ธนาคารทหารไทยธนชาต คว้ารางวัลธนาคารพาณิชย์คะแนนสูงสุด ติดต่อเป็นปีที่ 6 พร้อมเดินหน้ายกระดับมาตรฐานสู่ธนาคารที่ยั่งยืน

06 กุมภาพันธ์ 2568

ช่วงบ่ายวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 คณะวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม ประเทศไทย (Fair Finance Thailand, แนวร่วมฯ) แถลงผลการประเมินธนาคารปีที่ 7 เส้นทางสู่ธนาคารที่ยั่งยืน โดยการประเมินวางอยู่บนหลักเกณฑ์สากลของ Fair Finance Guide International (FFGI) การแถลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘การปรับตัวรับโลกรวนและคะแนน ESG ของภาคธนาคารไทย’ (Adapting to Climate Change and ESG Scores of Thai Banks) ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand Learning Center) 

โดยผลการประเมินธนาคารประจำปีในปี 2567 ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ในหมวดธนาคารพาณิชย์ โดยได้รับคะแนนทั้งสิ้น 42.96% โดยมีนโยบายการเงินการธนาคารที่โดดเด่นในหมวดต่างๆ ที่ได้ดำเนินการปฏิบัติเป็นปีแรก หรือ การยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานด้วยการรับหลักการและมาตรฐานสากล ที่ส่งผลต่อการประเมินจนได้รับคะแนนสูงขึ้นคือ 

 

หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

TTB เปิดเผยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อมโยงกับพอร์ตบางส่วนที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงินหรือลงทุน และเปิดเผยผลกระทบที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางที่แนะนำโดย TCFD เป็นปีแรก 

 

หมวดสิทธิแรงงาน

TTB มีนโยบายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (Maternity Protection Convention) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ขณะที่ นโยบายว่าด้วยการกำหนดให้ลูกค้ารับรองสิทธิในการรวมกลุ่มของแรงงาน ไม่ยอมรับการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบ ธนาคารยังคงดำเนินนโยบายอย่างชัดเจน ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา 

 

หมวดการคุ้มครองผู้บริโภค

TTB เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวที่ประกาศเป้าหมายในการลดจำนวนเรื่องร้องเรียนลง

 

 

ภายหลังการแถลงผลการประเมินธนาคารไทย ได้มีพิธีมอบรางวัลธนาคารคะแนนสูงสุดประจำปี พ.ศ. 2567 โดย คุณกมลพันธ์ ลักษณา หัวหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ได้ขึ้นรับรางวัลธนาคารคะแนนสูงสุดในหมวดธนาคารพาณิชย์ จาก คุณสฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมฯ 

 

 


 

คุณกมลพันธ์กล่าวว่า ทาง TTB ได้นำหลักเกณฑ์ต่างๆ ของทางแนวร่วมฯ มาปรับปรุงสิ่งที่เรายังขาดหายไป เพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในทุกๆ ปี และการนำหลักเกณฑ์เหล่านี้ไม่ได้มุ่งหวังให้ได้รับคะแนนสูงสุดทุกปี แต่คือการยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นต่อไป