แถลงการณ์แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เรื่อง เรียกร้องความรับผิดชอบของธนาคารเจ้าหนี้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี

07 พฤศจิกายน 2562

สืบเนื่องจากการเริ่มต้นขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ดำเนินการโดยบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (“บริษัท”) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างต่อเนื่องจากภาคประชาสังคมหลายประเทศ และเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่แม่น้ำโขงแห้งขอดเป็นประวัติการณ์ [1]

โครงการไซยะบุรีเป็นเขื่อนแห่งแรกในลุ่มน้ำโขงตอนล่างและเป็นเขื่อนแรกที่ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation Process) ของคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ตามสัญญาที่ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างสี่ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาว ลงนามร่วมกัน โครงการดังกล่าวถูกตั้งคำถามและคัดค้านตลอดมาในหลากหลายระดับในช่วงก่อสร้าง ตั้งแต่รัฐบาลระดับชาติคือเวียดนามและกัมพูชา สองประเทศปลายน้ำ เอ็นจีโอข้ามชาติ เอ็นจีโอในประเทศ และชุมชนที่ดำรงชีพริมสองฝั่งโขง รัฐบาลสหรัฐอเมริกา กัมพูชา และเวียดนาม เรียกร้องให้บริษัทชะลอการก่อสร้างออกไป 10 ปี ตามผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) [2]

เสียงคัดค้านและข้อกังวลเหล่านี้ล้วนเสนอในทิศทางเดียวกันว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีแนวโน้มจะก่อ “หายนะทางระบบนิเวศ” ครั้งใหญ่ งานวิจัยอิสระชิ้นแล้วชิ้นเล่าชี้ว่าไซยะบุรีจะก่อให้เกิดปัญหาข้ามพรมแดนที่เยียวยายากยิ่ง จากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำ กีดกันการไหลของตะกอน และกีดขวางเส้นทางอพยพของปลา ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงทั้งทางตรงและทางอ้อม [3]

เฉพาะประเด็นเส้นทางอพยพของปลา นักวิทยาศาสตร์หลายคนวิจารณ์ตลอดมาว่า เทคโนโลยีทางปลาผ่านในโครงการนี้ เป็นเทคโนโลยีของอเมริกาและยุโรป ใช้ได้กับปลาเพียง 5-8 ชนิด เช่น ปลาแซลมอน และปลาเทราท์ ไม่เหมาะสมกับแม่น้ำโขงซึ่งมีปลาสำคัญทางเศรษฐกิจมากกว่า 50 ชนิดที่อพยพตามลำน้ำ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดสามารถแก้ปัญหาการอพยพของปลาจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงได้ [4] แต่บริษัทกลับใช้แม่น้ำโขงเป็น “ห้องทดลอง” เทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยมีข้อพิสูจน์ถึงประสิทธิผล โดยมีระบบนิเวศของแม่น้ำเป็นเดิมพัน [5]

นอกจากประสิทธิผลของเทคโนโลยีทางปลาผ่านของโครงการจะยังเป็นที่กังขาแล้ว โครงการนี้ยังมีความไม่โปร่งใสและจุดอ่อนในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในหลายประเด็นตลอดมานับจากช่วงก่อสร้าง รายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ของบริษัท (ปี ค.ศ. 2010) ประเมินเพียงผลกระทบในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมจากโครงการ และพื้นที่ปลายน้ำห่างจากที่ตั้งโครงการในรัศมี 10 กิโลเมตรเท่านั้น [6] โดยบริษัทไม่เคยมีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนแต่อย่างใด ทั้งยังไม่เคยเปิดเผยรายงาน EIA ดังกล่าวต่อผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ยังมิพักต้องพูดถึงการเปิดเผยต่อสาธารณะ ถึงแม้ว่าการเปิดเผยรายงาน EIA ต่อสาธารณะ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายในการวางมาตรการป้องกันผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จะเป็นข้อกำหนดในนโยบายการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน (Policy on Sustainable Hydropower Development: PSHD) ของรัฐบาลลาว (ค.ศ. 2015) และแนวปฏิบัติ (ค.ศ. 2016) [7] นอกจากนี้ บริษัทยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลปลา และข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขาดไม่ได้ในการประเมินประสิทธิผลของเทคโนโลยีทางปลาผ่านและแนวโน้มผลกระทบทั้งต่อชุมชนริมฝั่งโขงและระบบนิเวศแม่น้ำ

แนวโน้มผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ตลอดจนความไม่โปร่งใสของโครงการดังสรุปโดยสังเขปเบื้องต้นนั้น ล้วนก่อให้เกิดคำถามว่า ธนาคารที่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับโครงการทั้งหกแห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นธนาคารสัญชาติไทย มีแนวทางกำกับบริษัทในฐานะลูกหนี้ของธนาคารอย่างไร โดยเฉพาะในเมื่อธนาคารไทยห้าแห่งที่ปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการนี้ อันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทิสโก้ ล้วนร่วมลงนามใน “แนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ”  (Sustainable Banking Guidelines: Responsible Lending) เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา [8] เอกสารดังกล่าวระบุว่า ธนาคารที่ร่วมลงนามจะ “หารือกับผู้มีส่วนได้เสียนอกจากหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ถือหุ้น และลูกค้า เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล และประเมินแนวโน้มผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร” และ “จะหารือกับลูกค้าในเชิงรุก เพื่อสนับสนุนการลดผลกระทบเชิงลบและปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของลูกค้า”

นอกจากนี้ ธนาคารสองแห่งคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ยังประกาศรับหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) [9] ซึ่งสาระสำคัญของหลักการชี้แนะดังกล่าวอยู่ที่การวางมาตรการที่จะแสดงให้เห็นว่าเคารพในสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการมีกลไกรับเรื่องร้องเรียน และกลไกเยียวยาที่เหมาะสม

 

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand, เว็บไซต์ www.fairfinancethailand.org) และองค์กรร่วมลงนามดังรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้ต่อธนาคารไทยทั้งหกแห่งที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด อันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) และธนาคารทิสโก้

  1. เร่งรัดให้บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยข้อมูลสำคัญดังต่อไปนี้ต่อสาธารณะ ก่อนการขอเบิกเงินกู้ (drawdown) งวดต่อไป
    • ข้อมูลปลาผ่านทางปลาผ่านของบริษัท (ชนิดพันธุ์ จำนวน) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึงปัจจุบัน
    • ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึงปัจจุบัน เนื่องจากบริษัทได้เริ่มขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการในเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา [10]
    • ข้อมูลกลไกรับเรื่องร้องเรียน และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ
  2. ประกาศรับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ขององค์การสหประชาชาติ และกำหนดให้บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในฐานะลูกหนี้ของธนาคาร ประกาศรับหลักการดังกล่าวด้วย
  3. เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการไซยะบุรี ตามหลักการชี้แนะ UNGP
  4. ประกาศว่าจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินใดๆ แก่โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่สร้างในแม่น้ำสายหลัก (mainstem) ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต (exclusion list) อย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปี ตามข้อเสนอของผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของคณะกรรมการแม่น้ำโขง
  5. ประกาศรับชุดหลักการอีเควเตอร์ (Equator Principles) มาตรฐานสากลของการปล่อยสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย คาดหวังและเชื่อมั่นว่า การดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้งห้าข้อข้างต้นนั้น นอกจากจะช่วยให้ธนาคารรับมือกับความเสี่ยงทางสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG risks) อันอาจเกิดจากโครงการไซยะบุรีในอนาคตได้แล้ว จะยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบทางสังคม และเปิดศักราชใหม่ให้กับวงการธนาคารพาณิชย์ไทย ให้ก้าวเข้าสู่ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ อย่างเป็นรูปธรรม สมดังเจตนารมณ์ที่ธนาคารแทบทุกแห่งได้ประกาศต่อสาธารณะ

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย

7 พฤศจิกายน 2562


เกี่ยวกับ Fair Finance Thailand

Fair Finance Thailand (แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย เว็บไซต์ www.fairfinancethailand.org)  ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2561 สมาชิกประกอบด้วยบริษัทวิจัย 1 บริษัท และองค์กรภาคประชาสังคม 4 องค์กร ได้แก่ บริษัท ป่าสาละ จำกัด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม International Rivers และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ที่มีความสนใจร่วมกันในการติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคาร และประสงค์จะร่วมกันผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) อย่างแท้จริง ผ่านการนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International (แนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ เว็บไซต์ www.fairfinanceguide.org) มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ เริ่มจากปี พ.ศ. 2562 เป็นปีแรก

ผู้ประสานงานโครงการ: จุลณรงค์ วรรณโกวิท

เบอร์ 091-884-3988

อีเมล Julnarong_123@hotmail.com


รายชื่อองค์กรร่วมลงนาม

  1. กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly)
  2. เสมสิกขาลัย
  3. คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition)
  4. มูลนิธิเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  5. เอิร์ทไรท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (EarthRights International)
  6. กลุ่มฮักแม่น้ำเลย
  7. กลุ่มฮักเชียงคาน
  8. เครือข่ายแม่น้ำประเทศไทย
  9. เครือข่ายคนฮักน้ำโขง
  10. สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน
  11. เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
  12. กลุ่มรักษ์เชียงของ
  13. สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
  14. สมาคมสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง
  15. เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี
  16. มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)
  17. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
  18. กลุ่มรักษ์น้ำอูน
  19. กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (siamensis.org)
  20. เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
  21. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
  22. เครือข่ายรักษ์ชุมพร
  23. เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย We Fair)
  24. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
  25. มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
  26. มูลนิธิโลกสีเขียว
  27. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช.)
  28. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
  29. สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
  30. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  31. ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย
  32. วรวรรณ ศุกระฤกษ์ นักวิจัยและรณรงค์

 

เอกสารอ้างอิง

[1] Mekong River Commission (2019) Mekong water levels reach low record, Media Release, 18 กรกฎาคม 2562. ดาวน์โหลดได้จาก http://www.mrcmekong.org/news-and-events/news/mekong-water-levels-reach-low-record/

[2] Mekong River Commission (2011) Prior consultation project review report Volume 2: Stakeholder Consultations related to the proposed Xayaburi dam project ดาวน์โหลดได้จาก http://www.mrcmekong.org/assets/Consultations/2010-Xayaburi/2011-03-24-Report-on-Stakeholder-Consultation-on-Xayaburi.pdf, หน้า 35.

[3] Herbertson (2012) The Xayaburi Dam: Threatening Food Security in the Mekong, 11 กันยายน 2555 ดาวน์โหลดได้จาก https://www.internationalrivers.org/resources/the-xayaburi-dam-threatening-food-security-in-the-mekong-7675

[4] International Rivers (2011) Sidestepping Science: Review of the Pöyry Report on the Xayaburi Dam, พฤศจิกายน 2554, ดาวน์โหลดได้จาก https://www.internationalrivers.org/sites/default/files/attached-files/intl_rivers_analysis_of_poyry_xayaburi_report_nov_2011.pdf, หน้า 4.

[5] International Centre for Environmental Management (2010) Strategic Environmental Assessment of Hydropower in the Mainstream, หน้า 24.

[6] Hirsch, P. (2011) Review of Xayaburi Dam EIA incorporation into regional consultation on impacts. Available at: https://www.internationalrivers.org/sites/default/files/attached-files/hirsch_xayabouri_dam_esia_consultation_process.pdf

[7] รัฐบาล สปป. ลาว, Policy on Sustainable Hydropower Development in Lao PDR (PSHD), 2015; และ 2016 Policy Guidelines for the Implementation of Policy on Sustainable Hydropower in Lao PDR (ดูหัวข้อ 5.10 Information Disclosure, หน้า 13).

[8] ดาวน์โหลดได้จาก https://www.tba.or.th/wp-content/uploads/2019/08/Guidelines-ResponsibleLending.pdf

[9] นโยบายสิทธิมนุษยชนของธนาคารไทยพาณิชย์ https://www.scb.co.th/content/dam/scb/about-us/sustainability/documents/th-human-right-policy.pdf และดูประกอบ: ผลการประเมินนโยบายธนาคารด้านสิทธิมนุษยชน โดย Fair Finance Thailand https://fairfinancethailand.org/bank-guide/topics/human-rights/

[10] สำนักข่าวอินโฟเควสท์, “CKP เริ่ม COD โรงไฟฟ้าไซยะบุรี 1,220 MW วันนี้ รับทรัพย์เต็มหลังลงทุน 1.35 แสนลบ.” 29 ตุลาคม 2562 เข้าถึงจาก https://www.ryt9.com/s/iq05/3059961

รูปภาพ: https://www.thestar.com.my/news/nation/2019/10/30/new-mekong-dam-opens-to-protests-and-dried-up-riverbed