จากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ถึงบริษัทของกองทัพเมียนมา: ทหารรับจ้าง กำไร อาชญากรรม
เขียน: วทัญญู ฟักทอง
หลังเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา บริษัทระดับโลกอย่าง โคคา-โคล่า เฟซบุ๊ค เนสท์เล่ ยูนิลิเวอร์ อาดิดาส และอีก 68 บริษัท ได้ลงนามในแถลงการณ์ Statement by Concerned Businesses Operating in Myanmar เพื่อยันยันว่าจะทำตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน หนึ่งในตัวเลือกที่บริษัทควรพิจารณาคือยกเลิกความสัมพันธ์กับผู้ที่กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน
เฉกเช่นเดียวกับเทเลนอร์ (Telenor) บริษัทโทรคมนาคมสัญชาตินอร์เวย์ตัดสินใจเดินออกจากเมียนมาด้วยเงินสดเพียง 100 ล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ธุรกิจสามารถสร้างรายได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี
เมื่อพิจารณาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเมียนมา และผลกระทบต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พบว่าเป็นเรื่องเลวร้ายกว่าที่บริษัทและนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ รายได้ของเทเลนอร์เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐบาลทหารสั่งให้เทเลนอร์และผู้ให้บริการรายอื่นปิดสัญญาณและข้อมูลมือถือ
Danwatch หน่วยงานสืบสวนของเดนมาร์ก เปิดเผยว่า เทเลนอร์ถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลผู้ใช้งาน เช่น ที่อยู่และประวัติการโทรแก่กองทัพเมียนมา แม้ว่าจะพยายามขัดขืนแรงกดดันที่จะให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าถึงโทรศัพท์ ข้อความ และข้อมูลของลูกค้าได้โดยตรง แต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 บริษัทได้รับคำขาดให้ติดตั้งซอฟต์แวร์เพื่อกรองและสะกัดกั้นข้อมูล ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2021 เพื่อให้รัฐบาลทหารสามารถสอดแนมผู้ใช้งานได้ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งที่ทำให้บริษัทตัดสินใจขายธุรกิจและเดินออกจากเมียนมา เอกสารชี้แจงของบริษัทระบุด้วยว่า การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ของกระบวนการพิจารณาการดำเนินการของบริษัท
ขณะที่บริษัทเอกชนนับร้อยแสดงตนให้ประจักษ์ว่าจะไม่เป็นพันธมิตรหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร ทว่าบริษัทใหญ่จากไทย 11 ราย ซึ่งเข้าไปลงทุนในเมียนมา พร้อมกับประกาศนโยบายตั้งแต่ต้นว่ายึดหลัก ‘สิทธิมนุษยชน’ กลับยังคงเงียบงัน ราวกับคราบเลือดและความตายรายวันเป็นสิ่งสมมุติ
ทำไมบริษัทที่ไปลงทุนในเมียนมาจึงควรพิจารณาตามหลักการข้อสำคัญดังกล่าว
เมื่อช่วงปลายปี 2019 มีรายงานข่าวใหญ่ที่น่าตกใจเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กที่ไร้เดียงสาโดยกองทัพเมียนมา ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 2016-2017 โศกนาฏกรรมความรุนแรงดังกล่าวถูกเปิดเผยบนเวทีโลกในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่สาธารณรัฐแกมเบียฟ้องร้องเมียนมา ข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) ประกาศว่าจะดำเนินการสอบสวนว่ากองทัพเมียนมาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและก่ออาชญากรรมสงครามต่อพลเรือนในเมียนมาตั้งแต่ปี 2016 ตามคำฟ้องหรือไม่ อย่างไร
ตลอดปีนั้นมีรายงานอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับทหารเมียนมากดขี่ข่มเหงชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ เผาบ้านเรือนประชาชน กักขังทรมานผู้คน ข่มขืนหมู่ และสังหารผู้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้ใครหลายๆ คน ตั้งคำถามที่ใหญ่มากว่า ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ในเมื่อตอนนั้นพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ของ อองซานซูจี เป็นผู้นำรัฐบาล ซึ่งเหตุการณ์ควรจะดีขึ้น หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ประชาคมโลกไม่ได้เข้าใจเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2019 ว่าเป็นปฏิบัติการทางทหารปกติหรือเป็นบริการสาธารณะ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2020 อดีตประธานาธิบดี วิน มยิ่น จากพรรค NLD ได้มอบตำแหน่งผู้อาวุโสประจำกองทัพเมียนมาให้กับนายพลจำนวน 11 นาย
ส่วนปลายภูเขาน้ำแข็ง
หนึ่งในนั้นคือ พลตรีขิ่นหม่องตัน ซึ่งดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพเมียนมา เขาเป็นผู้อำนวยการกองจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ มีหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจเลือกสินค้าและบริการให้กับกองทัพ โดยใช้เงินทุนและทรัพย์สินสาธารณะของเมียนมา แต่นี่ไม่ใช่ตำแหน่งเดียวที่พลตรีขิ่นหม่องตันดำรง เขายังเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท Union of Myanmar Economic Holdings Ltd. หรือที่รู้จักในชื่อ MEHL ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่และเป็นความลับ มีผลประโยชน์ทางธุรกิจครอบคลุมหลายภาคส่วนในเมียนมา ตั้งแต่การธนาคาร การค้า การขนส่ง การก่อสร้าง เหมืองแร่ ไปจนถึงการท่องเที่ยว ยาสูบ อาหาร และเครื่องดื่ม
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในเมียนมาว่า การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการทุจริตมากที่สุด การยกตัวอย่างกรณีของนายพลขิ่นหม่องตัน ซึ่งควบสองตำแหน่งในเวลาเดียวกัน เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ทับซ้อนที่อันตราย แต่ก็ยังถือว่าเป็นการพูดถึงที่น้อยเกินไปด้วยซ้ำ เพราะนั่นเป็นเพียงแค่ส่วนปลายของภูเขาน้ำแข็ง
โฮลดิ้งในเงื้อมเงากองทัพ
กองทัพเมียนมามีบริษัทภายใต้การควบคุม 2 แห่งคือ บริษัท Myanmar Economic Corporation (MEC) และ บริษัท Union of Myanmar Economic Holdings Ltd. (MEHL) ทั้งสองครอบครองบริษัทไม่น้อยกว่า 106 แห่งในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ จำนวนนี้อย่างน้อย 45 แห่ง เป็นบริษัทที่ MEHL เป็นเจ้าของโดยตรง ขณะที่ MEC ลงทุนโดยตรงอย่างน้อย 61 บริษัท
กรรมการของ MEHL เป็นนายทหารคนเดียวกับที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ อันที่จริงบทบาทของพวกเขาใน MEHL ถูกกำหนดโดยตำแหน่งทางทหารของพวกเขาเอง พลโทอ่อง ลิน ดเว อัยการสูงสุดของกองทัพ ซึ่งรับผิดชอบในการรักษากฎหมายทหาร เป็นผู้อำนวยการของ MEHL เช่นเดียวกับ พลโทเอ วิน ผู้ตรวจการทั่วไป ซึ่งรับผิดชอบการสืบสวนและการตรวจสอบภายในของกองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ นั่งแท่นผู้อำนวยการของ MEHL ด้วย
ในฐานะกรรมการของ MEHL หน้าที่ของพวกเขาคือ การเพิ่มพูนผลกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท แม้จะเป็นบริษัทมหาชน แต่ผู้ถือหุ้นของ MEHL ก็เป็นหน่วยทหารที่ประจำการ มีทั้งบุคลากรทางทหารและทหารผ่านศึกทั้งในปัจจุบันและในอดีต เจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจของ MEHL ตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของเมียนมา ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารซึ่งรับผิดชอบงานของตำรวจ หน่วยข่าวกรองในประเทศ และเรือนจำ เป็นผู้ถือหุ้นของ MEHL เขาได้รับเงินปันผลมหาศาล นายพลมินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติในข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นต้นต่อชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ในเมียนมา เป็นประธานของกลุ่ม MEHL และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งด้วย
ขับเคลื่อนด้วยกำไร
การทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นภายในกองทัพเมียนมาและ MEHL โดยทั้งสองต่างอุปถัมภ์ค้ำชูซึ่งกันและกัน หน่วยงานทางทหารที่นำโดยผู้ถือหุ้นและกรรมการของ MEHL ให้รางวัลแก่บริษัท MEHL ด้วยทรัพย์สินมีค่าของรัฐ และสัญญาทางธุรกิจอันนำมาซึ่งความร่ำรวยมหาศาล ผลกำไรของธุรกิจเหล่านี้จะไหลกลับเข้าไปสู่ผู้นำทางทหาร กองทหาร และกองพลน้อย ผ่านทาง MEHL อีกทีหนึ่ง
MEHL จัดหาแหล่งรายได้ที่ซ่อนอยู่มากมายให้กับกองทัพ ผ่านเครือข่ายการอุปถัมภ์ของรัฐที่กว้างขวาง และสร้างธุรกิจขึ้นด้วยวิธีการใช้กำลังผลักไสผู้คนให้ออกไปจากบ้านของบรรพบุรุษ เพื่อเข้าช่วงชิงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และเปิดที่ทางให้โครงการพัฒนาใหญ่น้อยที่นำมาซึ่งทุน ที่จะช่วยเสริมวิถีชีวิตอันฟุ่มเฟือยของนายพลระดับสูง
ราวกับบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม
กองทัพเมียนมาอาจเป็นกลุ่มพันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน ธุรกิจของกองทัพเป็นเครือข่ายสำหรับการกระจายสิทธิพิเศษและการควบคุม แน่นอนว่าพฤติกรรมต่อต้านกองทัพอาจทำให้ต้องสูญเสียหุ้นและผลกำไร นั่นทำให้กองทัพเมียนมาคาดหวังความจงรักภักดีจากทุกฝ่าย เหมือนอย่างที่ MEHL แสดงความจงรักภักดี ความโหดเหี้ยม และความกล้าหาญทางธุรกิจ ทำให้สินค้าและบริการของบริษัทถูกซื้อผ่านงบประมาณทางทหาร ในขณะที่ผู้คนนับล้านชีวิตในเมียนมายังคงยากจน
การรวมกองกำลังของรัฐเข้ากับองค์กรแสวงหาผลกำไรนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคปัจจุบัน กองทัพเมียนมามีความคล้ายคลึงกับบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษ (British East India) ในยุคล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นองค์กรการค้าที่เข้ามาเปิดทำการในดินแดนอาณานิคมอินเดียและเมียนมา โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทหารรับจ้าง บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษมีกองทัพเป็นของตนเองและไม่ได้สังกัดกองทัพอังกฤษ ทหารประจำการของบริษัทมีทั้งชาวยุโรปและทหารชาวอินเดียที่เรียกว่า ซีปอย (Sepoy) พวกซีปอยมีจำนวนถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของกองทัพอีสต์อินเดีย
มีข้อมูลว่า ในปี 1800 บริษัทอีสต์อินเดียมีทหารในประจำการถึง 200,000 นาย มากกว่ากองทัพอังกฤษร่วมสมัยที่มีจำนวนทหารกว่า 100,000 นาย ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทยังก่อตั้งโรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อยเป็นของตัวเองด้วย
บริษัทอีสต์อินเดียแสวงหาผลกำไร นำมาซึ่งต้นทุนอันน่าสยดสยองสำหรับผู้คนนับล้าน อย่างเช่นการที่บริษัทตั้งภาษีในอัตราสูงในดินแดนที่ปกครอง เพื่อสร้างกำไรให้นักลงทุน ผูกขาดข้าวในพื้นที่ ห้ามเกษตรกรกักตุนข้าวเกินที่กำหนด เมื่อเกิดภาวะฝนแล้งหนักในปี 1770 ชาวไร่ชาวนาที่ถูกขูดรีดไม่สามารถทำมาหากินได้ ทางบริษัทไม่รับผิดชอบความเสียหาย ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตมากถึง 10 ล้านคน
จากจุดนี้ เรากระโดดข้ามมาที่กองทัพเมียนมาปัจจุบัน แล้วจะพบว่านี่คือแรงจูงใจ ผลกำไร และอำนาจอย่างเดียวกัน ที่ขับเคลื่อนกองทัพเมียนมาและจุดชนวนให้เกิดอาชญากรรมร้ายแรง
อัดฉีดเงินสด
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นการปฏิรูปประชาธิปไตยในเมียนมาเป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจและอยู่ในสายตาประชาคมโลก แต่น่าเสียดายที่กระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยของประเทศที่กำลังโผล่ออกมาจากเงามืดของเผด็จการทหารสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยไอคอนสันติภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้จบลงก่อนเวลาอันควร เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้นั้นตกอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างโดยระบอบการปกครองของทหารในปี 2008 อันเป็นรัฐธรรมนูญปกป้องอำนาจของทหารอย่างแข็งขัน อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเส้นทางการปฏิรูปประชาธิปไตยจะเป็นเรื่องราวที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเดียวของที่นี่
หลังการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจที่บริหารงานโดยกองทัพในปี 2011 ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และหน่วยงานให้ความช่วยเหลือต่างขนเงินทุนหลั่งไหลเข้ามาในเมียนมา พร้อมกับผลักดันให้ธุรกิจของ MEHL และ MEC เติบโตขึ้นตามไปด้วย เพราะได้รับประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
ในปี 2016 สหรัฐได้ยกเลิกมาตรการการคว่ำบาตรต่อ MEHL และ MEC ภายหลังจากที่เมียนมาเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และพยายามทำให้ธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เป็นกลุ่มบริษัทที่ไม่ชัดเจนและมีแต่ความลับเฉพาะ แต่ถึงอย่างนั้น ทุกวันนี้ยังมีชาวกะฉิ่นและชาวไทใหญ่มากกว่า 100,000 คน อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอันเป็นผลมาจากถูกรุกราน
และในปีเดียวกันนี้เอง กองทัพได้ส่งกองทหารไปยังภูมิภาคตะวันตกของเมียนมา ที่ซึ่งเหตุการณ์โศกนาฏกรรมความรุนแรงได้ปะทุขึ้นในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศ ชาวโรฮิงญาเรือนแสนถูกขับไล่ออกจากบ้านของพวกเขาจนต้องเข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในชายแดนเมียนมา-บังคลาเทศ
ถึงปัจจุบัน มีข้อมูลว่าผู้คนอีกกว่า 150,000 คน จะต้องพลัดถิ่นจากบ้านของพวกเขาในภูมิภาคตะวันตกในรัฐยะไข่หรืออาระกัน เนื่องจากการสู้รบซึ่งยังคงดำเนินต่อไปไม่รู้จบ แม้จะมีข้อเรียกร้องจากกองทัพชาติพันธุ์ให้หยุดยิงเนื่องจากการระบาดของโควิด-19
ความมั่นคงส่วนบุคคลของประชาชนเมียนมาถูกคุกคามในหลายด้าน ที่เลวร้ายที่สุดคือ ความตาย การบาดเจ็บ และการพลัดถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้อาวุธปืนตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นยุทธวิธีหลักที่กองทัพเมียนมาใช้มาโดยตลอด และแน่นอนว่า ปฏิบัติการทางทหารเหล่านี้ใช้เงินเป็นจำนวนมากมาย
ภายหลังการเคลื่อนไหวทางทหาร นับตั้งแต่รัฐประหาร ประเทศเมียนมากลายเป็นสนามรบที่ท่วมท้นไปด้วยความรุนแรงอันป่าเถื่อนของรัฐบาลทหาร กองกำลังรักษาความปลอดภัยสังหารผู้คนไปแล้วกว่า 1,000 ราย และควบคุมตัวโดยพลการกว่า 9,000 ราย ในยุคของการถ่ายทอดสดผ่านโซเชียลมีเดีย โลกต้องตกตะลึงเมื่อได้เห็นความรุนแรงของคณะรัฐประหารและความป่าเถื่อนโหดร้ายของระบอบเผด็จการ
รายงานของ Armed Conflict Location & Event Data Project (ACLED) ซึ่งเป็นโครงการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และจัดทำแผนที่วิกฤติแสดงประเภทของความรุนแรงทางการเมืองและการประท้วงทั่วโลก ระบุว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากการเข้าร่วมชุมนุมประท้วงทางการเมืองและถูกปราบปรามโดยรัฐในปี 2021 กว่าร้อยละ 60 เป็นประชาชนเมียนมา ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในปีนี้
ความขัดแย้งและการทำลายล้างตลอดกาล
MEHL และ MEC พันธมิตรทางทหารของเมียนมาอาจไม่สนใจสันติภาพ พันธมิตรสนใจในผลกำไรและอำนาจของตนเอง นั่นทำให้สงครามกลางเมืองในเมียนมาเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อขยายอำนาจและเข้าควบคุมพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านการสร้างวาทกรรมว่า มีเพียงทหารเมียนมาเท่านั้นที่สามารถป้องกันประเทศมิให้ล่มสลาย และปกป้องภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายได้
ในทางกลับกัน ประชาชนในเมียนมากำลังเรียกร้องและต่อสู้ เพื่อทวงคำมั่นสัญญาอันยาวนานของระบอบประชาธิปไตยจากรัฐบาลกลาง ระบอบประชาธิปไตยของรัฐบาลกลางที่พวกเขามีสิทธิในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง การตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่โปร่งใสและเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้เก็งกำไรกับกลุ่มพันธมิตรทางทหาร แต่ถ้าหากเป็นอย่างนั้น มันจะทำลายรูปแบบธุรกิจของพันธมิตรและกองทัพ ส่งผลให้กองทหารเมียนมาต้องขยายอำนาจเข้าไปในรัฐชายแดนทางชาติพันธุ์ของเมียนมา
โดยเฉพาะพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกับเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ กองทหารเมียนมาพยายามที่จะเข้าควบคุมจุดยุทธศาสตร์และความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย อย่างเช่น ป่าสัก อัญมณี หยก ทองคำ ทองแดง ถ่านหิน น้ำมัน ที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนา และแม่น้ำที่ยังไม่ได้รับความเสียหาย
ยุทธวิธีดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นกระบวนการพิจารณาความของศาลโลก ภายใต้ข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งปฏิบัติการถอนรากถอนโคนกลุ่มชาติพันธุ์ให้ออกไปจากบ้านของพวกเขา บังคับผลักไสให้พวกเขาไปใช้ชีวิตที่ล่อแหลมในสถานที่พลัดถิ่นภายในหรือในค่ายผู้ลี้ภัย
มีรายงานว่าทรัพยากรต่างๆ ถูกดึงออกมาจากพื้นที่โดยบริษัท MEHL และ MEC โดยมีกองพลทหารรับจ้างอารักขา เหมือนอย่างข้อสังเกตที่ว่าช่างคล้ายกับทหารรับจ้างของบริษัทอีสต์อินเดีย ทรัพยากรถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหนัก อย่างเช่น โรงงานกรด Moe Gyo ของ MEHL และโรงงานปูนซีเมนต์ Myaing Kalay ของ MEC ผลที่ตามคือ การทอดทิ้งสภาพแวดล้อมให้เสียหาย ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีการชดใช้ให้กับอีกหลายชีวิตที่ได้รับผลกระทบ ในขณะที่อำนาจและความมั่งคั่งของกลุ่มทหารก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
การทุจริตทางทหารอย่างเป็นระบบในเมียนมา ที่ซึ่งการแสวงหาผลกำไรได้แพร่เชื้อในหมู่ผู้นำทางทหารมาหลายชั่วอายุคน ได้ผลักดันให้เกิดปฏิบัติการบางอย่างที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งโลกก็ได้เห็นแล้วในศตวรรษนี้ มันทำให้ประเทศยากจนที่มีทรัพยากรอย่างอุดมสมบูรณ์ต้องพังทลายลง
ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติในเมียนมาปี 2019 ได้สำรวจตรวจสอบแหล่งรายได้ของกองทัพที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยไม่ต้องได้รับโทษ คณะผู้ตรวจการพบว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเช่าที่ดินของกองทัพโดยบริษัทต่างชาติสร้างผลกำไรให้กับกองทัพมหาศาล ที่น่ากังวลก็คือ ในรายงานฉบับนี้ระบุว่า ธุรกิจต่างประเทศใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพและพันธมิตร มีความเสี่ยงสูงที่จะมีส่วนสนับสนุนหรือเชื่อมโยงกับการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
โลกจำเป็นต้องหยุดป้อนเครื่องจักรหากำไรของกลุ่มทหารเมียนมา เพื่อไม่ให้พวกเขารักษาแชมป์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา
การตัดทอนการเข้าถึงเงินของรัฐบาลจะทำให้การยึดอำนาจของทหารอ่อนแอลง แม้ว่ามันจะเกิดความเสียหายข้างเคียง แต่ก็เป็นการ ‘ปลดเปลื้องอย่างสร้างสรรค์’ ที่ประชาชนเมียนมาเรียกร้องจริงๆ ในการต่อสู้เพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มต้น
และที่สำคัญไม่น้อยก็คือ ต้องอย่าลืมด้วยว่าประวัติศาสตร์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ที่อาจไม่ต้องย้อนไปถึงทศวรรษอันไกลโพ้นก็ได้ เอาเฉพาะแค่ทศวรรษก่อนหน้านี้ ถึงปัจจุบันนั้น มันมิใช่เรื่องราวสมมุติ
- ร่วมสนับสนุนแคมเปญ ‘ถึงเวลาทำอย่างที่พูด: เรียกร้องให้ 12 บริษัทไทยแสดงจุดยืนปกป้องสิทธิมนุษยชนในเมียนมา’
- การเงินที่เป็นธรรมสำคัญอย่างไร อ่านผลการประเมินธนาคารในหมวดสิทธิมนุษยชน ได้ที่ https://fairfinancethailand.org/bank-guide/topics/human-rights/
- อ่าน 'แถลงการณ์ของธนาคารกสิกรไทยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน'