หลักการ "การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ" สู่การปฏิบัติ: กรณีโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนหลวงพระบาง
โครงการเขื่อนหลวงพระบางนับเป็นเขื่อนที่ 5 บนแม่น้าโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ด้านเหนือน้ำขึ้นไปประมาณสี่กิโลเมตรจากจุดบรรจบของแม่น้ำอูกับแม่น้ำโขง และประมาณ 25 กิโลเมตรด้านเหนือน้ำของเมืองหลวงพระบาง แหล่งมรดกโลกที่ประกาศโดยยูเนสโก นอกจากนี้ เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งตั้งอยู่ด้านท้ายน้ำห่างจากเขื่อนหลวงพระบาง 130 กิโลเมตร ได้เปิดเดินเครื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ในขณะที่โครงการเขื่อนปากแบง ที่วางแผนก่อสร้างอยู่ทางตอนบนก็ได้ดำเนินการตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าเสร็จสิ้นแล้ว
โครงการเขื่อนหลวงพระบางจะมีกำลังผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดจะขายให้กับประเทศไทย โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจเป็นผู้รับซื้อ ตามข้อมูลของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นหลักในบริษัทที่พัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ได้เริ่มมีการก่อสร้างแล้ว มีกำหนดเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2573
บริษัทหลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด (LPCL) จัดตั้งขึ้นในลาวเพื่อพัฒนาโครงการนี้ ข้อมูลในตุลาคม 2565 หุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท (รวมกัน 52%) เป็นของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (42%) และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (10%) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ก่อสร้างและดำเนินงานโครงการเขื่อนไซยะบุรี บริษัท PT Sole จำกัด ถือหุ้น 38% และ Petro Vietnam Power Corporation (บริษัทลูกของ Vietnam Oil และ Gas Corporation) ถือหุ้นที่เหลือ 10% ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ผู้ถือหุ้นของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เห็นชอบให้เพิ่มสัดส่วนหุ้นในบริษัทหลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัดเป็น 50% โดยคาดว่าธุรกรรมครั้งนี้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2565
อย่างไรก็ตาม โครงการเขื่อนหลวงพระบางได้นำมาซึ่งความกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาสังคมตลอดจนชุมชนแม่น้ำโขงในประเทศไทย เนื่องด้วยโครงการดังกล่าวอาจนำมาซึ่งผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง แม้จะมีการดำเนินกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า จนนำไปสู่การแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ "รัฐบาลสปป.ลาวให้ดำเนินการทั้งปวง เพื่อแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดนด้านลบที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมด" โดยคณะกรรมการร่วม MRC แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการดำเนินงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดนและความกังวลของภาคประชาสังคม ชุมชน และประเทศสมาชิกอื่น ๆ ที่ได้ระถึงในระหว่างกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า
ขณะที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านจาก 8 จังหวัดในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เผยแพร่ แถลงการณ์มีข้อเรียกร้องหลักสี่ประการ ได้แก่
- ให้รัฐบาลไทยยุติการสนับสนุนด้วยประการใดๆ และแสดงท่าทีที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนอื่น ๆ บนลำน้ำสายประธานของแม่น้าโขง
- ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ประเทศไทยในเวลานี้มีปริมาณไฟฟ้าสำรองเป็นปริมาณมาก
- กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA มีปัญหาและมีข้อบกพร่องอย่างมากและต้องได้รับการปฏิรูป และขอให้โครงการเขื่อนหลวงพระบางเป็นโครงการสุดท้ายที่เข้าสู่กระบวนการ PNPCA จนกว่าจะมีการปรับปรุงและแก้ไขข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 โดยเฉพาะกระบวนการ PNPCA เสียใหม่
- ให้รัฐบาลไทยและกฟผ. เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว และหาทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง
จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ยังไม่มีการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงแม้แต่ข้อเดียว
นอกจากนี้ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ได้เรียกร้องให้สถาบันการเงินของไทยซึ่งอาจพิจารณาให้เงินเชื่อกับโครงการเขื่อนหลวงพระบางให้ประเมินอย่างรอบคอบต่อความเสี่ยงของโครงการนี้ในแง่ของประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และได้เสนอให้ธนาคารไทยเปลี่ยนพันธกิจ “การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ” ให้เป็นการปฏิบัติ เพราะถึงเวลาที่ธนาคารไทยที่มักเป็นแหล่งสินเชื่อให้กับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง จะต้องทบทวนยุทธศาสตร์ของตนที่มีต่อประเทศลาว โดยอย่างน้อยที่สุด ธนาคารควรปรับปรุงนโยบายการให้สินเชื่อให้เข้มแข็งขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับธนาคารระดับโลกอื่น ๆ ปฏิบัติ