ธนาคารออมสิน คว้ารางวัลคะแนนสูงสุดประจำปี พ.ศ. 2567 หมวดสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เดินหน้าสู่ธนาคารเพื่อสังคม

06 กุมภาพันธ์ 2568

คณะวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม ประเทศไทย (Fair Finance Thailand, แนวร่วมฯ) แถลงผลการประเมินธนาคารปีที่ 7 เส้นทางสู่ธนาคารที่ยั่งยืน โดยการประเมินวางอยู่บนหลักเกณฑ์สากลของ Fair Finance Guide International (FFGI) การแถลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ งาน ‘การปรับตัวรับโลกรวนและคะแนน ESG ของภาคธนาคารไทย’ (Adapting to Climate Change and ESG Scores of Thai Banks) เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand Learning Center)


ธนาคารออมสิน ได้รับการประเมินธนาคารประจำปีในปี 2567 ด้วยคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ในหมวดสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยได้รับคะแนนทั้งสิ้น 27.67%

 

ในปีที่ผ่านมาทาง ธนาคารออมสิน มีความโดดเด่นด้านนโยบายในกลุ่มหัวข้อรายประเด็นหลายอย่าง จนสามารถได้รับคะแนนในการประเมินเพิ่มขึ้นจากการดำเนินงาน เช่น 

 

หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ธนาคารออมสินกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคาร สอดคล้องกับเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และเปิดเผยความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางที่แนะนำโดย TCFD เป็นปีแรก

 

หมวดการทุจริตคอร์รัปชัน

ธนาคารออมสิน มีนโยบายไม่สนับสนุนกิจกรรมล็อบบี้หรือล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyist) และไม่สนับสนุนหรืออุดหนุนนักการเมือง 

 

หมวดอาวุธ

ธนาคารออมสินได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากการจัดทำรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ที่ครอบคลุมการใช้ การผลิต และการค้าระเบิดสังหารบุคคล ระเบิดลูกปราย และระบบอาวุธอัตโนมัติรุนแรง 

  

 

ภายหลังการแถลงผลการประเมินธนาคารไทย ได้มีพิธีมอบรางวัลธนาคารคะแนนสูงสุดประจำปี พ.ศ. 2567 โดย คุณวชิรา การสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์และสื่อสารเพื่อความยั่งยืน ธนาคารออมสิน ได้ขึ้นรับรางวัลธนาคารคะแนนสูงสุดในหมวดสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จาก คุณสฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมฯ

 

 

คุณวชิรากล่าวว่า ธนาคารออมสินในฐานะธนาคารเฉพาะกิจ จะเดินหน้าเข้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้คนไทยเข้าถึงแหล่งเงินที่เป็นธรรม นอกจากนี้ ธนาคารออมสินจะดำเนินการขยายผลช่วยเหลือลูกค้า SME และกลุ่มรากฐาน ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน ต่อต้านสแกมเมอร์ และแน่นอนว่า เรายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมาย เพื่อเดินไปสู่ธนาคารยั่งยืนต่อไป