6 กรณีศึกษา สะท้อนสถานการณ์สิทธิแรงงานภาคเกษตรและชุมชนท้องถิ่น ในวิกฤติโควิด เศรษฐกิจ และการเมือง

03 ธันวาคม 2564

สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไร้เครือข่ายทางสังคม ไม่มีอำนาจต่อรองในตลาด และอยู่ในฐานะเบี้ยล่างในทางกฎหมาย ดูจะมีชีวิตที่เสี่ยงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อย กลุ่มผู้ค้ารายย่อย และผู้ผลิตขนาดย่อม ที่ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายอยู่แล้ว กลับยิ่งเผชิญความเปราะบางมากยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องเผชิญเงื่อนไขใหม่ๆ ทั้งการผูกขาดในตลาดค้าปลีก การทำสัญญาการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงปัญหาระดับนโยบายของรัฐที่ส่งผลต่อชุมชน 

ถัดจากนี้คือการนำเสนอรายงานสถานการณ์ผู้บริโภคผ่านวิกฤติโควิด เศรษฐกิจ และการเมือง จัดโดย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย หรือ Fair Finance Thailand (FFT) โดยมี วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) นำเสนอ ผลการศึกษา ‘โครงการและนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อแรงงาน เกษตรกรรายย่อย และชุมชนท้องถิ่น: กรณีศึกษาและข้อเสนอต่อแนวปฏิบัติด้านการเงินที่เป็นธรรม’

สิทธิมนุษยชนในระบบเกษตรและอาหาร 

วิฑูรย์เริ่มต้นด้วยการทบทวนสิทธิในกลุ่มเกษตรและอาหาร โดยเสนอว่าแม้แรงงาน เกษตรกร และชุมชนท้องถิ่น จะมีสิทธิที่ครอบคลุมตามหลักสากล แต่ยังพบข้อบกพร่องในหลายมิติ ได้แก่ 

  1. สิทธิเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทน ชั่วโมงการทำงาน และอื่นๆ ของแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งรวมไปถึงแรงงานนอกระบบ
  2. สิทธิในการได้รับความคุ้มครองการทำงานที่ปลอดภัย ความเสี่ยงในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
  3. สิทธิของเกษตรกรในเรื่องพันธุ์พืช ซึ่งเป็นสิทธิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ และการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช รวมถึงการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์
  4. สิทธิในการดำเนินวิถีเกษตรกรรมตามจารีตประเพณีที่ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน
  5. สิทธิในการเข้าถึงที่ดินและแหล่งน้ำ
  6. สิทธิในการเข้าถึงแหล่งทุน เทคโนโลยี และตลาด
  7. สิทธิในอาหาร ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีโภชนาการครบถ้วน
  8. สิทธิในการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เช่น การปล่อยควันพิษ หรือสารเคมีในสิ่งแวดล้อม
  9. สิทธิในการรวมกลุ่มและมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายเกษตรกรรมและอาหาร

ผลกระทบด้านสิทธิทั้ง 9 ข้อนี้ สามารถสะท้อนได้จากกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและรุนแรงในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดัง 6 กรณีต่อไปนี้

กรณีเหมืองทอง 

กรณีการให้สัมปทานเหมืองทอง มีผลกระทบที่เด่นชัดต่อสิทธิของชุมชน สิทธิด้านอาหาร และสิทธิในการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เช่น การปล่อยควันพิษหรือสารเคมีในสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ กรณีการคัดค้านการทำเหมืองทองในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ภายใต้ข้อความรณรงค์ “เอาหมอนทอง ไม่เอาเหมืองทอง” โดยมีประชาชนกว่า 157,000 คน ลงนามคัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด เพื่อทำการสำรวจแร่ทองคำในเนื้อที่ประมาณ 14,650 ไร่ ของตำบลพวา และตำบลสามพี่น้อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี 

ข้อกังวลดังกล่าวของประชาชนมีที่มาที่ไปสืบเนื่องจากรายงานโครงการศึกษาการปนเปื้อนและการวางเครือข่ายเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำใต้ดิน ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ที่เปิดให้สัมปทานบัตรเหมืองทอง พบข้อมูลที่น่าสนใจใน 4 ประเด็นคือ 

หนึ่ง - พบโลหะหนักและสารประกอบที่เป็นผลลัพธ์จากการทำเหมือง ซึ่งอาจกระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ โดยโลหะหนักทั้งหมดมีปริมาณมากขึ้นจากการเปิดหน้าเหมือง 

สอง - จากการวิเคราะห์ ‘มลสาร’ ในดิน พบว่ามีปริมาณตะกั่ว แมงกานีส และแคดเมียมที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการวิเคราะห์ตัวอย่างดินก่อนเปิดเหมือง อีกทั้งพบค่าสารหนูเกินมาตรฐาน

สาม - มีความเสี่ยงที่จะมีการปนเปื้อนสารหนูและแมงกานีสสู่ชั้นน้ำใต้ดิน 

สี่ - จากผลการวิคราะห์น้ำใต้ดิน พบโลหะหนักเกินค่ามาตรฐานหลายจุด และยังพบว่ามีแคดเมียม โคเมียม และสารตะกั่วสูงขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนทำเหมือง 

กรณีเช่นนี้นำมาสู่ความไม่พอใจของชาวบ้านในพื้นที่เหมืองทองคำ จังหวัดพิจิตร โดยมีการเคลื่อนไหวให้รัฐบาลถอนสัมปทานเหมืองทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เมื่อปี 2560 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการฟ้องร้องของบริษัท

กรณีแรงงานข้ามชาติ/ชาติพันธุ์ ในไร่ส้มภาคเหนือ

เช่นเดียวกันกับกรณีสิทธิแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไร่ส้มในพื้นที่ภาคเหนือ จากรายงานการศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งทำการศึกษาผลกระทบจากการปลูกส้มในพื้นที่อำเภอฝาง แม่อาย และไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ในพื้นที่มีการเจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจมากเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยโรคกล้ามเนื้อ กลุ่มโรคระบบย่อยอาหาร เป็นต้น โดยจากการสุ่มตรวจสารพิษในส้มระหว่างปี 2557-2562 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า 

  • ปี 2557 สุ่มตรวจส้ม 11 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 11 
  • ปี 2559 สุ่มตรวจส้ม 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 
  • ปี 2562 สุ่มตรวจส้ม 12 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 12 
  • ปี 2563 สุ่มตรวจส้ม 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 13 

สำหรับผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ/กลุ่มชาติพันธุ์จากการใช้สารเคมี พบว่า แรงงานส่วนใหญ่ในอำเภอฝาง เป็นชาวดาราอั้ง จากประเทศเมียนมา โดยพื้นที่ไร่ส้มขนาด 50 ไร่ขึ้นไป ใช้แรงงานต่างชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ในการฉีดพ่นสารเคมี มีอัตราการฉีดพ่นถี่มากประมาณอาทิตย์ละ 1 ครั้ง โดยแทบทั้งหมดไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสารเคมีที่ฉีดพ่น 

มากกว่านั้นอายุขัยของแรงงานในสวนส้มจะสั้นกว่าเกษตรกรไทยทั่วไป โดยเมื่ออายุ 55-60 ปี สภาพร่างกายจะทรุดโทรม ขณะที่ค่าตอบแทนแรงงานในแคมป์จะอยู่ที่ 150-250 บาทต่อวัน ต่ำกว่าแรงงานที่อยู่นอกแคมป์ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทน 250-300 บาทต่อวัน 

ปัญหาดังกล่าวยังรวมไปถึงการที่สมาชิกในชุมชนซึ่งอายุยังไม่มากนัก แสดงลักษณะพิการที่เกิดจากระบบประสาท ซึ่งโดยปกติแรงงานเหล่านี้มักจะหลีกเลี่ยงการเข้าไปรักษาในโรงพยาบาล จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาซ้ำเติมจากการสัมผัสสารเคมีเพิ่มขึ้น

กรณีฝุ่นพิษและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอ้อย/ข้าวโพด 

ระหว่างปี 2557-2563 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านไร่ ซึ่งแรงจูงใจสำหรับเกษตรกรเกิดจากการกำหนดราคารับซื้อตันละ 1,050 บาท/ตัน ทั้งยังมีการให้ดอกเบี้ยเงินกู้แปลงใหญ่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ และเงินสนับสนุนการเปลี่ยนพื้นที่ 500-1,000 บาทต่อไร่

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างโรงงานและชุมชนก็มีเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้ในกรณีผลกระทบจากการตั้งโรงงานน้ำตาลในจังหวัดอำนาจเจริญ โดยเครือข่ายองค์กรชุมชนได้จัดทำยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่เรียกว่า ‘ธรรมเกษตร’ ตั้งเป้าหมายให้เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ในขณะที่อุตสาหกรรมน้ำตาลต้องการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น และผลักดันให้มีการตั้งโรงงาน

ปัญหาเกิดขึ้นในกระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ จากการติดตามของ BIOTHAI พบว่า กระบวนการดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง อีกทั้งชุมชนต้องประสบกับปัญหาฝุ่นละออง ทั้งจากโรงงานน้ำตาลและโรงงานชีวมวล ปัญหาการจราจรจากรถบรรทุกอ้อย เสียงรบกวนจากโรงงาน ปัญหากลิ่นชานอ้อยไกลถึง 5 กิโลเมตร นาน 4 เดือน ล่าสุด 10 ครอบครัวต้องย้ายบ้านออกไปอาศัยที่อื่น เนื่องจากหวั่นเกรงปัญหาการแย่งชิงน้ำจากลำเซบาย เพราะต้องใช้ทั้งการเกษตรและประปา อีกทั้งเกษตรกรที่เปลี่ยนไปปลูกอ้อยยังพบว่าได้ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามคำโฆษณา 

ความไม่เป็นธรรมในเกษตรพันธสัญญา 

เกษตรพันธสัญญาเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการทำการเกษตรกรรมของเกษตรกรรายย่อยกับบริษัทขนาดใหญ่ ดังตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในโรงงานที่มีแผนจัดตั้งโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดสกลนคร

เกษตรพันธสัญญาในรูปแบบนี้ กำหนดให้เกษตรกรลงนามกู้เงิน 7,000 บาทต่อไร่ (โดยไม่ได้อ่านรายละเอียดทั้งหมด) เพื่อปลูกอ้อยในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยเกษตรกรมอบเงินทั้งหมดให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของโรงงาน โรงงานรับประกันว่าจะซื้ออ้อยในราคาอย่างต่ำ 10,000 บาทต่อไร่ อย่างไรก็ตาม โรงงานกลับไม่สามารถตั้งโรงงานได้ตามกำหนด เจ้าหน้าที่โรงงานคอร์รัปชัน ผลที่ตามมาของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมคือ มีเกษตรกรประมาณ 100 ราย โดนฟ้องร้องให้ชำระหนี้ นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์คล้ายคลึงกันที่จังหวัดนครสวรรค์ เกษตรกรกว่า 20 ราย ถูกยึดที่ดิน โดยนายทุนอ้างว่าผิดสัญญาเมื่อผลผลิตอ้อยไม่ได้ตามที่กำหนด

กรณีการควบรวมกิจการค้าปลีก

การรวมศูนย์ของผู้ประกอบการบางรายในระบบอาหาร ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น การรวมศูนย์ในระบบค้าปลีก หลังการควบรวมกิจการซีพี-เทสโก้ ทำให้กิจการมีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มจาก 69 เปอร์เซ็นต์ เป็น 83 เปอร์เซ็นต์ อาจทำให้เกิดการผูกขาดสินค้า ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค กรณีนี้แตกต่างจากตลาดต่างประเทศที่มีกฎหมายป้องกันการผูกขาดทางการค้า อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี โดยผลกระทบจากการควบรวมกิจการสรุปได้เป็น 4 ประเด็น คือ 

  1. การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจ
  2. ผลกระทบต่อคู่แข่ง (competitors) เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่มีอำนาจเหนือตลาด และมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก จะทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้าสู่ตลาดได้ยากยิ่งขึ้น
  3. ผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (suppliers)
  4. ผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม ผลของการรวมธุรกิจครั้งนี้นอกจากจะทำให้จำนวนคู่แข่งขันในตลาดลดน้อยลง ยังส่งผลต่อการกำหนดราคาสินค้าที่สูงขึ้น

ความตกลงการค้าระหว่างประเทศ กรณี CPTPP กระทบสิทธิเกษตรกร

กรณีสุดท้ายคือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTTP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าระหว่างประเทศ จะกระทบต่อสิทธิของเกษตรกรรายย่อยในเรื่องพันธุ์พืช เพราะแม้ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTTP สภาผู้แทนราษฎร เสนอว่า “เกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง ถ้าประเทศไทยเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ทั้งจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตร และจากการรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้า” ซึ่งกรณีนี้เรียกได้ว่านำไปสู่อวสานของสิทธิทางการเกษตร 

ข้อเสนอต่อแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม 

เลขาธิการ BIOTHAI นำเสนอข้อเสนอในการสนับสนุนการเงินที่เป็นธรรม 4 ประเด็นสำคัญ คือ 

หนึ่ง - ให้หยุดหรือทบทวนการให้กู้ในกิจการข้างต้น 

สอง - ส่งเสริมหรือเพิ่ม Green Credit ในกลุ่มการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การทำเกษตรอินทรีย์/เชิงนิเวศ ตลาดสีเขียว ตลาดท้องถิ่น นอกจากนี้ให้มีการทำ ‘Farm Fund’ หรือกองทุนเพื่อปฏิรูปที่ดิน และเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรยั่งยืน เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ และท้ายที่สุดเพื่อสนับสนุนอาชีพบริการกำจัดวัชพืชโดยใช้เครื่องจักรกลเกษตรหรือพืชคลุมดิน

สาม - เสนอให้เปลี่ยนการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) แบบเดิม โดยเพิ่มหรือกำหนดเป้า Green Credit ให้มากขึ้น กรณีนี้จะช่วยให้กิจการที่เกี่ยวข้องมีการปรับตัว 

สี่ - ประเด็นอื่นๆ ในฐานะประชาชนหรือองค์กรของภาคการเงิน ให้มีการบัญญัติสิทธิด้านอาหารในรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงสิทธิเกษตรกรในกรณีที่รัฐทำความตกลงการค้าระหว่างประเทศอย่าง CPTPP

จากสถานการณ์ที่กลุ่มเกษตรกรรายย่อย แรงงานข้ามชาติ/ชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้ค้าปลีกกำลังเผชิญอยู่ เราคงพอจะเห็นได้ถึงแนวโน้มที่น่ากังวลซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข ข้อเสนออันมาจากจากการรวบรวมข้อมูลของวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ทั้ง 4 ข้อ ได้ส่งตรงไปถึงสถาบันทางการเงิน ถือว่าเป็นอีกแรงที่ช่วยกันประคับประคองผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังเผชิญความยากลำบาก ซึ่งบางธนาคารพาณิชย์ของไทยก็ได้ริเริ่มมาตรการ ที่แสดงให้เห็นแนวโน้มอันดีในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อปกป้องคนกลุ่มเปราะบางเหล่านี้แล้ว  

เราเห็นสัญญาณที่ดี จากการที่สถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มเปิดเผยนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรจากทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมไปถึงธนาคารหลายแห่งเริ่มมีการวัดและเปิดเผยผลกระทบที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางที่แนะนำโดย Task Force on Climate-related Financial Disclosures อีกด้วย

ทั้งหมดสอดคล้องแนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ ที่กำหนดหัวข้อการประเมินที่หลายประการที่ครอบคลุมหลากหลายมุมของชีวิตเพื่อนมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมทางเพศ สุขภาพ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน

การคุ้มครองผู้บริโภค ความโปร่งใสและความรับผิด เป็นต้น

อ้างอิง: