากเข้ามาเท่าไร จะเอาไปลงทุนตรงไหนบ้าง ได้กำไรจากดอกเบี้ยเท่าไร เขาอาจจะคิดถึงเรื่องความยั่งยืนบ้าง มีการใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นเกณฑ์ปฏิบัติ แต่ถ้าไม่มีคนไปส่งเสียงเรียกร้อง ซึ่งผมให้ความสำคัญกับการมีคนไปส่งเสียงเรียกร้องธนาคารมากกว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในเอง เพราะว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายในง่ายมาก ไม่มีความท้าทายอะไรเลย ถ้าผู้บริหารธนาคารมีเจตจำนงที่มันแรงกล้าจริงๆ ก็ทำได้เลย แต่ว่าเขาไม่ทำเพราะไม่รู้ว่าจะทำไปทำไมหรือไม่ต้องทำก็ได้ เราต้องไปส่งเสียงเรียกร้องให้มากขึ้น ให้เขาได้ยินว่ามีประเด็นอะไรที่ธนาคารควรตระหนักบ้าง
มีความคิดเห็นที่ว่าถ้าคุณไม่พอใจธนาคารเหล่านี้คุณก็ไปถอนเงินออกมาสิ ประเด็นคือการกดดันผ่านการถอนเงินของผู้บริโภคเป็นการใช้ไม้ซีกงัดไม้ซุงที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไหม
อันนี้น่าสนใจ ถ้าถอนเงินเยอะๆ น่าจะสะเทือนอยู่นะ แต่ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ดีเท่าไร ถ้าเราไม่พอใจถ้าธนาคารนี้มีเงินเราอยู่ในบัญชีแล้วกระอักกระอ่วนมากเพราะมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมแล้วไปถอนเงินตัวเองออกมา แต่นอกเหนือจากการเรียกร้องปฏิบัติการของปัจเจกชน เราต้องแยกแยะเพราะเป็นปัญหาเชิงระบบ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาของปัจเจกที่เราไม่มีทางเลือกนะ จะทำอย่างไรเมื่อไม่มีธนาคารไหนเลยที่เราจะฝากเงินได้อย่างเชื่อใจ เพราะฉะนั้น วิธีแก้ปัญหาคือการรวมตัวกัน ตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อกองทุนระหว่างประเทศจากญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศเรา ก็มีการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมจากหลายประเทศส่งจดหมายมายังกองทุนเพื่อกดดันไม่ให้ไปสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือการสร้างเขื่อน จนในที่สุดก็มีนโยบายออกมา พลังของปัจเจกชนจึงควรจะใช้ในทิศทางหรือช่องทางที่ทำให้เกิดแรงกดดันที่ถูกต้อง
การเงินที่เป็นธรรมสำคัญเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร อ่านผลการประเมินโดย Fair Finance Thailand ได้ที่ fairfinancethailand.org/bank-guide/topics/climate-change/ |