กนก จุลมนต์​: พ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับแก้ไข ล้มได้และลุกเป็น

30 มิถุนายน 2565

 

กฎหมายล้มละลายของไทยมีทางเลือกอะไรให้กับลูกหนี้บ้าง?

คำตอบสำหรับลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลคือ หากไม่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สิน ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ต่างจากลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ทำได้เพียงรอวันเวลาที่จะถูกยึดทรัพย์สิน หรือไม่ก็ถูกลงโทษผ่านการฟ้องศาลจนตกเป็นบุคคลล้มละลาย

คำตอบดังกล่าวทำให้เห็นว่ายังมีช่องว่างระหว่างนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดาในกฎหมายไทยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายกระบวนการฟื้นฟูหนี้สินที่ช่วยเหลือแค่ลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลเพียงเท่านั้น ส่วนลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดากลายเป็นคนที่ถูกมองข้ามไป

การจะอุดช่องว่างได้ กฏหมายจึงควรอนุญาตให้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาสามารถเข้าสู่กระบวนการเจรจาและฟื้นฟูหนี้สินกับเจ้าหนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้โอกาสสร้างชีวิตใหม่ ก่อนที่จะถูกตัดสินว่าเป็นบุคคลล้มละลาย ดังที่ ดร.กนก จุลมนต์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เรียกว่า ตาข่ายแห่งความปลอดภัยของสังคม (social safety net) หมายความว่า หากลูกหนี้หมดหนทางที่จะจัดการกับหนี้สินที่ล้นพ้นตัว กฎหมายล้มละลายจะต้องเข้ามามีบทบาทในการเป็นทางเลือกให้ลูกหนี้ได้พึ่งพิง มิใช่ปฏิบัติกับลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้บุคคลธรรมดา ราวกับเป็นอาชญากรที่ต้องได้รับการลงโทษอย่างในปัจจุบัน

และเพื่อจะทำความเข้าใจอย่างครบถ้วน Fair Finance Thailand ชวน ดร.กนก จุลมนต์​ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฏีกา พูดคุยผ่าน podcast ถึงพัฒนาการของกฎหมายล้มละลายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทั้งยังมองถึงช่องโหว่ที่อาจเป็นปัญหาในอนาคตของร่างกฎหมายที่กำลังแก้ไขและผลักดันกันอยู่ เพื่อให้กฎหมายล้มละลายได้รับการพัฒนาไปอย่างสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน