4 สิทธิพื้นฐานของผู้ใช้บริการทางการเงิน

18 ธันวาคม 2563

ความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์และบริการของสถาบันการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่เราในฐานะลูกค้าหรือผู้ใช้บริการทางการเงินต้องมี
.
แต่อีกสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้คือ “สิทธิของผู้ใช้บริการทางการเงิน” ซึ่งช่วยให้เราสามารถรักษาผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
.
Fair Finance Thailand ขอเสนอสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการทางการเงินที่ทุกคนต้องรู้เพื่อเป็นเกราะป้องกันการถูกละเมิดสิทธิเพียงเพราะความไม่รู้ไม่แน่ใจ
ทุกครั้งที่ใช้บริการสถาบันการเงิน การได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจเป็นเรื่องจำเป็น เจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินต้องอธิบายเงื่อนไขต่างๆ ให้ลูกค้าทราบอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง เช่น ความแตกต่างระหว่างบริการเงินฝากกับผลิตภัณฑ์ด้านประกันและหลักทรัพย์ เงินฝากกับตั๋วแลกเงิน รวมท้ังผลประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท
.
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสำคัญที่เราต้องใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกบริการแต่ละประเภท คือ อัตราดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าบริการต่างๆ รวมทั้งเบี้ยปรับที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ได้ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด
.
เรามีสิทธิเต็มที่ในการสอบถามหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมตามช่องทางต่างๆ ของสถาบันการเงิน เช่น ถามพนักงาน ดูประกาศที่ติดไว้ทั้งที่สำนักงานใหญ่และสาขาที่ทำการ เว็บไซต์ของสถาบันการเงินนั้นๆ หรือถ้าต้องการเปรียบเทียบข้อมูลของธนาคารหรือบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถดูได้ที่นี่ https://www.bot.or.th/.../FinancialMar.../Pages/default.aspx
เราในฐานะเจ้าของเงินซึ่งเป็นทั้งผู้รับและเสียผลประโยชน์โดยตรง ต้องไม่ลืมว่าเรามีมีอิสระในการเลือกหรือไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการใดๆ เช่น ในกรณีที่เปิดบัญชีเงินฝาก เราสามารถเลือกทำหรือไม่ทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิตก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนำการโน้มน้าวของพนักงานสถาบันการเงินมาประกอบการตัดสินใจ เช่น กรณีที่พนักงานขอให้ช่วยซื้อประกันชีวิตเพื่อให้มียอดขายถึงเป้า ทั้งๆ ที่มีกรมธรรม์คุ้มครองเพียงพอแล้ว
หากพบว่าสถาบันการเงินปฏิบัติกับเราไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เช่น ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน บังคับขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ขายประกันชีวิตแต่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเงินฝาก เงินฝากในบัญชีสูญหาย รวมไปถึงการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ อย่างการคิดดอกเบี้ยผิด เรามีสิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม โดยแจ้งต่อหน่วยงานรับร้องเรียนของสถาบันการเงินแห่งนั้นเพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหา
.
สถาบันการเงินจะต้องให้หลักฐานที่แสดงว่าได้รับเรื่องร้องเรียนของเราแล้ว และจะต้องดำเนินการให้ทราบในเวลาที่เหมาะสม ถ้ายังไม่ได้รับการติดตามแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร สามารถติดต่อร้องเรียนและขอคำปรึกษาปัญหาทางการเงินได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) หรือองค์กรที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์นั้นๆ
หากได้รับความเสียหายจากการใช้บริการของสถาบันการเงิน เช่น ระบบไม่ตัดเงินจากบัญชีเพื่อชำระยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตทำให้มีหนี้ค้างชำระ กดเงินจากตู้เอทีเอ็มแต่ไม่ได้รับเงิน เจ้าหน้าที่ขโมยเงินจากบัญชี หากมีการพิสูจน์หรือตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเป็นความผิดพลาดของสถาบันการเงิน หรือเจ้าหน้าที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อจนเกิดความเสียหาย เรามีสิทธิจะได้รับค่าชดเชยความเสียหายนั้น ซึ่งสถาบันการเงินต้องแจ้งผลการดำเนินงานและกระบวนการพิจารณาชดเชยความเสียหายให้เราทราบด้วย
.
นอกจากนี้ เราเองก็ต้องใช้บริการด้วยความรับผิดชอบด้วยการวางแผนการเงินของตน ติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเงินอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ เข้าใจรายละเอียดและเปรียบเทียบข้อมูลก่อนเลือกใช้บริการ และตรวจทานความถูกต้องของธุรกรรมทางการเงินทุกครั้ง