อุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเพศ หนึ่งในภารกิจที่ธนาคารไทยต้องไปให้ถึง

21 กุมภาพันธ์ 2565

ความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ เป็นประเด็นที่กินความครอบคลุมไปถึงความเท่าเทียมทางเพศ หากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเพศยังคงมีอยู่ ความเท่าเทียมย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีความเท่าเทียมทางเพศเป็นองค์ประกอบ

สถาบันการเงินในฐานะหนึ่งในสถาบันหลักของสังคม มีส่วนอย่างยิ่งต่อการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมทางเพศให้เกิดขึ้น เพราะสถาบันการเงินถือเป็นแหล่งทุนสำคัญที่ภาคเอกชนจะนำไปต่อยอดธุรกิจ หากธุรกิจนั้นมีการเลือกปฏิบัติทางเพศ เช่น จ่ายค่าตอบแทนให้ผู้หญิงไม่เท่ากับผู้ชาย สถาบันการเงินก็ย่อมมีส่วนรับผิดชอบในการทำให้การเลือกปฏิบัติทางเพศนั้นดำรงอยู่ เป็นเหตุให้แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) กำหนดให้หมวด ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ เป็น 1 ใน 13 เกณฑ์มาตรฐานสำหรับประเมินธนาคารพาณิชย์

เพื่อผลักดันให้ภาคธนาคารไทยก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ ให้เกิดขึ้นในไทย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) จึงนำเกณฑ์ดังกล่าวมาประเมินภาคธนาคารไทยด้วยเช่นกัน โดยทำการประเมินในหมวดนี้มาตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2561-2564) ผ่านตัวชี้วัด 15 หัวข้อ ดังนี้

หัวข้อที่ 1-6 ใช้ประเมินนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน 

  1. สถาบันการเงินมีนโยบายที่คำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศ (gender-sensitive policy) ซึ่งไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเพศทุกรูปแบบ (zero tolerance policy) ในการจ้างงานและการทำงาน รวมถึงความเสียหายทางจิตวิทยา และการคุกคามทางวาจา กายภาพ และทางเพศ 
  2. สถาบันการเงินมีระบบการจัดการความเท่าเทียมของค่าตอบแทน (pay equity) เชิงรุก 
  3. สถาบันการเงินมีระบบการป้องกันและบรรเทาการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อลูกค้า
  4. สถาบันการเงินให้หลักประกันว่า ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่า 30% ในตำแหน่งบริหารระดับสูง และผู้หญิงและผู้ชายจะเข้าถึงตำแหน่งบริหารระดับสูงได้อย่างเท่าเทียมกัน
  5. สถาบันการเงินให้หลักประกันว่า ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่า 40% ในตำแหน่งบริหารระดับสูง และผู้หญิงและผู้ชายจะเข้าถึงตำแหน่งบริหารระดับสูงได้อย่างเท่าเทียมกัน
  6. สถาบันการเงินมีโครงการพัฒนาศักยภาพในสายอาชีพสำหรับพนักงาน เพื่อส่งเสริมให้สตรีเข้าถึงตำแหน่งบริหารและกรรมการบริษัทอย่างเท่าเทียม

หัวข้อที่ 7-15 ใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน 

  1. บริษัทมีความทุ่มเทเชิงนโยบายที่บรรเทาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่คนประสบ อันเป็นผลมาจากเพศสภาพของตนเอง
  2. บริษัทมีนโยบายที่คำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศ (gender-sensitive policy) ซึ่งไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเพศทุกรูปแบบ (zero tolerance policy) ในการจ้างงานและการทำงาน รวมถึงความเสียหายทางจิตวิทยา และการคุกคามทางวาจา กายภาพ และทางเพศ
  3. บริษัทมีระบบการจัดการความเท่าเทียมของค่าตอบแทน (pay equity) เชิงรุก
  4. บริษัทมีระบบการป้องกันและบรรเทาการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อลูกค้า
  5. บริษัทให้หลักประกันว่า ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่า 30% ในตำแหน่งบริหารระดับสูง และผู้หญิงและผู้ชายจะเข้าถึงตำแหน่งบริหารระดับสูงได้อย่างเท่าเทียมกัน
  6. บริษัทให้หลักประกันว่า ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่า 40% ในตำแหน่งบริหารระดับสูง และผู้หญิงและผู้ชายจะเข้าถึงตำแหน่งบริหารระดับสูงได้อย่างเท่าเทียมกัน
  7. บริษัทมีโครงการพัฒนาศักยภาพในสายอาชีพสำหรับพนักงาน เพื่อส่งเสริมให้สตรีเข้าถึงตำแหน่งบริหารและกรรมการบริษัทอย่างเท่าเทียม
  8. บริษัทบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิสตรีเข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง และนโยบายปฏิบัติการของบริษัท
  9. บริษัทใส่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิสตรีเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า

เกณฑ์การประเมินในหมวดนี้คาดหวังให้ธนาคารสะท้อนถึงคุณค่าความเท่าเทียมในบริบทของเพศ ความเท่าเทียมทางเพศในที่นี้ หมายถึง การมีสิทธิ ความรับผิดชอบ และโอกาสที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อกำหนดด้านเพศ โดยนโยบายที่คาดหวัง เช่น นโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเพศทุกรูปแบบในการจ้างงานและการทำงาน รวมถึงการคุกคามทางจิตวิทยา วาจา กายภาพ และทางเพศ (zero tolerance policy) นโยบายรับประกันการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในคณะกรรมการบริษัท และมาตรการส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง 

2561: ภาพรวมธนาคารไทยได้คะแนนเฉลี่ย 1.5%

ปี 2561 เป็นปีแรกที่แนวร่วมการเงินฯ ทำการประเมินธนาคารไทยโดยรวม ซึ่งพบว่า ความเท่าเทียมทางเพศเป็น 1 ใน 5 หมวดที่ธนาคารได้คะแนนน้อยที่สุดและได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 1.5% ของคะแนนรวมทั้งหมวด โดยธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้คะแนนหัวข้อที่ 1 และธนาคารกรุงเทพ ได้คะแนนหัวข้อที่ 2

แม้ผลการประเมินนี้ไม่ได้หมายความว่า ธนาคารไทยไม่ได้ใส่ใจความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิสตรี แต่ก็สะท้อนว่าธนาคารไทยโดยรวมยังขาดนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในองค์กร และมาตรการป้องกันและบรรเทาการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อลูกค้าที่ชัดเจน

ปี 2562: ธนาคาร 4 แห่ง เริ่มให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมทางเพศ

ในปีที่ 2 ของการประเมินธนาคารไทยโดยรวม แม้คะแนนเฉลี่ยในหมวดความเท่าเทียมทางเพศจะเพิ่มขึ้น จาก 1.5% เป็น 2.8% ของคะแนนรวมทั้งหมวด แต่ก็ยังคงจัดเป็น 1 ใน 5 หมวดที่ธนาคารได้คะแนนน้อยที่สุด และได้คะแนนเฉลี่ยตํ่ากว่า 5%

การประเมินในปีนี้ ธนาคารเกียนตินาคินภัทร และธนาคารกรุงเทพ ยังคงได้คะแนนในหัวข้อเดิม คือหัวข้อที่ 1 และ 2 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีธนาคารอีก 2 แห่งที่ได้คะแนนในหมวดนี้ คือ ธนาคารกสิกรไทย ได้คะแนนหัวข้อที่ 1 และธนาคารทหารไทย ได้คะแนนหัวข้อที่ 9

ผลประเมินในปีนี้สะท้อนว่า ธนาคารเริ่มให้ความสำคัญต่อประเด็นความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น จากปีที่แล้วมีธนาคารที่ได้คะแนนในหมวดนี้เพียง 2 แห่ง เพิ่มเป็น 4 แห่ง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี แม้คะแนนเฉลี่ยในภาพรวมจะยังไม่สูงนักก็ตาม 

ปี 2563: ธนาคารทหารไทยมาแรง ทำคะแนนได้ถึง 3 หัวข้อ

ภาพรวมในหมวดความเท่าเทียมทางเพศในการประเมินปีที่ 3 ยังคงไม่กระเตื้องขึ้นจากปีที่ผ่านมานัก และยังนับเป็น 1 ในหมวดที่ธนาคารได้คะแนนน้อยที่สุด โดยได้คะแนนเฉลี่ย 3.3% ของคะแนนรวมทั้งหมด

สิ่งที่น่าสนใจในปีนี้คือ ธนาคารทหารไทย มีพัฒนาการจนสามารถได้คะแนนในหมวดนี้ไปถึง 3 หัวข้อ คือ หัวข้อที่ 3, 4 และ 5 จนเป็นธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุดในหมวดความเท่าเทียมทางเพศในปีนี้

อย่างไรก็ดี ผลการประเมินของปีนี้ยังคงสะท้อนว่า ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศยังคงไม่ได้รับความสนใจจากธนาคารไทยมากเท่าที่ควร แต่ก็นับว่าเป็นสัญญาณอันดีที่ธนาคารทหารไทยสามารถทำคะแนนได้อย่างโดดเด่น และยังได้คะแนนมากกว่า 1 หัวข้อ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกนับตั้งแต่มีการประเมินในหมวดนี้ 

ปี 2564: คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

สำหรับปีที่ 4 ซึ่งเป็นปีที่มีการประเมินครั้งล่าสุด เป็นเรื่องน่ายินดีที่ธนาคารไทยโดยรวมให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น หลายธนาคารที่ไม่เคยได้รับคะแนนในหมวดนี้มาก่อนก็เริ่มทำคะแนนได้ และหลายธนาคารที่เคยได้คะแนนอยู่แล้วก็สามารถทำคะแนนเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ทำให้ภาพรวมมีความตื่นตัวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

สำหรับรายชื่อธนาคารที่ได้คะแนนในปีนี้ ได้แก่

  1. ธนาคารกสิกรไทย ได้คะแนนจากหัวข้อย่อยที่ 1, 2, 4, 5 และ 6
  2. ธนาคารทหารไทยธนชาต ได้คะแนนจากหัวข้อย่อยที่ 2, 3, 4 และ 9 
  3. ธนาคารกรุงไทย ได้คะแนนจากหัวข้อย่อยที่ 1, 2 และ 3
  4. ธนาคารกรุงเทพ ได้คะแนนจากหัวข้อย่อยที่ 1, 2 และ 4
  5. ธนาคารออมสิน ได้คะแนนจากหัวข้อย่อยที่ 4 และ 5 
  6. ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้คะแนนจากหัวข้อย่อยที่ 2, 4 และ 5 
  7. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้คะแนนจากหัวข้อย่อยที่ 1 
  8. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ได้คะแนนจากหัวข้อย่อยที่ 4 และ 5 
  9. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้คะแนนจากหัวข้อย่อยที่ 4 
  10.  ธนาคารทิสโก้ ได้คะแนนจากหัวข้อย่อยที่ 4

ด้วยจำนวนธนาคารที่ได้คะแนนในหมวดนี้มีเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีการพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของหลายธนาคาร ทำให้คะแนนเฉลี่ยในหมวดนี้เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปีก่อน เป็น 10.3% ของคะแนนรวมทั้งหมวด 

หากพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ย พบว่า 5 ใน 10 ธนาคาร หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนธนาคารทั้งหมด สามารถทำคะแนนได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นอันดับ 1 ทำคะแนนไปถึง 26.67% ตามมาด้วยธนาคารทหารไทยธนชาตทำคะแนนไป 16.67% รองลงมา ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารออมสิน ได้คะแนนเท่ากันคือ 13.33%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียด น่าสนใจว่าในหัวข้อย่อยที่ 4 ซึ่งเกี่ยวกับการให้หลักประกันว่า ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่า 30% ในตำแหน่งบริหารระดับสูง และจะเข้าถึงตำแหน่งบริหารระดับสูงได้อย่างเท่าเทียมกันกับผู้ชาย เป็นหัวข้อที่ธนาคาร 8 แห่ง (จากทั้งหมด 10 แห่ง) ได้คะแนน นับเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าธนาคารเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในตำแหน่งบริหารระดับสูงมากขึ้น

ผลการประเมินในปีนี้สะท้อนว่า ธนาคารไทยโดยรวมให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศเพิ่มขึ้นมากจนอาจเรียกได้ว่าก้าวกระโดด ส่งผลให้คะแนนในหมวดความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเคยเป็นหมวดที่ได้คะแนนต่ำสุด 3 อันดับสุดท้ายในปีก่อน มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

(หมายเหตุ: ในปีนี้ธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาตมีการควบรวมกิจการ และเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต)

ภาพรวมผลการประเมิน 4 ปี: ธนาคารไทยมีพัฒนาการที่ดีด้านความเท่าเทียมทางเพศ 

หากพิจารณาเฉพาะผลการประเมิน 3 ปีแรก สถานการณ์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศของธนาคารไทยนับว่ามีความน่าเป็นห่วงสูง เพราะนอกจากจะเป็นหมวดที่รั้งท้ายในการประเมินมาตลอด คะแนนเฉลี่ยยังไม่ค่อยกระเตื้องสูงขึ้นมากนัก จนกระทั่งการประเมินครั้งที่ 4 หรือปีล่าสุดนี้ คะแนนเฉลี่ยสามารถก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 2563 เป็น 10.3% ในปี 2564 และนับเป็นการแตะเลขสองหลักเป็นครั้งแรกนับแต่มีการประเมินมา

ประเด็นที่พึงพิจารณาคือ ธนาคารไทยควรรักษานโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศให้ได้อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตามว่า ในการประเมินครั้งต่อๆ ไปแต่ละธนาคารจะสามารถรักษาสถานะบทบาทของตนไว้ได้มากน้อยเพียงใด เพื่ออุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมไทยและเกิดความเท่าเทียมของเพศสภาพอย่างแท้จริง