ธนาคารไทยใส่ใจสิทธิแรงงานแค่ไหน
06 ตุลาคม 2563
รู้หรือไม่ว่าสถาบันการเงินในประเทศไทยให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานมากน้อยแค่ไหน
.
ขณะที่สถาบันการเงินทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งในทางนโยบายและทางปฏิบัติ ธนาคารไทยกลับมีนโยบายด้านสิทธิแรงงานที่ระบุอย่างชัดเจนหรือประกาศให้สาธารณชนรับรู้อยู่น้อยมาก…
.
จากผลการประเมินธนาคารตามแนวปฎิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) ประจำปีพ.ศ.2562 ของประเทศไทย สำหรับธนาคารทหารไทย (TMB) แม้จะได้รับคะแนนสูงสุดในหมวดนี้ แต่ก็ได้ไปเพียง 4 คะแนนจากเกณฑ์ประเมินทั้งหมด 14 ข้อ โดยได้จากการที่ธนาคารมีนโยบายด้านสิทธิแรงงานสอดคล้องกับคำประกาศขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มีนโยบายสินเชื่อต้องห้ามในบริษัทที่มีการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบและการใช้แรงงานเด็ก มีนโยบายลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางเงินกับบริษัทที่มีนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยที่ดี
.
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้คะแนนเท่ากันคือ 3 คะแนน
โดยฝั่งธนาคารกสิกรไทย
- ประกาศให้มีการสนับสนุนและจัดให้มีสภาพแรงงานธนาคารกสิกรไทยและสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกสิกรไทยเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้านายกับลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกัน
- มีแนวทางการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม มีนโยบายสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานสากลที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหลักการชี้แนะเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) หลักการด้านมนุษยธรรมและสิทธิขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (Principle of United Nations Global Compact: UNGC)
- มีนโยบายไม่สนับสนุน เครดิตที่ผู้ขอเครดิตมีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แรงงานาทาส และแรงงานเด็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานที่เกี่ยวข้อง
.
สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นั้น มีนโยบายที่สอดคล้องกับคำประกาศขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศเช่นกัน โดยระบุว่าธนาคารให้ความสำคัญต่อการเคารพในหลักสิทธิแรงงาน และการปฏิบัติต่อพนักงานทุกระดับอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมโดยไม่แบ่งแยกเพศ สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษา อีกทั้งให้อิสระแก่พนักงานในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน มีนโยบายไม่ยอมรับการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบและการใช้แรงงานเด็กในบริษัทที่ธนาคารลงทุน หรือให้การสนับสนุนทางการเงิน
.
ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารธนชาต (TBANK) ได้ 1 คะแนนเท่ากัน จากการเป็นสถาบันการเงินที่เคารพคำประกาศของ ILO ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน โดยประกาศการปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานพนักงานอย่างเป็นมาตรฐาน เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดนโยบายและระเบียบที่ชัดเจน ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมีกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ ก่อนรับเข้าทำงาน รวมถึงการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียม
แม้มีประกาศการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมไปถึงบริษัทที่ธนาคารลงทุนหรือให้การสนับสนุน
.
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) และธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ไม่ได้คะแนนในหมวดนี้ไป เนื่องจากไม่มีนโยบายที่เปิดเผยต่อสาธารณะที่สอดคล้องกับเกณฑ์อย่างเพียงพอที่จะได้คะแนน
.
แม้จะไม่ได้มีนโยบายเปิดเผยต่อสาธารณะแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารจะเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิแรงงาน แต่ถ้าอยากสะกิดบอกธนาคารที่ฝากเงินอยู่มีนโยบายในด้านนี้อย่างเปิดเผยและใส่ใจสิทธิแรงงานกันมากขึ้น ก็กดเข้าไปที่เว็บไซต์ของเราได้เลย >> www.fairfinancethailand.org
ที่มา