หนี้ครัวเรือนไทยในวิกฤต COVID-19

10 ธันวาคม 2563

เราต่างรู้ดีว่าวิกฤตโควิด-19 สร้างผลกระทบแผ่กระจายไปเป็นวงกว้างไม่เว้นแม้แต่กับด้านเศรษฐกิจ ทำให้หลายคนจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อรับมือกับปัญหาการขาดสภาพคล่องของรายได้เพราะการปรับลดเงินเดือน การถูกลดชั่วโมงทำงาน การถูกเลิกจ้าง หรือแม้แต่การขาดรายได้จากการค้าขาย และแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือภาระหนี้สิน…
.
วันนี้ Fair Finance Thailand พาไปเช็คสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย รวมทั้งดูว่าทางสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือฟื้นฟูสุขภาพการเงินของลูกหนี้ จะมีนโยบายหรือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้อย่างไรบ้าง
จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าปีนี้ 1 ใน 3 ของคนไทยมีภาระหนี้สูง และส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการอุปโภคบริโภค และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
.
ด้านสถิติหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2563 อยู่ที่ 83.8% ต่อ GDP ซึ่งนับว่าพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 18 ปี และทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังคาดการณ์ว่าหนี้ครัวเรือนไทยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนเช่นนี้...
เพื่อฟื้นฟูสุขภาพทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อย ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวทางการดูแลแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในเชิงรุก ควบคู่ไปกับมาตรการรองรับไม่ให้เกิดหนี้เสีย แบ่งออกเป็น 3 ด้าน
.
ด้านแรกคือการดูแลสถาบันการเงินให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบมากขึ้น
.
เช่น การออกกฏกำกับดูแลสถาบันการเงินด้านมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือยกระดับการกำกับดูแลการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอ และตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งดูแลอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินไปจนไม่แฟร์
.
นอกจากนี้ สถาบันการเงินควรประเมินภาระหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เมื่อพิจารณาปล่อยกู้ โดยไม่ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ หรือเร่งขายสินเชื่อในลักษณะที่ทำให้เกิดหนี้เกินตัว ซึ่งสุดท้ายจะวกกลับมาเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงินในที่สุด
การช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีหนี้ล้นด้วยมาตรการเชิงรุก มีด้วยกันหลายวิธี เช่น เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันภัย หรือ “คลินิกแก้หนี้”
.
อีกวิธีคือการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อรับมือหนี้เสียที่จะมีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งการผลักดันการแก้ไขกฎหมายล้มละลาย เพื่อเปิดทางให้ผู้กู้รายย่อยที่มีหนี้สินล้น สามารถขอยื่นล้มละลายและพ้นจากการล้มละลายได้ใน 3 ปี เพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้
การให้ความรู้ในการวางแผนการเงินและวินัยทางการเงินที่ดีกับประชาชน อย่างการให้ “ทักษะการบริหารจัดการเงิน” เป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับช่วงวัย และรู้เท่าทันผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
.
สุดท้ายแล้วปัญหาหนี้ครัวเรือน อาจไม่สามารถแก้โจทย์ได้ด้วยมาตรการเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นจะต้องทำควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการจับจ่ายใช้สอย และการกู้หนี้ยืมสิน จึงจะสามารถแก้ปัญหาภาระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและดึงเศรษฐกิจไทยที่กำลังล้มให้กลับมาลุกขึ้นยืนและไปต่อได้