ธนาคารไทย "ใส่ใจ" กี่คะแนน ปีที่ 3
กลับมาอีกครั้งกับการประเมินธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โดย Fair Finance Thailand
สำหรับการประเมินในปี 2563 พบว่าธนาคารพาณิชย์ต่างแข่งขันกันจัดทำและเปิดเผยนโยบายต่อสาธารณะมากขึ้น รวมถึงเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ซึ่งในปีนี้มีธนาคารที่ได้คะแนนสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ธนาคารที่ได้คะแนนใกล้เคียงกับปีก่อน และธนาคารที่ได้คะแนนลดลง
เหตุผลที่เราต้องสนใจการประเมินธนาคารเพราะธนาคารถือเป็นผู้รวบรวมเงินฝากของเราและผู้คนจำนวนมหาศาล แต่เรากลับแทบไม่รู้เลยว่าธนาคารนำเงินฝากของเราไปลงทุนสนับสนุนในโครงการหรือธุรกิจอะไรบ้าง หากธนาคารลงทุนกับโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลงทุนในโครงการที่สร้างมลพิษทางน้ำและอากาศ ไม่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชน หรือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในโครงการ ก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ ส่งผลเสียต่อผลกำไรและชื่อเสียง และอาจสร้างผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก รวมถึงเราและเงินฝากของเราเอง
ในฐานะที่เราฝากเงินกับธนาคาร ดังนั้นการให้ความสนใจจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อคอยช่วยกันระแวดระวัง ผลักดันให้ธนาคารทำงานด้วยความจริงใจ รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนระยะยาว
.
Fair Finance เป็น Movement ระดับโลกที่ใช้ “ดัชนี” และ “เครื่องมือ” สำหรับผู้บริโภคและภาคประชาสังคมมาประเมินธนาคารว่าทำได้ดีแค่ไหน และต่อรองว่าธนาคารควรเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งตอนนี้ Fair Finance ได้ดำเนินงานอยู่ใน 10 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
Fair Finance Thailand หรือแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2561 ด้วยความตั้งใจที่จะร่วมกันผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) อย่างแท้จริง ประกอบด้วยสมาชิกแนวร่วมคือ บริษัท ป่าสาละ จำกัด, International Rivers, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
.
ปีนี้ Fair Finance Thailand ได้นำเอาเกณฑ์ประเมิน Fair Finance Guide Methodology ฉบับปรับปรุง ค.ศ.2020 มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ 8 แห่ง (ลดลงจาก 9 แห่งใน 2 ปีแรก เนื่องจากธนาคารธนชาตอยู่ระหว่างการควบรวมกับธนาคารทหารไทย) โดยมีหัวข้อประเมิน คือ
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การทุจริตคอร์รัปชัน
- ความเท่าเทียมทางเพศ
- สิทธิมนุษยชน
- สิทธิแรงงาน
- ธรรมชาติ
- ภาษี
- อาวุธ
- การคุ้มครองผู้บริโภค
- การขยายบริการทางการเงิน
- การตอบแทน
- ความโปร่งใสและความรับผิด
ซึ่งปีนี้ยังเพิ่มหมวดใหม่ คือ “สุขภาพ” รวมเป็นทั้งหมด 13 หัวข้อประเมิน รวมถึงยังมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์และเพิ่มองค์ประกอบใหม่ในหัวข้อเดิมอีกด้วย
.
ข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ เอกสารนโยบายที่สถาบันการเงินเปิดเผยสู่สาธารณะ จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563 ประกอบด้วย
- รายงานประจำปี (annual report) พ.ศ.2562
- รายงานความยั่งยืน (Sustainability report) หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR report) พ.ศ.2562
- แบบฟอร์ม 56-1 (ในกรณีที่ธนาคารเป็นบริษัทจดทะเบียน รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
- ข้อมูลหรือเอกสารบนเว็บไซต์ธนาคาร
- แถลงการณ์สาธารณะของธนาคารเอง
- จดหมายข่าวที่ออกโดยธนาคารเอง
.
การประเมินนโยบายที่เปิดเผยต่อสาธารณะของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 8 แห่ง ใช้เวลารวม 6 เดือน ตั้งแต่สิงหาคม พ.ศ. 2563 - มกราคม พ.ศ. 2564 ธนาคารได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับ (คะแนนรวมคิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์)
- ธนาคารทหารไทย 38.86%
- ธนาคารกรุงไทย 22.4%
- ธนาคารกรุงเทพ 21.82%
- ธนาคารไทยพาณิชย์ 21.15%
- ธนาคารกสิกรไทย 20.6%
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 16.87%
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 16.06%
- ธนาคารทิสโก้ 15.86%
ในภาพรวมคิดเป็นค่าเฉลี่ย 21.7%
ทั้งนี้ สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทย มีธนาคาร 3 แห่งที่ได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวม ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาความยั่งยืนด้านต่างๆ ของธนาคาร รวมถึงให้ความสำคัญกับแนวการปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมที่มากกว่าแค่การปฏิบัติตามกฎหมาย
.
ธนาคารทหารไทย
ได้คะแนนรวม 50.52 คะแนน
ธนาคารทหารไทยยังคงรักษาตำแหน่งอันดับ 1 ไว้เป็นอย่างดีด้วยคะแนนที่ก้าวกระโดดห่างจากธนาคารอื่นเกือบเท่าตัว จากการเปิดเผยนโยบายที่สอดคล้องกับแนวทางธนาคารที่ยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น
ธนาคารทหารไทยได้คะแนนเพิ่มเติมในหลายหมวด เช่น หมวดความเท่าเทียมทางเพศ จากการมีนโยบายไม่สนับสนุนทางการเงินหรือบริการแก่ลูกค้าที่มีกิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่เคารพ/ละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน หรือมีหลักฐานที่แสดงถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งระบุต่อไปว่า แรงงานในธุรกิจของลูกค้า ต้องได้รับโอกาส ค่าแรง และผลตอบแทนที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีการ “เลือกปฏิบัติทางเพศ” อีกทั้งยังเป็นธนาคารเดียวที่มีการประกาศเป้าหมายที่จะรักษาสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารของธนาคารให้มากกว่าร้อยละ 40
ส่วนหมวดอาวุธ จากการประกาศว่าธนาคารจะพิจารณาลูกค้ากลุ่มอาวุธที่มีการตกลงกับหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐอย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่าอาวุธ อุปกรณ์ทางทหาร บริการ การอบรม ความรู้ เทคโนโลยี สินค้าที่ใช้ได้สองทาง การสนับสนุนอาวุธจะไม่ถูกนำไปใช้ในประเทศที่มีความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน หรือเป็นประเทศที่อยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคง (มีการประท้วงหรือเหตุการณ์ความไม่สงบ) เป็นต้น
สำหรับหมวดธรรมชาติ ธนาคารได้ประกาศไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมโทรมของพื้นที่คุ้มครองหรือถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความเปราะบาง
นอกจากนี้ ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ได้คะแนนหมวดสุขภาพ หัวข้อใหม่ที่เพิ่มเข้ามาเป็นปีแรก จากการมีนโยบายที่ระบุว่าบริษัทลูกค้าต้องรับผิดชอบในการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดจากการปฏิบัติงานหรือผลิตภัณฑ์ สอดคล้องตามหลัก Precautionary Principle
คะแนนรายหมวดของธนาคารทหารไทย
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.44 คะแนน
- การทุจริตคอร์รัปชัน 5 คะแนน
- ความเท่าเทียมทางเพศ 2 คะแนน
- สุขภาพ 0.63 คะแนน
- สิทธิมนุษยชน 4.17 คะแนน
- สิทธิแรงงาน 4.67 คะแนน
- ธรรมชาติ 4.67 คะแนน
- ภาษี 1.76 คะแนน
- อาวุธ 8 คะแนน
- การคุ้มครองผู้บริโภค 6.67 คะแนน
- การขยายบริการทางการเงิน 6.15 คะแนน
- การตอบแทน 1.67 คะแนน
- ความโปร่งใสและความรับผิด 2.71 คะแนน
.
ธนาคารกรุงไทย
ได้คะแนนรวม 29.11 คะแนน
สำหรับปีนี้ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยนโยบายเพิ่มเติมในหลายประเด็นจนทำให้สามารถขึ้นจากอันดับ 7 ปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 2 โดยธนาคารกรุงไทยได้คะแนนในหลายหมวดเป็นครั้งแรก เช่น หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติ โดยประกาศจะลดลงให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปีพ.ศ. 2567 เทียบกับปีฐาน 2562, หมวดความเท่าเทียมทางเพศ จากการระบุว่าธนาคารมีระบบการกำหนดเงินเดือน และโบนัสที่ชัดเจน เป็นธรรม และไม่ขึ้นกับความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาติ และศาสนาของพนักงาน
นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยยังได้คะแนนหมวดการขยายบริการทางการเงินเป็นอันดับ 1 และได้คะแนนในหัวข้อ “สถาบันการเงินไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีธนาคารได้คะแนนในหัวข้อนี้
คะแนนรายหมวดของธนาคารกรุงไทย
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0.38 คะแนน
- การทุจริตคอร์รัปชัน 5 คะแนน
- ความเท่าเทียมทางเพศ 0.67 คะแนน
- สุขภาพ 0 คะแนน
- สิทธิมนุษยชน 0.83 คะแนน
- สิทธิแรงงาน 1.33 คะแนน
- ธรรมชาติ 0 คะแนน
- ภาษี 0 คะแนน
- อาวุธ 2.67 คะแนน
- การคุ้มครองผู้บริโภค 7.14 คะแนน
- การขยายบริการทางการเงิน 7.69 คะแนน
- การตอบแทน 1.11 คะแนน
- ความโปร่งใสและความรับผิด 2.29 คะแนน
.
ธนาคารกรุงเทพ
ได้คะแนนรวม 28.37 คะแนน
ธนาคารกรุงเทพ ได้คะแนนในหมวดการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอันดับ 1 จากการประกาศว่าธนาคารจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่ออย่างรอบคอบบนพื้นฐานของความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) และความเสี่ยงที่ลูกค้าอาจมีเงินเหลือไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ (Affordability Risk) ซึ่งจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวของลูกค้า โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้ตกอยู่ในภาวะหนี้สินเกินตัว และจะส่งเสริม สนับสนุนการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางการเงินและการออมแก่บุคคลทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สินครัวเรือนและลดความเสี่ยงด้านสินเชื่อ
รวมทั้งธนาคารกรุงเทพมีโครงการอบรมพนักงาน และตัวแทนธนาคาร (agents) ในประเด็นสิทธิผู้บริโภค นโยบายคุ้มครองผู้บริโภค และแนวปฏิบัติที่ดีทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการขาย
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้คะแนนในหมวดสิทธิมนุษยชนเป็นปีแรก จากการมีประกาศว่าธนาคารเคารพในสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งมีการประกาศการสนับสนุนให้บริษัทลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคารนำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของธนาคารไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
คะแนนรายหมวดของธนาคารกรุงเทพ
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0 คะแนน
- การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17 คะแนน
- ความเท่าเทียมทางเพศ 0 คะแนน
- สุขภาพ 0 คะแนน
- สิทธิมนุษยชน 1.25 คะแนน
- สิทธิแรงงาน 2.33 คะแนน
- ธรรมชาติ 1 คะแนน
- ภาษี 0 คะแนน
- อาวุธ 3.56 คะแนน
- การคุ้มครองผู้บริโภค 7.62 คะแนน
- การขยายบริการทางการเงิน 6.15 คะแนน
- การตอบแทน 0 คะแนน
- ความโปร่งใสและความรับผิด 2.29 คะแนน
.
ธนาคารไทยพาณิชย์
ได้คะแนนรวม 27.5 คะแนน
ธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ในอันดับที่ 5 ในปีนี้ จากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 3 ในปีที่แล้ว เนื่องจากเกณฑ์ Fair Finance Guide Methodology ฉบับปรับปรุง 2020 เน้นการให้คะแนนที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ได้คะแนนในหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แม้จะไม่ได้รับคะแนนในหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ก็ยังมีประเด็นนโยบายที่โดดเด่นในหมวดคุ้มครองผู้บริโภคจากการประกาศว่ามีโครงการอบรมพนักงาน และตัวแทนธนาคาร (agents) ในประเด็นสิทธิผู้บริโภค และนโยบายคุ้มครองผู้บริโภครวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการขาย โดยเป็นเพียง 1 ใน 2 ธนาคารที่ได้คะแนนในประเด็นนี้
ธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้คะแนนเพิ่มขึ้นในหมวดการขยายบริการทางการเงิน จากการออก ‘สินเชื่อเพื่อความจำเป็นสำหรับการศึกษาและการรักษาพยาบาล (purposeful loan)’ หรือ ‘มณี Free Solution’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการ SME สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัวด้วยต้นทุนที่ลดลงจากบริการทางธุรกิจที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมทุกประเภท ช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
คะแนนรายหมวดของธนาคารไทยพาณิชย์
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0 คะแนน
- การทุจริตคอร์รัปชัน 5 คะแนน
- ความเท่าเทียมทางเพศ 0 คะแนน
- สุขภาพ 0 คะแนน
- สิทธิมนุษยชน 0.83 คะแนน
- สิทธิแรงงาน 2.33 คะแนน
- ธรรมชาติ 0 คะแนน
- ภาษี 0 คะแนน
- อาวุธ 2.67 คะแนน
- การคุ้มครองผู้บริโภค 6.19 คะแนน
- การขยายบริการทางการเงิน 6.15 คะแนน
- การตอบแทน 1.67 คะแนน
- ความโปร่งใสและความรับผิด 2.66 คะแนน
.
ธนาคารกสิกรไทย
ได้คะแนนรวม 26.79 คะแนน
ธนาคารกสิกรไทยอยู่ในอันดับที่ 5 จากปีที่แล้วที่เคยอยู่ในอันดับที่ 2 เนื่องจากคะแนนที่เพิ่มขึ้นในหลายหมวดแต่ยังน้อยเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น
ตัวอย่างหมวดที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้น เช่น หมวดความเท่าเทียมทางเพศจากการมีนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเพศทุกรูปแบบในการจ้างงานและการทำงาน รวมถึงคุกคามทางวาจา กายภาพและทางเพศ (zero tolerance policy)
ในหมวดภาษี หัวข้อย่อย “สถาบันการเงินไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในธุรกรรมกับโครงสร้างระหว่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะหนีหรือหลบเลี่ยงภาษี” จากการระบุว่าธนาคารมีกรอบการควบคุมด้านภาษี (Tax Control Framework) ซึ่งเป็นแนวทางที่ยอมรับในระดับสากลและกำกับดูแลความเสี่ยงด้านภาษีซึ่งกำหนดหน้าที่และรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน
หมวดการคุ้มครองผู้บริโภค จากนโยบายที่จะเปิดให้ลูกค้ารายย่อยที่เป็นผู้พิการหรือมีความต้องการพิเศษ สามารถเข้าถึงสาขาทางกายภาพและบริการอิเล็กทรอนิกส์ โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน K PLUS Beacon ทำให้ผู้บกพร่องทางการเห็นสามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ได้คะแนนในหัวข้อ “สถาบันการเงินไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน” ซึ่งนับเป็นปีแรกที่มีธนาคารได้คะแนนในหัวข้อนี้ด้วย
คะแนนรายหมวดของธนาคารกสิกรไทย
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0.38 คะแนน
- การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17 คะแนน
- ความเท่าเทียมทางเพศ 0.67 คะแนน
- สุขภาพ 0 คะแนน
- สิทธิมนุษยชน 0.83 คะแนน
- สิทธิแรงงาน 2.50 คะแนน
- ธรรมชาติ 0 คะแนน
- ภาษี 0.59 คะแนน
- อาวุธ 2.67 คะแนน
- การคุ้มครองผู้บริโภค 4.76 คะแนน
- การขยายบริการทางการเงิน 6.15 คะแนน
- การตอบแทน 1.67 คะแนน
- ความโปร่งใสและความรับผิด 2.40 คะแนน
.
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ได้คะแนนรวม 21.94 คะแนน
ธนาคาารกรุงศรีอยุธยาได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจในหมวดการคุ้มครองผู้บริโภค จากการตีพิมพ์เผยแพร่นโยบายและขั้นตอนการติดตามหนี้ และบริษัทที่ได้รับมอบหมายจากธนาคาร (บุคคลที่สาม) ให้เป็นตัวแทนในการทวงหนี้, สร้างหลักประกันว่าลูกค้ารายย่อยเข้าถึงกลไกรับเรื่องร้องเรียน และเยียวยาที่มีกระบวนการค้นหาความจริง (due diligence) และมีนโยบายปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเป็นหนี้เกินตัว
รวมทั้งหมวดการขยายบริการทางการเงินที่มีการกำหนดแนวทางในการเปิดเผยข้อมูล โดยต้องดำเนินการผ่านช่องทางที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย จัดให้มีข้อมูลในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลอื่น ๆ อย่างถูกต้อง เพียงพอ โปร่งใส รวดเร็ว ทันเวลา เท่าเทียมกัน และสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานทางการ รวมถึงมีการอัปเดตข้อมูลสำคัญให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
คะแนนรายหมวดของธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0 คะแนน
- การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17 คะแนน
- ความเท่าเทียมทางเพศ 0 คะแนน
- สุขภาพ 0 คะแนน
- สิทธิมนุษยชน 0 คะแนน
- สิทธิแรงงาน 0.67 คะแนน
- ธรรมชาติ 0 คะแนน
- ภาษี 0.59 คะแนน
- อาวุธ 2.67 คะแนน
- การคุ้มครองผู้บริโภค 5.71 คะแนน
- การขยายบริการทางการเงิน 6.15 คะแนน
- การตอบแทน 0 คะแนน
- ความโปร่งใสและความรับผิด 1.98 คะแนน
.
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
ได้คะแนนรวม 20.89 คะแนน
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในหมวดความโปร่งใสและความรับผิด, การขยายบริการทางการเงิน, การคุ้มครองผู้บริโภค และอาวุธ
รวมทั้งเป็นปีแรกที่ได้คะแนนหมวดภาษีในหัวข้อ “สถาบันการเงินไม่มีส่วนรวมใด ๆ ในธุรกรรมกับโครงสร้างระหว่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะหนีหรือหลบเลี่ยงภาษี” โดยประกาศว่า “ธนาคารจะไม่ใช้โครงสร้างทางภาษีที่มีวัตถุประสงค์หลักเพียงเพื่อขจัด หรือลดภาระภาษีผ่านการวางแผนหรือโครงสร้างการดำเนินงานที่ซับซ้อนอันจะก่อให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี อีกทั้งไม่ใช้ประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมายภาษีในการดำเนินธุรกิจหรือใช้กฎหมายภาษีที่ไม่สอดคล้องต่อหลักการและเจตนาของกฎหมายภาษีทั้งธุรกรรมในประเทศและต่างประเทศ
คะแนนรายหมวดของธนาคารเกียรตินาคินภัทร
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0 คะแนน
- การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17 คะแนน
- ความเท่าเทียมทางเพศ 0.67 คะแนน
- สุขภาพ 0 คะแนน
- สิทธิมนุษยชน 0 คะแนน
- สิทธิแรงงาน 0 คะแนน
- ธรรมชาติ 0 คะแนน
- ภาษี 0.59 คะแนน
- อาวุธ 2.67 คะแนน
- การคุ้มครองผู้บริโภค 4.76 คะแนน
- การขยายบริการทางการเงิน 6.15 คะแนน
- การตอบแทน 0 คะแนน
- ความโปร่งใสและความรับผิด 1.88 คะแนน
.
ธนาคารทิสโก้
ได้คะแนนรวม 20.63 คะแนน
การเปิดเผยนโยบายที่เป็นรูปธรรมของธนาคารทิสโก้ส่งผลให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในหลายหมวด
โดยได้คะแนนในหมวดการคุ้มครองผู้บริโภค จากการให้ความสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านระบบสารสนเทศ (Information Security) มีกำหนดนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งกลุ่มบริษัท เพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูล การถ่ายโอน และมีการตรวจสอบในทุกขั้นตอนอย่างรัดกุม เพื่อการบริหารจัดการข้อมูลและระบบสารสนเทศอย่างปลอดภัยและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการวางมาตรการป้องกันทางไซเบอร์ที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล และปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับยุทธศาสตร์และการดำเนินธุรกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้ารั่วไหลหรือถูกนำไปใช้โดยผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
รวมไปถึงหมวดการขยายบริการทางการเงิน จากการมีนโยบาย บริการ และผลิตภัณฑ์ที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนจนและคนชายขอบ โดยธนาคารมี “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทุกประเภท รวมถึงสินเชื่อไฟแนนซ์ธุรกิจขนาดเล็กและสินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเงินสด เงินกู้ฉุกเฉิน เงินด่วน และสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ ซึ่งจะเน้นการให้บริการลูกค้ารายย่อยในต่างจังหวัดที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน
คะแนนรายหมวดของธนาคารทิสโก้
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0 คะแนน
- การทุจริตคอร์รัปชัน 4.17 คะแนน
- ความเท่าเทียมทางเพศ 0 คะแนน
- สุขภาพ 0 คะแนน
- สิทธิมนุษยชน 0 คะแนน
- สิทธิแรงงาน 0 คะแนน
- ธรรมชาติ 0 คะแนน
- ภาษี 0.63 คะแนน
- อาวุธ 2.67 คะแนน
- การคุ้มครองผู้บริโภค 5.24 คะแนน
- การขยายบริการทางการเงิน 5.38 คะแนน
- การตอบแทน 0.56 คะแนน
- ความโปร่งใสและความรับผิด 1.98 คะแนน
.
ธนาคาร 5 อันดับแรก มีนโยบายอะไรที่ทำให้ได้คะแนนสูงบ้าง?
.
หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: นโยบายสินเชื่อและรายการสินเชื่อต้องห้าม
สำหรับหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประกาศนโยบายสินเชื่อ (credit policy) และรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) เป็นนโยบายที่แสดงให้เห็นว่าธนาคารไทยเริ่มมีการจัดทำนโยบายสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดจนก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านนี้คือธนาคารทหารไทย จากการมีนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับธุรกิจสำรวจหรือดำเนินการเหมืองถ่านหิน และสินเชื่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งการประกาศว่าจะจำกัดการสนับสนุนอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไว้ไม่เกิน 10% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีธนาคารที่มีนโยบายประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกไม่ต่ำกว่า 20% จากปีฐาน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดของประเทศไทยภายใต้ข้อตกลงปารีส ได้แก่ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารกสิกร
.
หมวดการทุจริตคอร์รัปชัน: การประกาศไม่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการล็อบบี้ยิสต์
ในหมวดการทุจริตคอร์รัปชัน ทุกธนาคารล้วนได้คะแนนจากการประกาศนโยบายที่เป็นการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ก่อการร้าย และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องหลักเกณฑ์รับฝากเงินหรือการรับเงินจากประชาชน
มีเพียงธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้คะแนนหมวดนี้มากกว่าธนาคารอื่น จากการประกาศว่าจะไม่มีกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับล็อบบี้ยิสต์ สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่มากกว่าการทำตามข้อกฎหมาย
.
หมวดความเท่าเทียมทางเพศ: นโยบายรักษาสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหาร
นโยบายที่โดดเด่นในหมวดความเท่าเทียมทางเพศ คือการมีประกาศเป้าหมายที่จะรักษาสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารให้มีมากกว่า 40% ซึ่งแสดงให้เห็นการตระหนักถึงคุณค่าความเท่าเทียมทางเพศที่หมายถึงการมีสิทธิ ความรับผิดชอบ และโอกาสที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อกำหนดด้านเพศ โดยธนาคารทหารไทยเป็นผู้รับได้คะแนนสูงสุดในหมวดความเท่าเทียมทางเพศจากนโยบายนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารอื่นยังไม่มีประกาศเป้าหมายนี้อย่างชัดเจน แต่หลายแห่งก็มีสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารอยู่ในระดับสูงแล้ว
.
หมวดสุขภาพ: นโยบายคุ้มครองสุขภาพตามหลักความรอบคอบ
หมวดสุขภาพเป็นหมวดใหม่ในการประเมินปีนี้ ที่มุ่งหวังให้ธนาคารกำหนดนโยบายเพื่อคุ้มครองสุขภาพของชุมชน ลูกจ้าง และลูกค้าของบริษัทที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงิน
โดยธนาคารทหารไทยได้คะแนนจากการมีนโยบายกำหนดว่าลูกค้าต้องรับผิดชอบในการหลีกเลี่ยง หรือลดความเสี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดจากการปฎิบัติงานหรือผลิตภัณฑ์อย่างสอดคล้องตามหลักความรอบคอบ (Precautionary Principle) ส่งผลให้เป็นธนาคารแห่งเดียวจากทั้งหมดที่ได้รับคะแนนในหมวดนี้
ดังนั้นธนาคารอื่น ๆ ควรกำหนดและประกาศนโยบายสินเชื่อ (credit policy) ในหมวดนี้สู่สาธารณะโดยเร็ว
.
หมวดคุ้มครองผู้บริโภค: นโยบายอบรมพนักงานในการบริการอย่างเป็นธรรม
มีนโยบายของธนาคารที่เข้าเกณฑ์ในหมวดคุ้มครองผู้บริโภคส่งผลให้ได้คะแนนสูง ได้แก่ การมีนโยบายการอบรมทั้งพนักงานและตัวแทนของธนาคารในประเด็นการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct) โดยมีธนาคาร 2 แห่งที่มีการประกาศนโยบายนี้สู่สาธารณะ คือ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์
และนโยบายเปิดเผยสถิติการรับเรื่องร้องเรียนประจำปีแยกตามช่องทางรับเรื่องร้องเรียนและเปิดเผยผลการติดตามเรื่องร้องเรียน ซึ่งเป็นนโยบายของธนาคารกรุงเทพ
.
หมวดการขยายบริการทางการเงิน: นโยบายไม่คิดค่าธรรมเนียมเมื่อเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน
การประเมินหมวดการขยายบริการทางการเงินคาดหวังให้ธนาคารมีนโยบายให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงการบริการทางการเงินในระบบ ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง โดยให้บริการทางการเงินที่เหมาะสม สะดวก ซึ่งในปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีธนาคารได้คะแนนจากนโยบายไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารกสิกร
.
หมวดสิทธิมนุษยชน: นโยบายสนับสนุนบริษัทที่สำรวจบุคคลที่จำเป็นต้องย้ายถิ่น
สำหรับหมวดสิทธิมนุษยชน นโยบายที่ทำให้ได้คะแนนสูงคือการประกาศว่าบริษัทลูกค้าต้องสำรวจเพื่อระบุบุคคลที่มีความจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน และทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น กำหนดกรอบการให้ค่าตอบแทน ให้ได้รับความยินยอมโดยสมัครใจโดยได้ข้อมูลล่วงหน้า (Free, Prior, and Informed Consetn : FPIC) จากผู้ที่ต้องย้ายถิ่นฐาน โดยมีแนวปฏิบัติ เช่น ในการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจ ลูกค้าต้องมอบค่าตอบแทนให้ผู้ได้รับผลกระทบ หากการซื้อที่ดินของลูกค้าเพื่อดำเนินธุรกิจก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้หรือคุณภาพชีวิต เป็นต้น
โดยธนาคารที่มีนโยบายนี้ มีเพียงแห่งเดียวคือธนาคารทหารไทย
.
หมวดการตอบแทน: นโยบายจ่ายค่าตอบแทนด้วยเกณฑ์อื่นนอกจากธุรกิจ
ส่วนในหมวดการตอบแทนที่มุ่งเน้นการเปิดเผยโครงสร้างค่าตอบแทน และคาดหวังให้ธนาคารมีนโยบายการจ่ายโบนัสที่ไม่เอื้อต่อการสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมแก่พนักงานและผู้บริหาร ธนาคารไทยหลายแห่งมีนโยบายจ่ายค่าตอบแทนหรือโบนัสแก่กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ด้วยกฎเกณฑ์อื่นนอกเหนือจากธุรกิจที่สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการเป็นธนาคารที่ยั่งยืน เช่น ความพึงพอใจของพนักงานและลูกค้า การเติบโตของสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และการลดลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
โดยธนาคารที่มีนโยบาย ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกร
.