ความเห็นต่อ "(ร่าง) มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2"

13 กุมภาพันธ์ 2568

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 คณะทำงานผู้จัดทำร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 นำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“คณะทำงาน”) ได้เผยแพร่ร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ฉบับรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย และองค์กรที่ร่วมลงนาม ตามรายชื่อแนบท้าย (“แนวร่วมฯ”) มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 โดยมีรายละเอียด ดังนี้:

1. เกณฑ์ DNSH ที่หละหลวมกว่า Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 และการเปิดสถานะ “ปฏิบัติตามมาตรฐานฯ บางส่วน” เป็นครั้งแรก สุ่มเสี่ยงที่จะเปิดโอกาสการ ‘ฟอกเขียว’ มากขึ้น

หลักเกณฑ์ DNSH (Do-No-Significant-Harm) และ MSS (Minimum Social Safeguards) เป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการรับรองว่ากิจกรรมที่เข้าข่าย ‘เขียว’ ตาม Thailand Taxonomy จะไม่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในทางลบ อย่างไรก็ตาม ร่าง Taxonomy ระยะที่ 2 ได้กำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 3 ปี และเปิดสถานะ "ปฏิบัติตามมาตรฐานฯ บางส่วน" ซึ่งแนวร่วมฯ เห็นว่าเป็นการลดทอนมาตรฐานและอาจนำไปสู่การฟอกเขียว โดยเฉพาะเมื่อเปิดโอกาสให้โครงการที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์สามารถจัดทำ "แผนการเยียวยา" และยังได้รับการจัดกลุ่มเป็นกิจกรรมสีเขียว ทั้งที่ไม่ควรได้รับการพิจารณาเป็นเช่นนั้น

แนวร่วมฯ คัดค้านการอนุโลมให้ใช้แผนการเยียวยาเป็นข้ออ้างในการจัดกลุ่มกิจกรรมให้เป็นสีเขียวหรือเหลือง เนื่องจากขาดหลักการอ้างอิงที่ชัดเจนและเสี่ยงต่อการฟอกเขียวในวงกว้าง ทั้งนี้ Taxonomy ควรเป็นมาตรฐานที่รัดกุมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าเป็นแนวทางสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงการปรับเปลี่ยนสถานะทางเทคนิคโดยไม่มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เข้มงวด

 

2. ความเห็นต่อการจัดกลุ่มกิจกรรมในร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 รายภาค

2.1. ภาคเกษตร

แนวร่วมฯ เสนอให้ร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 สนับสนุนการผลิตโปรตีนจากพืชแทนเนื้อสัตว์แบบอุตสาหกรรม เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นธรรมต่อเกษตรกร นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางสินค้าอาหารจากพืช ด้วยความร่วมมือภาครัฐและเอกชนที่กำลังผลักดันเรื่องดังกล่าว

2.2. ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์

แนวร่วมฯ เห็นว่า “ตัวเลือกที่ 1: เส้นทางการลดคาร์บอนของประเทศไทยสำหรับภาคอาคาร” อ่อนเกินไป เนื่องจากเส้นทางลดคาร์บอนที่กำหนดยังไม่มีความชัดเจนหรือผลผูกพันเชิงนโยบาย จึงเสนอให้ใช้ เป้าหมายผลประกอบการด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Performance Target) อิงข้อมูลอาคารที่ปล่อยก๊าซต่ำสุด 15% ของเมืองนั้นๆ และกำหนดเส้นทางลดการปล่อยจนเป็นศูนย์ในปี 2050 แทน ซึ่งมีความชัดเจนและสอดคล้องกับ Climate Bonds Initiative: Building Criteria

2.3. ภาคการกำจัดของเสีย

แนวร่วมฯ ไม่เห็นด้วยกับการจัดให้การผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยชุมชน (Refuse-Derived Fuel หรือ RDF) เป็นกิจกรรม ‘เขียว’ จนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. และปรับปรุงกฎระเบียบให้รัดกุม เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาการกำกับดูแลที่หย่อนยานและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น การปล่อยมลพิษอันตราย รวมถึงข้อพิพาทกับชุมชนท้องถิ่น ร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ไม่ได้พิจารณาสภาพปัญหาดังกล่าวอย่างรอบด้าน

กิจกรรมนี้เคยถูกถอดออกจาก Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 หลังจากได้รับข้อทักท้วง แนวร่วมฯ จึงเสนอให้จัดเป็นกิจกรรมสีแดง (Red) แทน เนื่องจากโรงไฟฟ้าขยะก่อมลพิษหลายชนิด และเป็น “false solution” ที่อาจลดแรงจูงใจในการลดขยะต้นทาง ทั้งนี้ จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น ทั้งด้านคุณภาพของเชื้อเพลิง การควบคุมมลพิษ และการพิจารณาผลกระทบต่อชุมชนอย่างจริงจัง

2.4. ภาคอุตสาหกรรมการผลิต

แนวร่วมฯ เสนอให้กำหนดว่าไฮโดรเจนที่เข้าข่ายกิจกรรม ‘เขียว’ สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตต้องเป็น ไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) จากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 และเส้นทางลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ การผลิตพลาสติกปฐมภูมิที่เป็นกิจกรรม ‘เขียว’ ต้องใช้กระบวนการรีไซเคิลหรือวัตถุดิบหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล เช่น Basel Convention เนื่องจากวัตถุดิบหมุนเวียนบางชนิดยังคงเป็นพิษ

แนวร่วมฯ ไม่เห็นด้วยกับการรวม “การรีไซเคิลขยะพลาสติกด้วยสารเคมีเป็นกิจกรรม ‘เขียว’ เพราะเทคโนโลยียังใหม่และขาดแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนจาก Basel Convention

 

3. ความเห็นต่อหลักเกณฑ์ DNSH และ MSS ในร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 รายภาค

3.1. ไม่มีการระบุหลักเกณฑ์ DNSH ที่ชัดเจนสำหรับภาคปศุสัตว์ ทั้งที่สร้างผลกระทบสูงด้านสิ่งแวดล้อม

ภาคการผลิตอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับสอง โดยเฉพาะภาคปศุสัตว์ แม้ร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จะตระหนักถึงการปล่อยก๊าซจากระบบย่อยอาหารและมูลสัตว์ แต่ยังไม่ครอบคลุมปัญหา การรุกล้ำป่าเพื่อผลิตอาหารสัตว์ แนวร่วมฯ จึงเสนอให้กำหนดว่า ห่วงโซ่อุปทานอาหารสัตว์ต้องไม่มาจากการรุกล้ำป่า และเพิ่ม “การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เป็นหลักเกณฑ์ DNSH สำหรับภาคปศุสัตว์

3.2. หลักเกณฑ์ DNSH สำหรับภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ กว้างเกินไปและอ่อนเกินไป

แนวร่วมฯ เห็นว่า หลักเกณฑ์ DNSH สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ มาตรการปรับตัวที่ใช้ ไม่ควรนำไปสู่การใช้พลังงานฟอสซิลที่มากขึ้นของอาคารหรือโครงสร้างอื่น ๆ” มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน และอ่อนเกินกว่าที่จะใช้เป็นข้อกำหนดที่ป้องกันการ ‘ฟอกเขียว’ ได้

3.3. หลักเกณฑ์ DNSH สำหรับภาคการกำจัดของเสีย กว้างเกินไปและอ่อนเกินไป

แนวร่วมฯ เห็นว่า หลักเกณฑ์ DNSH สำหรับภาคการกำจัดของเสียที่ระบุให้ติดตามและป้องกันการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจกยังคลุมเครือและอ่อนเกินไปในการป้องกันการฟอกเขียว นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ DNSH และ MSS ควรรวมมาตรการคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะในกิจกรรมคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยมีแรงงานจำนวนมากและเผชิญความเสี่ยงต่อมลพิษและสุขภาพสูง อีกทั้งหลายกิจกรรมอยู่ในภาคแรงงานนอกระบบ หลักเกณฑ์ MSS สำหรับไทยจึงต้องมีความละเอียดอ่อนและคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างจากสหภาพยุโรป

 

4. หลักเกณฑ์ Minimum Social Safeguard (MSS) โดยรวมดูเผินๆ ดีกว่าเดิม แต่ยังไม่รัดกุมเพียงพอ

แนวร่วมฯ เห็นว่าร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ควรระบุให้ผู้ดำเนินกิจกรรมต้องปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรฐาน และกฎระเบียบขั้นต่ำอย่างชัดเจน พร้อมเพิ่มหลักการชี้แนะ UNGPs เป็นหลักเกณฑ์ MSS เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

แนวร่วมฯ เห็นว่าร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ยังมีช่องว่างในการลดความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของกิจกรรม “สีเขียว” และ “สีเหลือง” บางประเภทที่อาจนำไปสู่การฟอกเขียว จึงเสนอแนะให้พัฒนาฐานข้อมูลกลางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้เพื่อติดตามโครงการที่ใช้เกณฑ์ดังกล่าว รวมถึงเผยแพร่แผนการปรับปรุงสำหรับโครงการที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ DNSH และ MSS พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งระบบผู้ประเมินภายนอก (third party assessor) เพื่อกลั่นกรองโครงการให้เป็นไปตามเกณฑ์ นอกจากนี้ ควรบูรณาการเกณฑ์การจัดกลุ่มกิจกรรมใน Thailand Taxonomy กับหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงินภายใต้การกำกับของ ธปท. เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและส่งเสริมการธนาคารที่ยั่งยืน สุดท้ายเสนอให้มีการจัดตั้งกลไกประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อประเมินผลการใช้งานจริงและปรับปรุงเกณฑ์อย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

 

รายชื่อองค์กรที่ร่วมลงนาม
1. แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand)
2. Madre Brava
3. มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation - EJF)

 

สมาชิกแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย
1. บริษัท ป่าสาละ จำกัด
2. International Rivers
3. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
4. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)
5. มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)