ธนาคารไทยกับค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม

21 กุมภาพันธ์ 2563

หนึ่งในปัญหาคลาสสิกที่สถาบันการเงินไทยถูกผู้บริโภคร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง คือการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรม และไม่สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริง เพราะมีหลายครั้งที่ค่าธรรมเนียมสูงเกินไป บางอย่างไม่สมควรเรียกเก็บจากผู้บริโภค หรือเกิดจากการคำนวณที่ไม่เป็นธรรมกับผู้โภค

ค่าธรรมเนียมเป็นรายได้ก้อนใหญ่ของธนาคารไทย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าเฉพาะ 9 เดือนแรกของปี 2562 ธนาคารมีรายได้รวมกันถึง 147,861 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20-30 ของรายได้ทั้งหมดของธนาคารแต่ละแห่ง โดยเรียกเก็บจากบริการต่างๆ อาทิ บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม ค่าธรรมเนียมจัดการ หรือบริการให้คำปรึกษาต่างๆ
(https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=673&language=th)

เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืน Fair Finance Thailand จึงอยากชักชวนทุกคนมาร่วมกันเรียนรู้ว่า ธนาคารต่างๆ ควรดำเนินการปรับค่าธรรมเนียมอย่างไร ถึงจะเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากที่สุด

จากข้อมูลของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2561 พบว่า ปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยคำนวณไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ติดอันดับ 1 ในเรื่องร้องเรียนของกลุ่มสินเชื่อ โดยประเด็นที่พบบ่อย มีตั้งแต่ เรื่องค่าติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ดอกเบี้ยหรือค่าปรับล่าช้า และยังมีกรณีที่ลูกค้าไม่เข้าใจลำดับการตัดชำระหนี้ที่ทำให้เกิดยอดหนี้ค้างชำระ เพราะถูกตัดชำระค่าธรรมเนียมก่อน
(https://www.posttoday.com/finance-stock/news/547454)

 

จากปัญหาที่เกิดขึ้น นำไปสู่การตั้งคำถามว่า ค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรมควรเป็นอย่างไร ซึ่งหากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้วางกรอบนโยบายสำคัญ คือค่าธรรมเนียมต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ต้องไม่คิดค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และต้องสอดคล้องกับเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม
(https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/856996)

เช่นเดียวกับ Fair Finance Thailand ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์เรื่องนี้ไว้ในหลายหมวดเช่นกัน อาทิ สถาบันการเงินไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน หรือคิดค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อยที่สมเหตุสมผล รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลสำคัญแก่ลูกค้ารายย่อย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ค่าธรรมเนียม
เมื่อการวางกรอบเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหา ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจำเป็นต้องประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อจัดระเบียบค่าธรรมเนียม เช่น จัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน เมื่อปี 2555 รวมถึงกำหนดให้ ผู้ให้บริการทางการเงินปรับปรุงเอกสารประกอบการขายผลิตภัณฑ์รายย่อย ได้แก่ เงินฝาก บัตรเดบิต บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และ สินเชื่อเช่าซื้อ ให้มีการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องค่าธรรมเนียมและค่าปรับต่างๆ (https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=dkV6UWVDMW5DbTA9)
.
นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศปรับปรุงวิธีคิดค่าธรรมเนียมใน 3 ประเด็นที่มีประชาชนร้องเรียนมากที่สุด ดังนี้
(https://www.prachachat.net/finance/news-413700)
ข้อที่ 1 คือ ค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด (prepayment charge) สำหรับสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อส่วนบุคคล

จากเดิมธนาคารจะคิดค่าปรับไถ่ถอนจากยอดวงเงินกู้ทั้งก้อน เปลี่ยนเป็นให้คำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือ และให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาที่จะไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดด้วย

เช่น SMEs กู้เงินมา 10 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อน 10 ปี แต่เมื่อเข้าปีที่ 3 แล้วเหลือเงินต้น 7 ล้านบาท หากลูกค้าดำเนินกิจการได้ดี ใช้คืนก่อนกำหนด ซึ่งเท่ากับว่าธนาคารอาจสูญเสียผลประโยชน์ที่จะได้รับจากที่คาดการณ์ไว้ แต่ก่อน ธนาคารจึงคิดค่าปรับจากยอดเงินกู้ทั้ง 10 ล้าน แต่ต่อไปนี้จะทำไม่ได้แล้ว เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้คิดค่าปรับจากเงินต้นที่เหลือเท่านั้น
ข้อที่ 2 คือ "ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ” ครอบคลุมทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อส่วนบุคคล

โดยเกณฑ์ใหม่จะเปลี่ยนวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดจาก “ยอดเงินต้นคงเหลือทั้งหมด" มาเป็น “ยอดเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัด” เป็นการคิดตามหลักการที่เป็นธรรมกับลูกค้า เพราะการผิดนัดค่างวดที่เกิดขึ้น เช่นถ้าลูกค้าผิดนัด 1 งวด ธนาคารควรจะคิดค่าปรับบนค่างวด ไม่ใช่คิดจากยอดคงค้างทั้งหมด เพราะถ้าคิดแบบเดิมดอกเบี้ยอาจสูงถึง 15-18% แต่พอปรับฐานการคิดดอกเบี้ยก็จะลดลงตามไปด้วย ที่สำคัญธนาคารควรจะมีระยะเวลาผ่อนปรน กรณีลูกค้ามีเหตุจำเป็น จ่ายเงินช้า 5-10 วันด้วย ถือเป็นการคำนึงถึงความสามารถของลูกหนี้ และลดโอกาสการเกิดหนี้เสียได้ด้วย
ข้อที่ 3 ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประชาชนใช้จำนวนมาก

เดิมเมื่อยกเลิกการใช้บัตร ธนาคารจะไม่คืนเงินส่วนต่างของค่าธรรมเนียมรายปีให้ลูกค้า หรือคืนเมื่อมีการร้องขอ แต่เกณฑ์ใหม่หากลูกค้าจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีไปแล้ว แต่ใช้บริการเพียง 3 เดือน เมื่อยกเลิกการใช้บัตร ธนาคารต้องดำเนินการคืนค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือทันที โดยลูกค้าไม่ต้องร้องขอ
และกรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน เดิมจะเรียกเก็บทุกกรณี เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสมได้