ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ACLED พบว่า มีชาวเมียนมา 22,826,181 คน หรือคิดเป็น 43% ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในสงครามกลางเมือง
ความรุนแรงต่อพลเรือน (violence against civillians) ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 62 ครั้ง แม้ว่าจะลดลงจากหลักร้อยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567
ที่มา: https://acleddata.com/acleddatanew/wp-content/uploads/2024/08/Mid-year-metrics-2024-Myanmar.pdf
“เราไม่รู้ว่าพวกทหารจะมาเมื่อไร จะมาจับตัวไปเมื่อไรไม่รู้ เวลาออกไปข้างนอกก็ต้องระมัดระวังตัว กลัวจะถูกจับตัวไป พวกทหารสามารถเข้ามาในบ้าน ค้นข้าวของ หากเจอของมีค่าก็จะเอาไป ทำให้ทุกคนรู้สึกกลัวไปหมด”
ปากคำของแรงงานเมียนมาที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อจริงและรูปพรรณใบหน้า ผู้พลัดถิ่นจากหมู่บ้านในภูมิภาคมัณฑะเลย์ (Mandalay Region) หมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่ต่อต้านการปกครองของคณะรัฐประหาร สะท้อนภาพ “ระบอบที่ปกครองด้วยความหวาดกลัว” (reign of terror) ที่ใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน
แรงงานเมียนมาผู้นี้เล่าสภาพในหมู่บ้านว่าไม่มีใครล่วงรู้ชะตากรรมของตนเองว่า วันนี้อาจจะถูกจับตัวไปหรือไม่ พรุ่งนี้จะต้องเสียชีวิตหรือไม่ เพราะมีกรณีที่มีชาวบ้านถูกจับตัว ก่อนพบเป็นศพในวันรุ่งขึ้นหลายครั้ง
เมื่อไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของพวกเขา มีเพียงเสียงปืนยิงขึ้นฟ้าของทหารเท่านั้น ที่ทำให้รู้ว่าพวกเขามาถึงหมู่บ้านแล้ว
การสู้รบในสงครามกลางเมืองเมียนมา ณ ปัจจุบัน เข้าสู่ภาวะที่ทุกฝ่ายล้วนเหนื่อยล้า เพราะต่างระดมสรรพกำลังและทรัพยากรเป็นจำนวนมากในการศึก แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีความพยายามในการที่จะหาทางลง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีแนวทางหาทางลงไม่เหมือนกัน
ฝ่ายต่อต้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น มีกองกำลัง PDF พยายามในการเข้ายึดพื้นที่ เพื่อให้ตัดมะด่อยอมแพ้ วิธีการเช่นนี้ใช้มา 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่บรรลุผล
ต้นเดือนกันยายน 2567 เสียงระเบิดและการปะทะเกิดขึ้นอีกครั้งที่เมืองเมียวดี และอาจจะปะทุหนักอีกรอบ ตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงสงบศึกหรือหยุดยิง โอกาสที่สงครามคราวนี้จะหยุดลงอย่างถาวรจึงแทบเป็นไปไม่ได้
“ความรุนแรงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ SAC เกิดขึ้นเพื่อการรักษาไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองของตนเองให้คงอยู่ต่อไป”
ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวย้ำถึงความพยายามรักษาอำนาจและสถานภาพปัจจุบัน (status quo) ของ SAC ซึ่งจำเป็นต้องกดปราบประชาชนชาวเมียนมา
ทรัพยากรสำคัญของการรักษาอำนาจด้วยวิธีการนี้คือ ‘เงินทุน’ และ ‘อาวุธ’
‘บ่อทอง’ ของกองทัพเมียนมา และการควํ่าบาตรที่ไม่เป็นผล
โดยพื้นฐานแล้ว เมียนมาเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ รายได้หลักของประเทศมาจากทรัพย์ในดินสินในนํ้า ผ่านการให้สัมปทานต่างชาติเข้ามาลงทุน เช่น ป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติ นํ้ามัน แร่อัญมณี เป็นต้น
ภายหลังการรัฐประหารในปี 2564 ประเทศโลกเสรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (European Union: EU) มีมาตรการควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา กดดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของตนเองที่ได้รับสัมปทานการขุดเจาะนํ้ามันและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งทะเลอันดามันของในเมียนมาอย่าง โททาล เอนเนอจี้ (TotalEnergies)7 ของฝรั่งเศส และเชฟรอน (Chevron)8 ของสหรัฐอเมริกา ถอนตัวออกจากการได้รับสัมปทานดังกล่าว
อย่างไรก็ดี มาตรการควํ่าบาตรต่อเมียนมาเช่นนี้ แสดงออกโดยประเทศในโลกตะวันตกเท่านั้น ขณะที่การเข้าไปลงทุน การรับสัมปทาน หรือการค้าขายตามแนวชายแดนในเมียนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจีน ไทย อินเดีย และเพื่อนบ้านอาเซียน (ASEAN) อย่างสิงคโปร์ ยังคงดำเนินต่อไป หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างเมียนมาและรัสเซีย ผู้สนับสนุนอาวุธ ก็ไม่ได้ทำให้การควํ่าบาตร SAC ส่งผลกระทบแต่อย่างใด
ผศ.ดร.ลลิตา วิเคราะห์ท่าทีของรัฐบาลเมียนมาต่อมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกว่า
“ตราบใดก็ตามที่เมียนมายังสามารถค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ได้ เมียนมาก็ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาประเทศตะวันตก
“กรณีของไทย เมียนมาเชื่อว่าความมั่นคงทางพลังงานของไทยยังต้องพึ่งพิงเมียนมา ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการซื้อพลังงานจากตะวันออกกลาง ตรงนี้ทำให้เห็นได้ว่าตราบใดที่ประเทศเพื่อนบ้านยังต้องพึ่งพาทรัพยากรจากเมียนมาอยู่ ย่อมไม่มีมาตรการควํ่าบาตรจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และรัฐบาล SAC ก็จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง
“แต่หากวันหนึ่งทั้งโลกพร้อมใจกันควํ่าบาตร รวมถึงควํ่าบาตรประเทศที่ยังมีความสัมพันธ์กับเมียนมา ไม่ว่าจีนและไทย ถึงวันนั้นการกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาจึงจะเห็นผล”
การเคลื่อนย้ายฐานที่มั่นจากสิงคโปร์สู่ไทย
รายงาน The Billion Dollar Death Trade: The International Arms Networks that Enable Human Rights Violations in Myanmar โดย ทอม แอนดรูวส์ (Tom Andrews) ผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา (UN Special Rapporteur on the situation of human rights in Myanmar) คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ชี้ให้เห็นว่า เครือข่ายนักธุรกิจเมียนมาที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมา (State Administration Council: SAC) ถือเป็นนายหน้าจัดหาอาวุธยุทธภัณฑ์ อะไหล่ วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงนํ้ามันสำหรับเครื่องบินรบ ผ่านบริษัทของตนเองก่อนส่งให้ตัดมาดอว์
โดยหนึ่งในนั้นคือเครือข่ายธุรกิจในสิงคโปร์ที่ถูกใช้เป็นศูนย์กลางทางการเงินและการจัดหาอาวุธผ่านบริษัทในเครือ ทำให้ทางการสิงคโปร์ตกเป็นเป้าเพ่งเล็งจากนานาชาติ แต่อย่างไรก็ดีผู้รายงานพิเศษชี้ว่า รัฐบาลสิงคโปร์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นความเคลื่อนไหวนี้
Justice for Myanmar องค์กรเคลื่อนไหวด้านความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนเมียนมา ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อให้ดำเนินการสกัดกั้นทางการเงิน การจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ เสบียง และนํ้ามันสำหรับเครื่องบินรบด้วย พร้อมทั้งดำเนินการสืบสวนสอบสวนบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธ รวมไปถึงให้ระงับการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล SAC เพื่อหยุดยั้งการทำสงครามกลางเมือง9
ภายหลังรายงานฉบับดังกล่าวได้รับการเปิดเผยและเกิดเสียงเรียกร้องจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวเมียนมา ท่ามกลางการจับจ้องจากนานาชาติ ทางการสิงคโปร์จึงได้ตอบรับการดำเนินการดังกล่าวอย่างแข็งขัน นำไปสู่การดำเนินนโยบายไม่ส่งอาวุธให้เมียนมา ภายใต้มติสมัชชาแห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly resolution 75/287) อันเกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมา ในปี 2564 ภายหลังการรัฐประหาร 5 เดือน
ในปีงบประมาณ 2565 ธนาคารสิงคโปร์ให้บริการด้านธุรกรรมแก่รัฐบาลทหารเมียนมา มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ในการจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ ต่อมารัฐบาลสิงคโปร์ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวนตามที่รายงานฉบับนั้นรายงานออกมา ส่งผลให้การไหลเวียนของอาวุธและยุทธภัณฑ์จากบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ ผ่านไปยังเมียนมาลดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ขณะเดียวกัน การดำเนินการสอบสวนและตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทำให้การให้บริการด้านธุรกรรมแก่รัฐบาลทหารเมียนมา เหลือตํ่ากว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งการจัดซื้อที่เหลือตํ่ากว่า 20 เปอร์เซ็นต์นี้ เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เท่านั้น อีกทั้งบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่ส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ให้เมียนมาก็ลดจำนวนลงอย่างมาก จาก 81 บริษัท ในปี 2565 เหลือเพียง 6 บริษัท ในปี 2566
มาตรการของสิงคโปร์ที่เข้มข้นและแข็งขันนี้ ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมามองหาช่องทางในการจัดหาอาวุธยุทธภัณฑ์ผ่านช่องทางอื่น นั่นคือ ประเทศไทย ซึ่งไม่เคยมีนโยบายคว่ำบาตรหรือห้ามส่งอาวุธให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาที่ชัดเจนแต่อย่างใด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เมียนมา อธิบายการเคลื่อนตัวของทุนสนับสนุนอาวุธจากสิงคโปร์มายังไทยว่า
“ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุไว้ว่า กลุ่มนักธุรกิจเครือข่ายใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์ ฝากเงินรวมถึงค้าอาวุธ แต่เมื่อบริษัทเหล่านี้ถูกควํ่าบาตร ติดแบล็กลิสต์ จากการปราบปรามอย่างจริงจังของทางการสิงคโปร์ ทำให้บริษัทค้าอาวุธที่เคยจดทะเบียนในสิงคโปร์ต้องย้ายเข้ามาจดทะเบียนในไทยแทน เพื่อเลี่ยงบาลี และยังดำเนินการค้าอาวุธให้กับเมียนมาต่อไป นั่นหมายความว่า ธนาคารในประเทศไทยก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่กลับไม่มีมาตรการใดที่จะป้องกันเงินเปื้อนเลือด (blood money) ที่ไหลเข้ามาสู่ระบบของธนาคารไทย”
จากรายงานพิเศษ Banking on the Death Trade ยังพบด้วยว่า ปริมาณเงินไหลเวียนในการจัดซื้ออาวุธผ่านทางสิงคโปร์ลดลง จากมูลค่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2565 เหลือเพียงแค่ 10 ล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2566 ตรงกันข้าม การจัดซื้ออาวุธจากบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย กลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิม 60 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 120 ล้านดอลลาร์