ทำความเข้าใจ TCFD และความตื่นตัวของสถาบันการเงินของไทย

17 มกราคม 2568

‘ภาวะโลกรวน’ หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (climate change) ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วนของสังคม ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่โลกจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่าเพื่อรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ 

เมื่อเกิดสภาวะเช่นนี้ ภาคการเงินจำต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน ในฐานะผู้จัดสรรเงินทุนให้กับธุรกิจต่างๆ โดยเพิ่มการสนับสนุนไปที่ธุรกิจคาร์บอนตํ่า ลดการสนับสนุนธุรกิจคาร์บอนสูง อีกทั้งต้องส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่มุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนตํ่า

คณะทำงานมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) เป็นมาตรฐานในการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสจากภาวะโลกรวนที่ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับโลก บนความเชื่อที่ว่า การดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ TCFD จะช่วยให้สถาบันทางการเงินนำข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศมาใช้ประเมิน และช่วยตัดสินใจสนับสนุนทางการเงินที่คำนึงถึงภาวะโลกรวนได้  โดยมี 4 องค์ประกอบหลัก คือ 

 

  1. การกำกับดูแล - เปิดเผยกลไกการกำกับดูแลขององค์กรเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ

  2. กลยุทธ์ - เปิดเผยผลกระทบจากภาวะโลกรวนในปัจจุบันและอนาคตต่อการดำเนินธุรกิจ กลยุทธ์ และการวางแผนทางการเงินขององค์กร

  3. การบริหารความเสี่ยง - เปิดเผยกระบวนการที่องค์กรใช้ในการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

  4. ตัวชี้วัดและเป้าหมาย - เปิดเผยตัวชี้วัดและเป้าหมายในการประเมินและจัดการความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ

 

ในประเทศไทยนั้น คณะวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) มีข้อค้นพบว่า ธนาคารไทย ‘ตื่นตัว’ ต่อการประเมินความเสี่ยงและโอกาสทางการเงินจากภาวะโลกรวนนี้ ตามข้อเสนอแนะของ TCFD โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ได้แนะนำให้ธนาคารต่างๆ เปิดเผยข้อมูลตามข้อเสนอแนะของ TCFD ที่เป็นมาตรฐานสากล อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 

ในห้วงปี 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารไทย 6 แห่ง ได้มีการจัดทำข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลสาธารณะตามข้อเสนอแนะของ TCFD จากทั้งหมด 60 ข้อด้วยกัน โดยจำนวนการเผยแพร่ข้อมูลของธนาคารไทยทั้ง 6 แห่ง มีดังต่อไปนี้ 

 

 

นอกจากการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินตามคำแนะนำของ TCFD แล้ว ธนาคารไทย 5 จาก 6 แห่ง ยังมีความตื่นตัวในการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น อุตสาหกรรมถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น ขณะที่หลายธนาคารได้ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในส่วนการดำเนินการภายใน (ขอบเขต 1 และ 2) ภายในปี 2030 

อย่างไรก็ดี ภายใต้ความตื่นตัวต่อภาวะโลกรวนที่นำไปสู่การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ TCFD ยังคงมีข้อมูลสำคัญอีกเป็นจำนวนมากที่รอการเปิดเผยจากธนาคารไทย เช่น นโยบายค่าตอบแทน (remuneration policies), ตัวชี้วัดในการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผลกระทบทางกายภาพ และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อการให้สินเชื่อและกิจกรรมทางการเงินอื่นๆ ในห้วงระยะเวลาต่างๆ รวมถึงปริมาณและสัดส่วนของสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอนต่อสินทรัพย์ทั้งหมด เป็นต้น

สุดท้ายนี้ แนวร่วมฯ คาดหวังว่า ความตื่นตัวของธนาคารไทยในประเด็นภาวะโลกรวน จะนำไปสู่การยกระดับความรับผิดชอบต่อภาวะโลกรวนของธุรกิจที่สูงขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยื่นในระดับสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชนที่จะได้ประโยชน์จากการดำเนินการเช่นนี้มากขึ้นในอนาคต 

 


 

หากท่านสนใจติดตามประเด็นนี้ ผ่าน Facebook Live ที่เพจ Fair Finance Thailand ในวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 - 16.15 น. จากศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand Learning Center)

 

 

กดสนใจหรือเข้าร่วมเพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อกิจกรรมเริ่มต้นขึ้นได้ที่นี่: https://www.facebook.com/FairFinanceThailand?locale=th_TH 



ที่มา