หนี้ กยศ. กลัดกระดุมเม็ดแรกให้แม่นยำ ก่อนหลายแสนชีวิตร่วงหล่น

15 ธันวาคม 2564

“เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา วิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีนักศึกษาคนหนึ่งเข้ามาหาผม เล่าถึงชีวิตที่ยากลำบากของเขา เขาบอกว่า ‘บางทีเขาอาจจะไม่ได้เรียนต่อ บางทีเขาอาจจะไม่สามารถที่จะหาค่าเทอมมาจ่ายได้’ เป็นเรื่องที่น่าเศร้า

“แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ แต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ณ ปัจจุบัน ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับผู้คนทั่วไปที่จะสามารถเข้าถึงได้ คนธรรมดาต้องพยายามอย่างหนักกว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ จากสถิตินักศึกษาที่มาจากครอบครัวยากจน มีเพียงแค่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีโอกาสจะได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย”

บางช่วงบางตอนจากบทปาฐกถาของ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในวาระครบรอบ 121 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2564 

ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างอันน่าสนใจว่า ในฐานะอาจารย์ สิ่งที่ต้องทำบ่อยมากขึ้นในช่วงหลังคือ การเซ็นผ่อนผันค่าเทอม นักศึกษาคนหนึ่งไปหาเขา เขาถามเด็กว่า “ถ้าหากไม่มีเงินที่จะสามารถมาจ่ายได้ เหตุใดถึงไม่กู้ กยศ.” เด็กตอบว่า “เขาเองก็อยากกู้ กยศ. แต่ทุกครั้งที่ไปปรึกษากับพ่อ พ่อไม่มีทางที่จะเสกเงิน 20,000-30,000 บาท มาจ่ายค่าเทอมคืนให้เขาได้”

ประโยคหนึ่งที่พ่อของเด็กคนนี้บอกกับลูกชายคือ “มึงจำคำกูไว้เลยนะ พ่อมึงเป็นคนขายประกัน และมึงก็เป็นลูกคนขายประกัน ถ้าชีวิตของมึงต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นหนี้ 300,000 บาท ตอนอายุ 22 ชีวิตของมึงทั้งชีวิตก็คงจะเป็นได้แค่คนขายประกัน!”

ตอนจบของเรื่องคือ พ่อของนักศึกษารายนั้นต้องไปกดบัตรเงินสดมาจ่ายค่าเทอมให้ลูก ฟังดูไม่สมเหตุสมผล ดอกเบี้ยในบัตรเครดิตสูงกว่า กยศ. หลายเท่า แต่พอมองในกรอบเศรษฐศาสตร์การเมืองมันน่าเศร้า 

เมื่อพ่อคนหนึ่งบอกว่า อยากให้ความจนมันจบอยู่ที่รุ่นเขา ไม่ถูกส่งต่อไป จะเป็นหนี้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ เขาก็อยากให้มันจบอยู่ที่รุ่นของเขา

ตัวอย่างเล็กๆ ข้างต้น พอจะแสดงให้เห็นว่า การศึกษาของไทยยังห่างไกลกับรัฐสวัสดิการอย่างมาก คำถามคือ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ผ่านไป 25 ปีแล้ว สภาพการณ์เป็นอย่างไร บทความเรื่อง ‘​ข้อเสนอแนวทางการแก้ไข ปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.’ โดย ดร.ขจร ธนะแพสย์ (2564) ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นรากเหง้าของหนี้ กยศ. รวมไปถึงเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมเอาไว้อย่างน่าสนใจ

เงื่อนไขการชำระหนี้ที่บีบคั้น

หนี้ กยศ. ถูกนับว่ามีอัตราหนี้เสีย (NPLs) สูงสุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย สูงกว่า NPLs ในช่วงต้มยำกุ้ง สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของเงินกู้ ปัจจุบันมีประชาชนอยู่ระหว่างชำระหนี้ประมาณ 3.6 ล้านราย และผิดนัดชำระหนี้สูงกว่า 2.3 ล้านราย จากการสอบถามประชาชนถึงสาเหตุที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ดร.ขจร พบว่า แม้หลายคนจะมีเหตุผลแตกต่างกัน แต่แท้จริงแล้วต้นเหตุคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเงินกู้นี้ในหลายมิติ

สาเหตุแรกๆ คือ รูปแบบการชำระคืนหนี้ของ กยศ. มีเพียงรูปแบบเดียว (one size fits all) คือกำหนดให้ต้องชำระหนี้คืนเป็นรายปี (yearly installment) แม้จะง่ายสำหรับ กยศ. ในการบริหารจัดการ แต่สำหรับลูกหนี้ที่กู้ ซึ่งส่วนใหญ่ฐานะครอบครัวไม่ค่อยดีและเงินเก็บไม่ค่อยมี ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะการที่จะสามารถผ่อนชำระหนี้รายปีได้ จะต้องมีการเก็บหอมรอมริบเป็นอย่างดีทุกเดือนไม่ให้ขาด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น คือ 

  1. อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่กำหนดไว้ในอัตราที่สูงถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน หรือ 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งนับว่ายังสูงมากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยกู้ 1 เปอร์เซ็นต์) 
  2. ลำดับการตัดชำระที่กำหนดไว้ว่า เมื่อผู้กู้จ่ายหนี้เข้ามาให้นำไปตัด (1) ค่าธรรมเนียม (2) ดอกเบี้ย (3) เงินต้น (เป็นลำดับสุดท้าย) กล่าวคือ เมื่อผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยที่เดิมเคยชำระอยู่ที่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จะปรับสูงขึ้นเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่สูงลิ่ว 

ดร.ขจร ตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาร่วมกับลำดับการตัดชำระหนี้ที่ผู้กู้ชำระหนี้เข้ามา กยศ. จะนำไปตัดค่าธรรมเนียมก่อน ตามด้วยดอกเบี้ย ทั้งส่วนที่เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ แล้วถึงจะตัดในส่วนของเงินต้น หากผู้กู้ค้างชำระหลายงวด ปัญหาจะยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะจ่ายเท่าไรก็จะตัดไม่ถึงเงินต้นสักที

ดังตัวอย่างของหนี้รวม 705,914 บาท แบ่งเป็นส่วนเงินต้น 322,635 บาท ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ 356,531 บาท ในกรณีนี้ผู้กู้จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดก่อน เงินที่ชำระหนี้ถึงจะสามารถนำไปตัดเงินต้นได้ ซึ่งยากมากที่ผู้กู้จะหาเงินก้อนมาจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดได้ แม้จ่ายเท่าไร เงินต้นก็ไม่ลดลง และยังผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่อง จึงเลิกจ่ายหนี้ในที่สุด

การผ่อนผันหนี้ที่ยังมีข้อแม้ 

แม้ว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 กยศ. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ลงเหลือ 7.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี (จากเดิม 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี) รวมทั้งออกมาตรการแก้ไขหนี้ โดยมีข้อเสนอลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาในทางปฏิบัติคือ การจะได้ลดดอกเบี้ยผิดนัด ผู้กู้จะต้องนำเงินมาชำระหนี้ทั้งก้อนเพื่อปิดบัญชีก่อน ซึ่งผู้กู้ส่วนใหญ่ฐานะไม่ดี ไม่มีเงินออม จึงไม่สามารถหาเงินก้อนมาปิดบัญชีได้ 

ดังจะเห็นได้จากกลุ่มลูกหนี้คดีแดงกว่า 1.2 ล้านรายที่มีคำพิพากษาแล้ว และอยู่ระหว่างบังคับคดี เมื่อคดีถึงที่สุดและศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว กยศ. มองว่าไม่สามารถผ่อนปรนให้จ่ายน้อยกว่าคำพิพากษา เพราะอาจถูกมองว่าทำให้รัฐเสียหาย (กลัว มาตรา 157 ข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่การที่ไม่ตัดสินใจ ในที่สุดก็อาจจะมีผลเสียหายต่อรัฐเช่นกัน) ซึ่งปกติเมื่อคดีดำเนินมาถึงจุดนี้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะสูงขึ้นจากเงินต้น 3-4 เท่าตัว

จากการค้นคว้าของ ดร.ขจร พบว่า มีกรณีที่ กยศ. ยอมรับชำระหนี้ที่น้อยกว่าคำพิพากษา แต่เป็นกรณีที่จ่ายชำระหนี้ปิดจบในครั้งเดียว ซึ่งหมายความว่า กยศ. สามารถผ่อนปรนให้ชำระหนี้น้อยกว่าคำพิพากษาของศาลได้ ปัญหาจึงอาจจะไม่ได้อยู่ที่การยอมรับยอดหนี้ที่ต่ำกว่าศาลพิพากษาไม่ได้ แต่อยู่ที่ กยศ. เน้นการชำระหนี้ปิดบัญชีให้จบในคราวเดียว ทำให้ผู้กู้ส่วนใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้

และเมื่อผู้กู้จบการศึกษาแล้วปรากฏว่าไม่มีงานทำ หรือไม่มีรายได้มากพอ ปัญหาการไม่สามารถชำระหนี้ของผู้กู้จะเห็นชัดเจนในกลุ่มที่เมื่อจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ หรือได้งานทำไม่ตรงสาขา หรือกรณีที่แม้จะมีงานทำ เงินเดือนที่ได้ก็ไม่ได้ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่ได้กู้ กยศ. เพื่อเรียนปริญญา เรื่องนี้เป็นปัญหาในภาพใหญ่ของระบบการศึกษาไทยที่ผู้กู้ยังมีค่านิยมว่าต้องมีปริญญา

แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ กยศ. 

ดร.ขจร ได้เสนอแนวทางรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ. อย่างน้อย 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. กยศ. ต้องได้รับชำระเงินต้นคืนอย่างครบถ้วน เพื่อส่งต่อให้เด็กรุ่นต่อไปให้สามารถกู้ไปใช้ในการศึกษาต่อ โดยมีมาตรการเร่งด่วน 4 ข้อคือ 1. ปรับปรุงแนวทางการผ่อนชำระหนี้ 2. กำหนดแนวทางแก้ปัญหาหนี้เดิม 3. กำหนดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับผู้ค้ำประกัน และ 4. เพิ่มข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้กู้ 
  2. การออกแบบแผนการชำระหนี้คืนของ กยศ. จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระคืนของผู้กู้ โดยจะต้องเป็นแผนการชำระหนี้ที่ผ่อนปรนและอยู่ในวิสัยที่ปฏิบัติได้จริง กล่าวคือ มีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ที่ยาวเพียงพอ
  3. ประชาชนที่เป็นผู้กู้แต่ละรายที่มีพื้นเพ ที่มา และลักษณะที่แตกต่างกัน ต้องสามารถที่จะเลือกแผนการผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสมกับตนเอง (กยศ. ไม่สามารถมีแผนชำระหนี้แบบเดียวดังเช่นปัจจุบัน กล่าวคือ ไม่ควรตัดเสื้อไซส์เดียวให้คนใส่ทั้งประเทศ)
  4. มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสร้างกลไกส่งเสริมให้ผู้กู้มีวินัยและเอื้อให้ผู้กู้มีการผ่อนชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในกรณีที่ผู้กู้มีศักยภาพ ผู้กู้ต้องสามารถชำระปิดจบหนี้ได้เร็วกว่าแผนชำระหนี้ปกติ นอกจากนี้ ควรมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับผู้กู้เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจศึกษาต่อด้วย

อีกประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการในระยะต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของ กยศ. โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม 

  • กลุ่มที่ 1 การปรับปรุงแนวทางการผ่อนชำระหนี้ของ กยศ. และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้กู้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ดีขึ้น 
  • กลุ่มที่ 2 การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้กลุ่มที่เสียและมีคำพิพากษาแล้ว 
  • กลุ่มที่ 3 ยกระดับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ค้ำประกันให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
  • กลุ่มที่ 4 การเพิ่มข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้กู้

กลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก

ในบทความของ ดร.ขจร ทิ้งท้ายว่า ถ้าเราเริ่มกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดตำแหน่ง ก็จะทำให้ตำแหน่งของกระดุมเม็ดต่อๆ ไปติดผิดไปด้วย ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเริ่มตั้งโจทย์ด้วยการมองว่า ต้นตอของปัญหามาจากปัจจัยฝั่งของผู้กู้แต่เพียงอย่างเดียว ทำให้พลาดโอกาสที่จะมองเห็น ‘ความเป็นไปได้ในมุมอื่น’ ซึ่งแท้ที่จริงอาจเป็นปัจจัยรากฐานที่สร้างปัญหา เช่น การกำหนดรูปแบบการชำระหนี้ที่กำหนดให้จ่ายค่างวดเป็นรายปี มีการปรับอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี และไม่ได้สนับสนุนให้ผู้กู้สามารถชำระหนี้ได้ตามที่ตกลงกัน 

การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่สูงลิ่วนั้น แทนที่จะช่วยให้ผู้กู้มีวินัย กลับกลายเป็นการสร้างอุปสรรคทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ รวมทั้งการกำหนดลำดับการตัดยอดชำระหนี้ที่ไม่ได้จูงใจให้ผู้กู้นั้นชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง 

รายงานการศึกษานี้ ช่วยทบทวน 25 ปี ของความสำเร็จและความล้มเหลว ของความพยายามขยายโอกาสทางการศึกษาผ่านการให้ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา กยศ. ซึ่งนำมาสู่ปัญหาและอุปสรรคตามมาที่เปลี่ยนโฉมหน้าตลอดหลายปีที่ผ่านและมีแนวโน้มที่น่ากังวล 

อย่างไรก็ตามด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ อาจจะช่วยผ่อนแรงปะทะสู่ลูกหนี้จำนวนมากที่เขาและเธอเหล่านั้นไม่เพียงแบกรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษา หากแต่ยังหมายรวมถึงต้นทุนชีวิตทุกมิติ ที่มีราคาค่างวดสูงขึ้นในทุกๆ วัน  

 

อ้างอิง: