ความเห็นต่อ “มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2 (Thailand Taxonomy 2.0)”

01 กรกฎาคม 2568
ตามที่คณะทำงานผู้จัดทำร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม นำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“คณะทำงาน”) ได้เผยแพร่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ฉบับรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ  เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา 

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand, “แนวร่วมฯ”) ร่วมกับองค์กรพันธมิตรได้แก่ มูลนิธิยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) และ Madre Brava ได้นำส่งข้อคิดเห็นต่อเอกสารดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา (อ่านได้ที่ ความเห็นต่อ "(ร่าง) มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2"
 
เนื่องจากคณะทำงานได้เผยแพร่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ฉบับสมบูรณ์ต่อสาธารณะแล้ว เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ภายใต้ชื่อ Thailand Taxonomy 2.0 (อ่านได้ที่ www.bot.or.th) แนวร่วมฯ จึงได้เปรียบเทียบเอกสารฉบับสมบูรณ์ กับข้อคิดเห็นของแนวร่วมฯ ต่อฉบับร่าง (ดูรายละเอียดจากเอกสารที่สามารถดาวโหลดได้ด้านล่าง) พร้อมข้อเสนอแนะบางประการ สำหรับการนำ Thailand Taxonomy 2.0 ไปใช้ในภาคปฏิบัติต่อไป
 
เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่เอกสารฉบับสมบูรณ์ยังไม่ปรับปรุง หรือปรับปรุงแล้วแต่แนวร่วมฯ เห็นว่ายังไม่เพียงพอต่อการบรรเทาความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของกิจกรรม “สีเขียว” และ “สีเหลือง” บางรูปแบบที่สุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการ “ฟอกเขียว” (greenwashing) อีกทั้งเกณฑ์การจัดกลุ่มกิจกรรมในมาตรฐานนี้ก็ควรถูกนำไปใช้เพื่อยกระดับ “การเงินที่ยั่งยืน” ของสถาบันการเงินต่างๆ แนวร่วมฯ จึงมีข้อเสนอแนะต่อคณะทำงาน ผู้จัดทำ Thailand Taxonomy 2.0 สำหรับการพัฒนามาตรฐานฉบับสมบูรณ์ ตลอดจนการนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้จริงในภาคปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
  1. คณะทำงานควรพัฒนาฐานข้อมูลกลางที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้จากช่องทางออนไลน์ เพื่อรวบรวมข้อมูลโครงการทั้งหมดที่ใช้เกณฑ์ Thailand Taxonomy รวมถึงเผยแพร่ “แผนการปรับปรุงการดำเนินงานเพิ่มเติม” และรายชื่อผู้จัดทำแผนดังกล่าวต่อสาธารณะ สำหรับกรณีที่กิจกรรม โครงการ หรือบริษัทที่นำมาพิจารณาผ่านเกณฑ์สีเขียวหรือสีเหลือง แต่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ การไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ (Do No Significant Harm: DNSH) และ/หรือ ข้อกำหนด มาตรการขั้นต่ำในการป้องกันผลกระทบทางสังคม (Minimum Social Safeguards: MSS) โดย Thailand Taxonomy ระบุว่า “กิจกรรม โครงการ หรือบริษัทดังกล่าวอาจได้รับพิจารณาว่าผ่านเกณฑ์กิจกรรมสีเขียวหรือสีเหลืองได้ก็ต่อเมื่อบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมหรือโครงการยื่นแผนการปรับปรุงการดำเนินงานเพิ่มเติมและควรดำเนินงานตามแผนดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปีหลังจากการประเมินผล”
  2. คณะทำงานควรออกมาตรการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของ “ผู้ประเมินภายนอก” (third party assessor) ทั้งระดับบุคคลและนิติบุคคล อาทิ หลักสูตรการจัดอบรม การขึ้นทะเบียนผู้สนใจเป็นผู้ประเมิน เป็นต้น และส่งเสริมให้ภาคเอกชนว่าจ้างผู้ประเมินภายนอกมาทำหน้าที่กลั่นกรองกิจกรรม/โครงการ/บริษัทว่าตรงตามเกณฑ์กิจกรรมสีเขียวหรือสีเหลืองหรือไม่ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ การไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ (Do No Significant Harm: DNSH) และข้อกำหนด มาตรการขั้นต่ำในการป้องกันผลกระทบทางสังคม (Minimum Social Safeguards: MSS)
  3. ธปท. ควรนำเกณฑ์การจัดกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ใน Thailand Taxonomy ไปบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล (disclosure rules) สำหรับสถาบันการเงินที่อยู่ใต้การกำกับของ ธปท. เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อน “การธนาคารที่ยั่งยืน” และยกระดับความโปร่งใสของภาคธนาคาร ยกตัวอย่างเช่น ระบุให้สถาบันการเงินเปิดเผยขนาดและจำนวนกิจกรรม/โครงการ/บริษัท “สีเขียว” “สีเหลือง” “สีแดง” ที่ตนให้การสนับสนุนทางการเงิน ในอุตสาหกรรมทั้ง 6 ภาค ตามนิยามใน Thailand Taxonomy 2.0 รวมถึงเปิดเผยสัดส่วนต่อพอร์ตสินเชื่อธุรกิจทั้งหมดในอุตสาหกรรมนั้นๆ ในกรณีที่ให้การสนับสนุนทางการเงินเป็นสินเชื่
  4. เนื่องจากคณะทำงานสื่อสารความตั้งใจตลอดมาว่า เอกสาร Thailand Taxonomy เป็น “living document” ที่สามารถทบทวนอยู่เสมอเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป แนวร่วมฯ จึงเสนอให้คณะทำงานพิจารณาจัดตั้งกลไกประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder engagement) เพื่อประเมินผลของการนำ Thailand Taxonomy ไปใช้ในภาคปฏิบัติ และทบทวนความเหมาะสมของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเป็นระยะๆ

 

นอกจากนี้ สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London: ZSL) อีกหนึ่งองค์กรพันธมิตรให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อ Thailand Taxonomy 2.0 ฉบับสมบูรณ์ ดังนี้:

1. ความคิดเห็นต่อเกณฑ์ DNSH และ MSS

  • DNSH: การรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

ข้อกำหนด DNSH การรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมบูรณ์ควรเน้นเรื่องตัวชี้วัดที่สามารถวัดผลได้ (measurable biodiversity metrics) มากขึ้น โดยโครงการต้องจัดทำแผนชดเชยความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity offsets) แผนฟื้นฟูเชิงนิเวศ และแผนการอนุรักษ์ ซึ่งทั้งหมดต้องผูกโยงกับตัวชี้วัดที่วัดผลได้ มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ (Thailand’s National Biodiversity Strategy and Action Plan – NBSAP) นอกจากนี้ ควรมีกรอบการติดตามและตรวจสอบความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีการรายงานผลและตรวจสอบการปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ

  • DNSH: การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและปรับตัวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ข้อกำหนด DNSH เรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและปรับตัวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ควรประกอบด้วยขั้นตอนโดยละเอียดในการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (lifecycle assessments) การรีไซเคิลของเสียชีวภาพ และการใช้บรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดยโครงการต้องแสดงให้เห็นถึงการลดการใช้ทรัพยากรและการลดของเสียอย่างมีนัยสำคัญ

  • การปฏิบัติตามเกณฑ์ DNSH ของภาคป่าไม้

ข้อกำหนด DNSH สำหรับภาคป่าไม้ ควรกำหนดให้ปฏิบัติตามหลักการจัดการป่าอย่างยั่งยืนที่ได้รับการรับรองโดยมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ เช่น Forest Stewardship Council (FSC) และควรระบุให้มีการจัดหาวัตถุดิบที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (deforestation-free supply chain)

  • การเพิ่มความครอบคลุมด้านสังคม

ข้อกำหนด MSS ควรได้รับการปรับปรุงโดยกำหนดให้ต้องมีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และกำหนดให้จัดทำแบบฟอร์มการรายงานเกี่ยวกับผลประโยชร์ชุมชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม และความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการเหล่านี้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานของประเทศไทย และหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิ นอกจากนี้ การรวมแนวปฏิบัติด้านการส่งเสริมความยุติธรรม (ZSL FAIRER practice) เข้าไปเป็นตัวอย่างจะช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในโครงการอนุรักษ์

2. ความคิดเห็นต่อ Thailand Taxonomy 2.0 ภาคเกษตรกรรม

  • การลดมลพิษทางอากาศจากการเผาในที่โล่ง

มาตรการ DNSH ของภาคเกษตรกรรม ควรเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อยุติการเผาในที่โล่ง โดยควรส่งเสริมทางเลือกอื่น เช่น การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ (bio-composting) และการเปลี่ยนขยะชีวภาพเป็นพลังงาน (bio-energy conversion) นอกจากนี้ ควรกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนและกลไกการติดตามผลเพื่อประเมินความคืบหน้าในการลดมลพิษ PM2.5

  • แนวปฏิบัติด้านการใช้เกษตรอัจฉริยะเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มาตรการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ ควรส่งเสริมให้มีการนำแนวทางต่าง ๆ เช่น การให้น้ำแบบแม่นยำ (precision irrigation) ระบบวนเกษตร (agroforestry) และการใช้พืชทนแล้ง โดยโครงการต้องแสดงให้เห็นถึงการลดการใช้น้ำและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สามารถวัดผลได้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปรับตัวแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan) และเป้าหมายด้านความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ (climate resilience)

  • การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและคุณภาพน้ำ

แนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน ควรกำหนดให้มีกรอบการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ และสนับสนุนการนำนวัตกรรมด้านการจัดการน้ำเสียมาใช้ โดยระบบที่ไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอก (zero-discharge systems) และการใช้อาหารสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพควรเป็นข้อบังคับ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนของไทยภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

3. กรอบการดำเนินงาน (Implementation Framework)

กรอบการดำเนินงานของ Taxonomy ตามที่ระบุไว้ใน ภาคผนวก I: คำแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับการใช้ Taxonomy ถือว่ามีความครอบคลุมแล้ว แต่ควรมีการบังคับใช้การตรวจสอบและรายงานผลอย่างสม่ำเสมอในด้านการปฏิบัติตามข้อกำหนด DNSH และ MSS พร้อมทั้งจัดให้มีการปรับปรุงเกณฑ์ DNSH อย่างสม่ำเสมอตามองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใหม่ และควรมีการใช้การประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk and Vulnerability Assessments: CRVA) อย่างสม่ำเสมอในทุกภาคส่วนตามที่ระบุไว้ใน ภาคผนวก III