ผลการประเมินธนาคารในหมวด

ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เกณฑ์หมวดนี้มุ่งประเมินบทบาทของธนาคารในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการดำเนินงานทั้งทางตรงและทางอ้อมของธนาคาร อาทิ การตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคารทั้งทางตรงและทางอ้อม การจำกัดการสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมที่ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินไม่เกินร้อยละ 30 การมีนโยบายสินเชื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

ผลการประเมินในปี พ.ศ. 2565 พบว่า ในปีนี้ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นธนาคาร 6 แห่งที่ได้คะแนนในหมวดนี้ โดยสำหรับปีนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ถือเป็นธนาคารแห่งแรกในประเทศไทยที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ (The Equator Principles Association: EP) เพื่อนำหลักการ EP 10 ประการ ที่เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าด้วยเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม สำหรับสถาบันการเงินในการสนับสนุนสินเชื่อโครงการ มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการระบุ ประเมิน และบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเป็นระบบในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ของธนาคาร

ธนาคารกรุงเทพกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาตมีการกำหนดนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินในบริษัทที่มีธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และ/หรือเหมืองถ่านหินชนิดให้ความร้อน (thermal coal) นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ได้มีการวัดและเปิดเผยผลกระทบที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางที่แนะนำโดย Task Force on Climate-related Financial Disclosures หรือ TCFD 

 

หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 26 หัวข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน

1. สถาบันการเงินกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สามารถวัดได้ ซึ่งสอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

2. สถาบันการเงินประกาศว่าจะใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเท่านั้นในปฏิบัติการของตัวเอง

3. สถาบันการเงินเปิดเผยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่สถาบันการเงินให้การสนับสนุนทางการเงินหรือลงทุน (โดยที่สถาบันการเงินเลือกกลุ่มบริษัทหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ ในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว)

4. สถาบันการเงินเปิดเผยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อมโยงกับบริษัทและโครงการทั้งหมดที่สถาบันการเงินให้การสนับสนุนทางการเงินหรือลงทุน

5. สำหรับสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ สถาบันการเงินประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (climate risks) เป็นข้อมูลประกอบการประเมิน

6. สำหรับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ให้การสนับสนุนทางการเงินหรือลงทุน สถาบันการเงินกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่วัดได้ และสอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

7. สถาบันการเงินวัดและเปิดเผยผลกระทบที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางที่แนะนำโดย Task Force on Climate-related Financial Disclosures

8. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน หรือไม่ลงทุน ในบริษัทที่มีธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และ/หรือเหมืองถ่านหินชนิดให้ความร้อน (thermal coal) มากกว่า 20% ของกิจกรรมทั้งหมดของบริษัท (เช่น วัดจากรายได้รวม)

9. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน หรือไม่ลงทุนให้บริษัทที่มีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และ/หรือ การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มากกว่า 30% ของกิจกรรมทั้งหมดของบริษัท (เช่น วัดจากรายได้รวม)

10. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน หรือไม่ลงทุน ในบริษัทที่มีธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และ/หรือเหมืองถ่านหินชนิดให้ความร้อน (thermal coal) มากกว่า 0% ของกิจกรรมทั้งหมดของบริษัท (เช่น วัดจากรายได้รวม)

11. สถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน หรือไม่ลงทุนให้บริษัทที่มีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และ/หรือ การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มากกว่า 0% ของกิจกรรมทั้งหมดของบริษัท (เช่น วัดจากรายได้รวม)

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

12. บริษัทเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม

13. บริษัทลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม

14. บริษัทเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน

15. สถาบันการเงินจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่ไร้มาตรการลดผลกระทบ (นั่นคือ ไม่ใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน - carbon capture and storage)

16. สถาบันการเงินจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

17. สถาบันการเงินจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

18. สถาบันการเงินจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทเหมืองถ่านหินชนิดให้ความร้อน (thermal coal)

19. สถาบันการเงินจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจทรายน้ำมัน

20. สถาบันการเงินจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

21. สถาบันการเงินจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการเกษตรกรรมที่แปลงมาจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่กักเก็บคาร์บอนในระดับสูง (high-carbon stock)

22. การผลิตวัสดุชีวภาพ (biomaterials) เป็นไปตามหลักการ 12 ข้อ ของ Roundtable on Sustainable Biomaterials (RSB)

23. การชดเชยก๊าซเรือนกระจก (CO2 compensation) ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล (ดูหัวข้อ 2.2.2 ในระเบียบวิธีการประเมิน)

24. บริษัทไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการล็อบบี้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม (พยายามส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของหน่วยงานกำกับดูแล) ที่พุ่งเป้าไปยังการทำให้นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอ่อนแอลง

25. บริษัทบูรณาการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการของบริษัท

26. บริษัทใส่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็น

ส่งข้อความของคุณเรียบร้อย

×