ในปี พ.ศ. 2566 คณะวิจัยในโครงการ Fair Finance Thailand (แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย เว็บไซต์ www.fairfinancethailand.org, “แนวร่วมฯ”) จัดทำการประเมินนโยบายด้านต่าง ๆ ของสถาบันการเงินไทย 11 แห่ง ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย 8 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่ง ที่เปิดเผยสู่สาธารณะ นับเป็นปีที่หกที่มีการนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International (แนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ เว็บไซต์ www.fairfinanceguide.org) มาใช้ในประเทศไทย ตามเกณฑ์ Fair Finance Guide International ฉบับปี ค.ศ. 2023 โดยใช้ข้อมูลที่ธนาคารเปิดเผยต่อสาธารณะ ณ เดือนกันยายน 2566 ประกอบกับข้อมูลที่ธนาคารเปิดเผยต่อสาธารณะเพิ่มเติม ในช่วงรับฟังความคิดเห็นระหว่างคณะวิจัยกับธนาคารแต่ละแห่ง ระหว่างวันที่ 20 กันยายน ถึง 17 พฤศจิกายน 2566
ผลการประเมินธนาคารไทย 11 แห่ง ตามเกณฑ์ Fair Finance Guide International 13 หมวด ประจำปี พ.ศ. 2566 พบว่าคะแนนเฉลี่ยของธนาคารทั้ง 11 แห่ง ลดลงเล็กน้อยจาก 33.94 คะแนนในปี พ.ศ. 2565 เป็น 32.92 คะแนนในปี พ.ศ. 2566 (ลดลง 0.78%) โดยธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (39.20%) ธนาคารกสิกรไทย (33.14%) ธนาคารกรุงไทย (30.79%) ธนาคารไทยพาณิชย์ (29.85%) และ ธนาคารกรุงเทพ (29.49%) โดยธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 4 อันดับแรก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากผลการประเมินปี 2565 ขณะที่ธนาคารกรุงเทพขยับจากอันดับที่ 6 มาเป็นอันดับที่ 5 แทนที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (27.64%)
สาเหตุที่คะแนนเฉลี่ยของธนาคารทั้ง 11 แห่ง ปรับตัวลดลง เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ 7 จาก 11 แห่ง ได้คะแนนน้อยลงจากการประเมินนโยบายในปี พ.ศ. 2565 มีเพียงธนาคารกรุงเทพ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารทิสโก้ ธนาคารเอสเอ็มอี เท่านั้นที่ได้คะแนนประเมินสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ธนาคารได้คะแนนน้อยลงมาจากการปรับปรุงเกณฑ์การประเมิน Fair Finance Guide International (FFGI) เป็นเกณฑ์ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) เป็นครั้งแรก ซึ่งเกณฑ์ฉบับนี้มีความละเอียดและเข้มข้นกว่าเกณฑ์ชุดเดิม ปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น เกณฑ์ FFGI ฉบับปี 2023 มีการเพิ่มหัวข้อตัวชี้วัดใหม่ถึง 27 หัวข้อ จากทั้งหมด 228 หัวข้อ (11.8%) ตัดออก 18 หัวข้อ (7.9%) และเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอีก 14 หัวข้อ (6.1%) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงในหมวด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) โดยเปลี่ยนเกณฑ์คะแนนให้เคร่งครัดมากขึ้นตามระดับความเร่งด่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดหวังให้ธนาคารเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องในทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)