จดหมายเปิดผนึกถึงธนาคารพาณิชย์ เรื่อง ความเสี่ยง ESG ของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Beng) กับการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร

11 เมษายน 2568

ภาพของปากแบง (Pak Beng) ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่คงอยู่ ณ ขณะนี้ คือ พื้นที่ในแม่น้ำโขงที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกพากันเดินทางมาเฝ้ามองพระอาทิตย์ลับตา รอดูหมอกหนายามพระอาทิตย์ขึ้น อีกทั้งยังเป็นถิ่นอาศัยและพื้นที่ธรรมชาติที่ผู้คนไปจนถึงสัตว์น้อยใหญ่ล้วนเชื่อมโยงถึงกัน ทว่าในอนาคต ที่แห่งนี้กำลังจะกลายเป็นแหล่งเก็บน้ำ ภายใต้ชื่อ ‘โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง’ นำมาซึ่งความกังวลถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อาจตามมา

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (แนวร่วมฯ) ได้ส่งจดหมายถึงธนาคารพาณิชย์ไทย เพื่อนำส่งข้อเสนอแนะสำหรับประเมินความเสี่ยงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (ESG) ในการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ปากแบง (Pak Beng) และ ปากลาย (Pak Lay) ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยหวังให้การประเมินดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานการดำเนินงานของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC Performance standard) และหลักการอีเควเตอร์ (Equator Principle)

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 4 เมษายน 2568 แนวร่วมฯ ได้ส่งจดหมายอีกฉบับถึงธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ไทย ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย รวมถึงธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) เพื่อนำเสนอข้อมูลพิจารณาเพิ่มเติม ด้วยเห็นว่า ผู้พัฒนาโครงการดังกล่าวยังไม่เปิดเผยข้อมูลและความคืบหน้าเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน (Transboundary Impact Assessment) ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงขณะนี้หน่วยงานรัฐกำลังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อร้องเรียนต่อโครงการเช่นกัน

แนวร่วมฯ หวังว่า ข้อมูลจากจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้จะมีส่วนให้ธนาคารพิจารณาเห็นควรระงับหรือชะลอการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการดังกล่าวเป็นการชั่วคราว จนกว่าผู้พัฒนาโครงการจะแสดงหลักฐานครบถ้วน โปร่งใส และได้รับการตรวจสอบจากภาครัฐแล้วเสร็จ


อ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับสมบูรณ์