เกรตา ธุนเบิร์ก: COP26 คือคำสัญญาที่กลวงเปล่า และเป็นเพียงเทศกาลฟอกเขียวของภาคธุรกิจ

20 พฤศจิกายน 2564

ผ่านมาได้ราว 1 สัปดาห์ หลังสิ้นสุดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Conference of the Parties) สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่จัดขึ้นในเมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2021 

ภายนอกที่ประชุม COP26 มีการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ ณ จัตุรัสจอร์จ เมืองกลาสโกว์ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม Fridays for Future Scotland กลุ่มเยาวชนที่นัดหยุดเรียนทุกวันศุกร์เพื่อรณรงค์เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดัง เกรตา ธุนเบิร์ก (Greta Thunberg) เยาวชนชาวสวีเดน วัย 18 ปี เข้าร่วมด้วย และกล่าวปราศัยถึงการประชุม COP26 ที่ผ่านมาว่า

“มันไม่ใช่ความลับว่า COP26 คือความล้มเหลว มันคือความชัดเจนด้วยซ้ำว่า เราไม่สามารถแก้ไขวิกฤติด้วยวิธีการเดียวกับที่พาเราเข้ามาอยู่ในวิกฤตินี้ตั้งแต่แรก หลายคนเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า มันจะเป็นยังไงถ้าคนที่มีอำนาจตื่นขึ้นมาสักที แต่ขอพูดชัดๆ ตรงนี้เลยว่า พวกเขาตื่นแล้ว พวกเขารู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร พวกเขารู้ว่าสิ่งที่ไม่อาจหาค่าได้นั้นจำต้องแลกมาด้วยการคงไว้ซึ่งธุรกิจ ผู้นำของเราไม่ได้ทำอะไรเลย พวกเขาสร้างช่องโหว่และสร้างกรอบการทำงานที่เอื้อผลประโยชน์ของตนเอง และเพื่อแสวงหาผลกำไรจากระบบทำลายล้างนี้ ความกระตือรือร้นของผู้นำคือ การปล่อยให้มีการแสวงประโยชน์จากผู้คนและธรรมชาติ และทำลายสภาพความเป็นอยู่ทั้งปัจจุบันและอนาคต

“การประชุม COP เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ที่เหล่าผู้นำของประเทศต่างๆ มากล่าวสุนทรพจน์และคำประกาศอันสวยหรู ในขณะที่เบื้องหลังรัฐบาลของกลุ่มประเทศฝั่งซีกโลกเหนือยังคงปฏิเสธที่จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศที่กำลังย่ำแย่และรุนแรง มันเหมือนกับว่าเป้าหมายหลักของพวกเขาคือการต่อสู้เพื่อสถานภาพปัจจุบัน 

“COP ไม่ใช่การประชุม แต่คือเทศกาลการฟอกเขียว (การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมโดยการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น) ของกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ (Global North Greenwash Festival) ตลอดเวลา 2 สัปดาห์ เป็นการเฉลิมฉลองทางธุรกิจกับการพูดบลา บลา บลา… ที่ผู้คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดยังคงไม่มีใครได้ยิน และเสียงของคนรุ่นต่อๆ ไปก็ยังจมอยู่กับการฟอกเขียว คำพูดและคำสัญญากลวงๆ แต่ความจริงก็คือความจริง เรารู้ดีว่าผู้ปกครองอาณาจักรของเรานั้นช่างเปลือยเปล่า”

นับตั้งแต่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ถือกำเนิดขึ้นในปี 2015 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยผู้นำโลก 197 ประเทศ ได้ลงนามในข้อตกลงที่จะรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และมี Nationally Determined Contributions หรือ NDCs เป็นแผนปฏิบัติการลดการปล่อยมลพิษระดับชาติ

จากการประชุม COP26 ในครั้งนี้มี 200 ประเทศที่มีพันธสัญญาที่จะต้องยื่นแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030 และมีเป้าหมายให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission: Net Zero) ภายในปี 2050 ทว่าแม้จะมีการตั้งเป้าไว้อย่างชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างกังวลอย่างมากว่า ประเทศและบริษัทต่างๆ จะสามารถรักษาข้อตกลงนี้ได้อยู่หรือไม่ 

ธุนเบิร์กกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เราจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประจำปีอย่างจริงจังและทันที ในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน 

“จากอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน งบประมาณในการควบคุมก๊าซ CO2 เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหลืออยู่อย่างจำกัด แน่นอนว่าสภาพภูมิอากาศและวิกฤติทางนิเวศวิทยานั้นไม่อยู่ในสุญญากาศ มันจึงเชื่อมโยงโดยตรงกับวิกฤติและความอยุติธรรมอื่นๆ ตั้งแต่การล่าอาณานิคมหรือก่อนหน้านั้น ด้วยการอยู่บนฐานคิดที่ว่าคนบางคนมีค่ามากกว่าคนอื่น เขาจึงมีสิทธิที่จะขโมยและเอาเปรียบด้วยการเอาที่ดินและทรัพยากรของผู้อื่นไป มันจึงดูไร้เดียงสามากถ้าจะคิดว่าเราสามารถแก้ไขวิกฤตินี้ได้โดยไม่แก้ต้นเหตุของปัญหา

“แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกพูดถึงใน COP เพราะมันน่าอึดอัดใจมากเกินไปที่จะพูด มันจึงง่ายกว่าที่จะทำเป็นลืม เพิกเฉยต่อหนี้ในอดีตที่ประเทศทางซีกโลกเหนือสร้างผลกระทบอะไรไว้กับคนและพื้นที่ และคำถามที่เราต้องถามตัวเองได้แล้ว นั่นคือ เรากำลังต่อสู้เพื่ออะไร เรากำลังต่อสู้เพื่อชีวิตและการมีอยู่ของโลกต่อไปหรือไม่ หรือเรากำลังต่อสู้เพื่อคงไว้ซึ่งธุรกิจอย่างเคย

“ผู้มีอำนาจสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปในฟองสบู่ที่เต็มไปด้วยเรื่องเพ้อฝัน เช่น การมีชีวิตเป็นอมตะบนดาวเคราะห์ที่มีข้อจำกัด การแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีที่จู่ๆ ก็ปรากฏขึ้นมา และหวังว่าจะสามารถขจัดวิกฤติเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป ทั้งๆ ที่ตอนนี้โลกกำลังถูกเผาทำลาย ผู้คนกำลังใช้ชีวิตด้วยการแบกรับความรุนแรงของวิกฤติสภาพภูมิอากาศไว้

“เราไม่ต้องการคำสาบานที่ไม่มีผลอะไรแล้ว เราไม่ต้องการคำสัญญาที่ว่างเปล่า เราไม่ต้องการข้อตกลงที่เต็มไปด้วยช่องโหว่ และสถิติที่ไม่สมบูรณ์ที่เมินเฉยต่อการปล่อยมลพิษในอดีตและความยุติธรรมต่อสภาพอากาศ แต่นั่นคือทั้งหมดที่เรากำลังได้รับ นี่ไม่ใช่การพูดที่รุนแรงจนเกินเลย หากย้อนกลับไปดูที่ผ่านมา เรามี COP ด้วยกันทั้งหมด 26 ครั้ง มีการพูด บลา บลา บลา มาเป็นทศวรรษ แล้วดูสิว่ามันนำไปสู่อะไร”

ทั้งนี้ สำนักข่าว The New York Times ระบุว่า ผู้นำและผู้บริหารธุรกิจได้ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญบางประการไว้ว่า กว่า 100 ประเทศตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพร้อยละ 30 ภายในปี 2030 อีกทั้งกลุ่มพันธมิตรของนักลงทุน ธนาคาร และบริษัทประกันรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ควบคุมเงินถึง 130 ล้านล้านเหรียญกล่าวว่า พวกเขามุ่งมั่นที่จะให้เงินสนับสนุนโครงการที่จะช่วยให้บริษัทและประเทศต่างๆ ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2050 

แต่นักสิ่งแวดล้อมต่างก็วิพากษ์วิจารณ์คำมั่นสัญญาทางการเงินเหล่านั้นว่า “ขาดรายละเอียด”

แน่นอนว่าสถาบันการเงินมีส่วนสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการที่ทำลายชั้นบรรยากาศของโลก เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการให้เงินทุนแก่โครงการต่างๆ โดนธุนเบิร์กมองว่า 

“กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งประมาณ 1 ใน 3 เกิดตั้งแต่ปี 2005 ในระยะเวลานี้สิ่งที่สื่อรายงานกลับเป็นแค่การบอกว่า ผู้มีอำนาจพูดว่าจะทำอะไร มากกว่าสิ่งที่พวกเขาได้ทำจริงๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่สื่อล้มเหลวในการทำให้ผู้มีอำนาจรับผิดชอบทั้งต่อสิ่งที่พวกเขากระทำ และไม่ได้กระทำ อย่างการที่พวกเขายังคงขยายโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิล เปิดเหมืองถ่านหิน สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ออกใบอนุญาตต่างๆ และแม้กระทั่งสิ่งที่ควรทำขั้นต่ำที่สุดก็ยังไม่ได้ทำ อย่างการมอบความช่วยเหลือระยะยาวทางการเงินด้านภูมิอากาศ (climate finance) สำหรับความสูญเสียและความเสียหายกับประเทศที่เปราะบางและควรต้องรับผิดชอบน้อยที่สุด นี่เป็นเรื่องน่าละอาย”

จากกรณีนี้ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย ตอบกับ Fair Finance Thailand ผ่านบทความ ‘ธารา บัวคำศรี: การเมืองเรื่องโลกร้อนบนเวที COP26 และธนาคารเกี่ยวอะไรกับอุณหภูมิโลก’ ว่า แนวคิดเรื่องการตั้งกองทุนโดยให้ประเทศที่พัฒนาแล้วช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา เพื่อปกป้องและฟื้นฟูผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ เป็นแนวคิดที่เรียกว่า ‘หนี้นิเวศ’ (Ecological Debt) ซึ่งมีความหมายคือ ระดับการใช้พลังงานและการปล่อยของเสียโดยประชากรที่มีมากเกินผลผลิตจากธรรมชาติอย่างยั่งยืนของท้องถิ่นจะมีขีดความสามารถรองรับได้

กล่าวคือ การที่ประเทศร่ำรวยได้ผลประโยชน์จากการแย่งชิงทรัพยากรหลังจากเข้าสู่กระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเข้าสู่โลกาภิวัตน์จนทำให้เกิดความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ และส่งผลกระทบต่อประเทศยากจน การให้เงินเยียวยาจึงเหมือนเป็นการชดใช้บาปที่ก่อขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การสนับสนุนทางการเงินที่ต้องเป็นธรรม โดยธารามองว่าต้องมาในรูปแบบของการไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนเดินตามความผิดพลาดของประเทศร่ำรวย ประเทศอุตสาหกรรม และเข้าสู่เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยไม่ต้องเลียนแบบความผิดพลาดทางการบริโภคและการผลิตของประเทศตะวันตก

ในช่วงท้ายของการกล่าวปราศัย ธุนเบิร์กทิ้งท้ายว่า การต่อสู้เพื่อรักษาระบบนิเวศที่มีผลต่อชีวิตนั้นเป็นเรื่องสำคัญ การลงมือกระทำอะไรสักอย่างเพื่อลดวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำทันที

“เรากำลังพูดความจริงซึ่งชัดเจนว่า คนที่อยู่ในอำนาจกลัวความจริง แต่ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถหลบหนีมันได้ พวกเขาไม่สามารถเพิกเฉยต่อความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์ (scientific consensus) ได้ พวกเขาอาจเพิกเฉยต่อเรา ประชาชน รวมถึงลูกหลานของพวกเขาด้วย แต่ไม่สามารถนิ่งเฉยต่อเสียงตะโกน ซึ่งถือเป็นพลังของพวกเราได้ และพวกเราเหนื่อยกับการพูด บลา บลา บลา...ของพวกเขามากพอแล้ว”

ที่มา: