ธปท. - ปปง. เดินหน้าตรวจสอบธุรกรรมเข้มข้น ต้านฟอกเงินและการค้าอาวุธ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ออกแถลงการณ์ร่วม ว่าด้วยความสำคัญของการป้องกันความเสี่ยงที่ภาคธนาคารจะทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน
ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศและในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ในปีที่ผ่านมา คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force: FATF) สำนักงาน ปปง. ได้จัดลำดับประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยบางแห่ง ให้เป็น ‘ประเทศที่มีความเสี่ยงสูง’
โดยสถาบันการเงินจำต้องทำการตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มข้น ต่อลูกค้าที่มาจากพื้นที่หรือประเทศที่มีความขัดแย้งทันที พร้อมออกแนวทางการดำเนินการ เช่น การให้สถาบันการเงินใช้มาตรการที่เข้มข้นในการพิสูจน์ทราบผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้า (Ultimate Beneficial Owner: UBO) ด้วยการใช้เอกสาร ข้อมูล หรือข่าวสารจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ เพื่อพิจารณาว่าการทำธุรกรรมดังกล่าวตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่
นอกจากนี้ ธปท. และสำนักงาน ปปง. ได้ร่วมกันตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด ต่อการทำธุรกรรมทางการเงินของสถาบันการเงินกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงอย่างต่อเนื่อง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีว่า สถาบันการเงินของไทยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและการปราบปรามการฟอกเงิน ต่อต้านการก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (AML/CTPF) อย่างเคร่งครัดตามกฎเกณฑ์ของสำนักงาน ปปง. โดยไม่มีการทำธุรกรรมกับบุคคลที่มีชื่อปรากฏตามบัญชีดำของประเทศไทย (Thailand List) และบัญชีควํ่าบาตรของสหประชาชาติ (UN Sanction List)
ขณะที่ ผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา (UN Special Rapporteur on the situation of human rights in Myanmar) เปิดเผยรายงาน ‘Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar’ ที่เผยแพร่ออกมาในเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ธนาคารไทย 5 แห่ง มีความเชื่อมโยงกับการทำธุรกรรมทางการเงินของรัฐบาลทหารเมียนมา หรือ SAC (State Administration Council) เพื่อการจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ โดยพบความเชื่อมโยงว่า การจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับ ‘การโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือน’ ในสงครามกลางเมืองเมียนมา ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทั้ง ธปท. และสำนักงาน ปปง. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อรายงานฉบับดังกล่าว จึงสั่งการให้สถาบันการเงินทุกแห่งทบทวนการทำธุรกรรมและเพิ่มความระมัดระวังทันที โดยสถาบันการเงินแต่ละแห่งต่างได้นำหลักเกณฑ์ของทั้ง ธปท. และสำนักงาน ปปง. ไปปฏิบัติด้วยมาตรการที่เข้มข้นแตกต่างกันไป
อย่างไรก็ดี เพื่อให้สถาบันการเงินไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงหรือเป็นทางผ่านในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบใหม่ๆ ทาง ธปท. และสำนักงาน ปปง. จึงขอแสดงจุดยืนเน้นยํ้าว่า ภาคการเงินไทยไม่สนับสนุนการฟอกเงิน การก่อการร้าย การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมไปถึงการทำสงครามที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม จึงเรียกร้องให้สถาบันการเงินดำเนินการและมีแผนงานเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
-
ยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของสถาบันการเงินไทยให้เท่ากับมาตรฐานสากล และทันต่อสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นในการพิสูจน์ทราบ UBO การตรวจสอบข้อมูลลูกค้าเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้น (Enhanced Due Diligence: EDD) เป็นต้น
-
สำนักงาน ปปง. และ ธปท. ได้ออกนโยบายร่วม เรื่อง การดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการควํ่าบาตร ด้วยการประเมิน ติดตาม ตรวจจับความเสี่ยง และแจ้งเตือนความผิดปกติในการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการควํ่าบาตร
-
กำหนดให้สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารในกลุ่มสมาชิก จัดทำมาตรฐานของระบบสถาบันการเงิน (Industry Standard) ในประเด็นที่สำนักงาน ปปง. และ ธปท. เล็งเห็นว่าต้องยกระดับการปฏิบัติงานข้างต้น
การดำเนินการของทั้ง ธปท. และสำนักงาน ปปง. รวมไปถึงจุดยืนที่ทั้งสององค์กรเน้นยํ้าเหล่านี้ แสดงถึงความเอาจริงเอาจังของหน่วยงานผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินไทย ในกรณีการทำธุรกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยเฉพาะธุรกรรมจากพื้นที่หรือประเทศต้นทางที่อยู่ในภาวะสงครามหรือความขัดแย้ง
ข้อเน้นยํ้าดังกล่าวของทั้งสององค์กร นับเป็นจุดมุ่งหมายอันดีเพื่อการยกระดับมาตรฐานของสถาบันการเงินไทยไปสู่ความเป็นสากลที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ตามที่สถาบันการเงินต่างๆ ได้ประกาศรับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ดังที่ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ได้เคยออกแถลงการณ์เรียกร้องในกรณี 5 สถาบันการเงินไทย มีธุรกรรมเชื่อมโยงกองทัพเมียนมา ภายหลังการเปิดเผยรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เมื่อกลางปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แนวร่วมฯ ในฐานะภาคประชาสังคมที่ติดตามตรวจสอบและผลักดัน ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ (sustainable banking) ในประเทศไทยมาโดยตลอด จึงหวังว่า สถาบันการเงินของไทยจะดำเนินการตรวจสอบด้วยกระบวนการ EDD อย่างเข้มข้น รวมไปถึงการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบให้ทันสมัยและเป็นสากล พิจารณาความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การซื้ออาวุธ หรือความเสี่ยงที่อาจก่อให้การละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งระงับธุรกรรมทุกรายการที่ลูกค้าหรือคู่สัญญา (counterparty) ไม่ผ่านขั้นตอน EDD เพิ่มเติมที่แนะนำโดย Financial Action Task Force (FATF) อีกด้วย