ช่วงเดือนมิถุนายน 2024 มีการเผยแพร่รายงาน“Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar”[1] ของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (The Special Rapporteur) ในรายงานได้มีการเปิดเผยว่าธนาคารไทยเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการอำนวยความสะดวกให้รัฐบาลทหารพม่าเข้าถึงอาวุธ ซึ่งถูกนำไปใช้ในการสังหารประชาชนอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง
จากรายงานระบุว่า ธนาคารไทยกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า โดยในปีงบประมาณ 2022[2] ธนาคารไทยมีส่วนในการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวให้กับกระทรวงกลาโหมของพม่ารวมมูลค่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปีงบประมาณ 2023[3] โดยสูงถึงกว่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงท้ายของปีงบประมาณ 2023 โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธฯ ทั้งหมด
โดยธนาคารไทยที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีงบประมาณ 2023 คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดยปีงบประมาณ 2023 มูลค่าการดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่าของ SCB พุ่งขึ้นไปที่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ธุรกรรมดังกล่าวเคยมีมูลค่าน้อยกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้อุบัติขึ้นในขณะที่ผู้ที่เคยมีบทบาทสูงสุดในอดีตอย่างธนาคารของสิงคโปร์กำลังดำเนินการยุติบทบาทในธุรกรรมในลักษณะดังกล่าวหลังจากข้อค้นพบในรายงานเล่มก่อนในประเด็นเดียวกันอย่าง “The Billion Dollar Death Trade” ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติที่ระบุถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกรรมการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธฯ ของบริษัทจดทะเบียนและธนาคารของสิงคโปร์ นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าพบธนาคารไทยอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการอำนวยความสะดวกทางธุรกรรมเหล่านี้ ได้แก่
- ธนาคารกรุงเทพ
- ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารทหารไทยธนชาต
- ธนาคารกรุงไทย
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีมูลค่าของธุรกรรมการจัดซื้อทางทหารลดลงจาก 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2022 เหลือประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2023 สืบเนื่องจากความพยายามในการยุติความสัมพันธ์กับธนาคารในประเทศพม่าที่อยู่ในประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกําหนดตามมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ (UN Sanctions List)
แม้ธนาคารหลายแห่งมีการประกาศรับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) และอ้างว่ามีกระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (due diligence) ที่เข้มงวด แต่ธนาคารต่าง ๆ ยังคงประสบปัญหาในการระบุเส้นทางธุรกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธฯ เพื่อดำเนินการปิดกั้นธุรกรรมเหล่านั้น ทั้งนี้สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายหน้า (proxies) ได้พัฒนาวิธีการเพื่อปกปิดตัวตนอย่างแยบยลยิ่งขึ้น จึงเป็นความท้าทายอย่างมากในการตรวจสอบของทุกฝ่าย ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ที่กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าธนาคารรับรู้อย่างแน่ชัดว่าธุรกรรมใด ๆ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเปิดเผยรายงานดังกล่าวธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย (สมาคมฯ) ได้มีการชี้แจงข้อมูล [4][5] ตอบสนองต่อข้อค้นพบอย่างสอดคล้องกัน โดยทั้งสองหน่วยงานแสดงจุดยืนในการปฏิบัติตามมาตรการสากลและกฎหมายภายในประเทศ อาทิ มาตรการคว่ำบาตรของ Financial Action Task Force (FATF) หรือ มาตรการของสำนักงาน ปปง. โดยสมาคมฯ ระบุเพิ่มเติมว่า “ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย มีนโยบายชัดเจน ไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และห้ามนำธุรกรรมทางเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน”
ขณะที่ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีการชี้แจงข้อมูลเช่นกัน ซึ่งต่างระบุถึงการยึดมั่นการปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน[6][7] ในแถลงการณ์ โดยธนาคารไทยพาณิชย์ชี้แจงเพิ่มเติมดังนี้ “จากกรณีธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกับประเทศเมียนมาตามที่ปรากฏในรายงานสื่อนั้น ธนาคารได้ทำการตรวจสอบภายในแล้วพบว่า เป็นจำนวนธุรกรรมของลูกค้าองค์กรเพื่อการชำระค่าอุปโภคบริโภค และพลังงานซึ่งเป็นปกติธุระของธุรกิจ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการค้าอาวุธตามที่ปรากฏเป็นข่าว และเป็นมูลค่าธุรกรรมปกติ ซึ่งมิได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธนาคารมีการทำ Due Diligence ตรวจสอบความถูกต้อง และรายงานการทำธุรกรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการทำธุรกรรมทุกรายการ”
วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ (คณะกรรมาธิการฯ) สภาผู้แทนราษฎร เชิญตัวแทนและบุคคลที่เกี่ยวข้องดังนี้ นายทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ, ธปท., สมาคมฯ, ธนาคารไทยทั้ง 5 ที่ปรากฎชื่อในรายงาน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือและตอบข้อซักถาม กรณีเกี่ยวกับรายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา โดยผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยพร้อมด้วยสถาบันทางการเงินที่เข้าร่วม ชี้แจงว่ารับทราบและติดตามรายงานฉบับดังกล่าวอย่างใกล้ชิดพร้อมยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการทำธุรกรรมว่าด้วยการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลเมียนมา และสถาบันทางการเงินเองก็มีมาตรการในการตรวจสอบประเมินความเสี่ยงของผู้ร้องขอธุรกรรมทุกครั้ง และไม่ได้อนุมัติธุรกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือขัดต่อหลักกฎหมายแต่อย่างใด แม้จะพบข้อจำกัดด้านอำนาจการตรวจสอบข้อมูลของผู้ร้องขอธุรกรรมอยู่บ้างก็ตาม[8] โดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ต่อที่ประชุมมีดังนี้ หน่วยงานและธนาคารที่เกี่ยวข้องควรมีท่าทีที่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติต่อข้อค้นพบในรายงาน และควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณากำหนดมาตรการตรวจสอบเชิงรุกและแก้ปัญหาตามที่ถูกระบุในรายงาน
ภายหลังการแถลงและเข้าพบคณะกรรมาธิการฯ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงินไทย ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2024 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (แนวร่วมฯ) หรือ Fair Finance Thailand ออกแถลงการณ์[9]และส่งจดหมายถึงสถาบันการเงินไทย 5 แห่ง ที่ปรากฏชื่อในรายงานของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ โดยมีใจความระบุถึงความกังวลและข้อเรียกร้องให้ธนาคารยกระดับกระบวนการตรวจสอบธุรกรรมและความสัมพันธ์ทางการเงินทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา เพื่อแสดงความรับผิดชอบตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGPs) โดยมีธนาคารกรุงเทพติดต่อกลับมายังแนวร่วมฯ เพื่อสอบถามถึงข้อแนะนำต่อแนวทางการดำเนินการในอนาคต นอกจากนี้ แนวร่วมฯ ได้มีการเข้าพบและสอบถามความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าวกับธนาคารบางส่วนจากรายงาน ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทยธนชาตให้ความเห็นไปในทางเดียวกันกับแถลงการณ์ ส่วนธนาคารกสิกรไทยไม่มีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว
จากคำแถลงของธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบกับข้อค้นพบจากรายงานของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติชี้ให้เห็นว่า การปฏิบัติตามมาตรการและกฎระเบียบที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเป็นหลักนั้น ไม่เพียงพอต่อการระงับธุรกรรมที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในพม่าได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญของธนาคารไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกระดับกระบวนการตรวจสอบลูกค้าอย่างเข้มข้น (Enhanced Due Diligence: EDD) สำหรับธุรกรรมที่เชื่อมโยงกับประเทศพม่าทั้งหมด เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงในการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องของกองทัพพม่าอันนำไปสู่การเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนามาตรการป้องกันสำหรับระบบโครงสร้างทางการเงินไทยเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความน่าเชื่อถือและความยั่งยืนของระบบการเงินไทยในระดับสากล
[1] เข้าถึง 23 กรกฎาคม 2567 https://www.ohchr.org/sites/default/files/documents/hrbodies/hrcouncil/sessions-regular/session56/a-hrc-56-crp-7.pdf
[2] ปีงบประมาณ 2022 อยู่ในช่วงเดือน เมษายน 2565 - มีนาคม 2566
[3] ปีงบประมาณ 2023 อยู่ในช่วงเดือน เมษายน 2566 - มีนาคม 2567
[4] เข้าถึง 23 กรกฎาคม 2567, https://www.bot.or.th/th/news-and-media/news/news-20240628-2.html
[5] เข้าถึง 23 กรกฎาคม 2567, https://www.tba.or.th/สมาคมธนาคารไทยชี้แจง-กร/
[6] เข้าถึง 23 กรกฎาคม 2567, https://www.ttbbank.com/th/newsroom/detail/ttb-clarifies-financial-transactions-related-to-myanmar-military-government
[7] เข้าถึง 23 กรกฎาคม 2567, https://investor.scbx.com/th/updates/press-releases/152/siam-commercial-bank-clarifies-financial-transactions-related-to-myanmar
[8] เข้าถึง 7 สิงหาคม 2567, สรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร
[9] เข้าถึง 24 กรกฎาคม 2567, แถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อสถาบันการเงินไทย 5 แห่งที่ปรากฏชื่อในรายงานของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ กรณีธุรกรรมเชื่อมโยงกองทัพพม่า